สักกายทิฏฐิ - ศีลพรตปรามาส ๑


    สุรีย์   ดิฉันถามอาจารย์ก่อนก็แล้วกัน เห็นว่าเป็นเราด้วยความเห็นผิด คำว่าเห็นผิดตัวนี้ ถามว่าเป็นสักกายทิฏฐิ หรือสีลัพพตปรามาส

    สมพร ก็เป็นสักกายทิฏฐิ เห็นผิด

    สุรีย์   มันต่างกันอย่างไรคะ  ๒  ตัวนี้

    สมพร สักกายทิฏฐิ

    สุรีย์   กับสีลัพพตปรามาส

    สมพร ก็หมายความถึงประพฤติผิดด้วย  มีความเห็นผิดด้วย ทั้ง ๒ อย่าง มีความเห็นแล้วประพฤติด้วย สีลวัตร วัตร หมายถึงการประพฤติ ไม่ใช่เห็นอย่างเดียว ประพฤติด้วย  ประพฤติอย่างโค อย่างสุนัข อย่างแพะ อย่างอะไรอย่างนี่ ถ้าทิฏฐิเฉยๆก็ความเห็นอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับการประพฤติ ถ้า ๒ อย่างก็หมายว่า ตัวทิฏฐินั่นแหละทำให้ประพฤติด้วย แต่ว่าความประพฤตินั้นเป็นอีกอันหนึ่ง คือ วัตร ในตัวอย่างท่านยกไว้เยอะแยะ เช่นประพฤติอย่างโค อย่างสุนัข อย่างแพะ อะไรต่ออะไร

    สุรีย์   มีในชีวิตประจำวัน ที่แลเห็นมีบ้างไหม อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดมี แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยก็ได้ ใช่ไหมคะ ก็เป็นคนที่มีความเห็นผิดที่ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องเป็นความเห็นที่ว่ามีตัวตนจริงๆ ขณะใดที่มีความเห็นอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับจิต ทีนี้ถ้าเขาประพฤติปฏิบัติ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทิฏฐิอื่น แต่เป็นสักกายทิฏฐิ คือ ความติดข้องในความเห็นว่า มีเรา ก็จะทำให้เข้าเกิดการประพฤติปฏิบัติในทางที่จะทำให้ผิดจากหนทางที่เป็นเหตุเป็นผล

    สุรีย์   ก็เป็นสักกายทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่ทิฏฐิอื่น ถ้าไม่ใช่เป็นอุทเฉททิฏฐิ ไม่ใช่ว่าเป็นความเห็นว่าตายแล้วสูญ ไม่ใช่เป็นความเห็นว่ามีผู้สร้าง หรืออะไรๆ อย่างนั้น ขณะที่มีความเห็นว่ามีตัวมีตน เป็นเรา ขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิ ไม่ต้องพูดถึงความเห็นอื่นว่า มีผู้อื่นเป็นใหญ่หรืออะไรอย่างนั้น ถ้าเป็นความเห็นอย่างนั้นเกินจากสักกายทิฏฐิ แปลว่าเป็นทิฏฐิซึ่งเกิดมากว่าที่จะเป็นเพียงสักกายทิฏฐิ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เชื่ออย่างศาสนาอื่น หรือว่าสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่ว่ายังไม่ได้หมดสักกายทิฏฐิ มีอยู่ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเกิดทุกวัน เฉพาะในขณะที่มีความเห็นเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ว่าคนที่ยังไม่ได้ดับสักกายทิฏฐิ แล้วก็มีความประพฤติต่างๆกัน ซึ่งเราจะมองเห็นว่า บางคนเชื่อในสิ่งซึ่งงมงาย ทั้งๆที่เขาก็ไม่ได้เชื่อเรื่องอื่น แต่เขาก็ยังเชื่อในสิ่งที่งมงายได้ ไม่เป็นเหตุเป็นผล ขณะนั้นมีการประพฤติปฏิบัติอะไรหรือเปล่า เช่น สะเดาะเคราะห์ ทำกรรมไว้มากมายเหลือเกิน สะเดาะง่ายมาก หมดไปได้อย่างไร กับการที่จะปล่อยนก ๙ตัว ๙ สี หรืออะไรอย่างนี้ เขาไม่ได้นับถืออย่างอื่น แต่เขามีความเชื่ออย่างนั้น ซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผล เป็นการประพฤติปฏิบัติซึ่งไม่ถูกต้อง แล้วถ้ามีความเห็นผิด แม้เพียงเล็กๆน้อยๆ ต่อไปก็เพิ่มขึ้น ในเมื่อไม่เป็นผู้ที่มีเหตุผลตั้งแต่ต้น ต่อไปๆก็เป็นผู้ที่ไม่มีเหตุผล นก ๙ ตัว ๙ สี แล้วทำกรรมมาตั้งเยอะแยะ หมดง่ายมากเลย แล้วช่วยอะไรได้ กรรมที่ทำไว้ อาจจะเป็นชาติก่อนเคยฆ่ามารดาบิดา หรือว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ปล่อยนกนก ๙ ตัว ๙ สีหมด

    สุรีย์   อันนี้เป็นสีลัพพต

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล แล้วเชื่อได้อย่างไร เป็นการประพฤติการทำสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล

    วีระ   ผมคิดว่า อันนี้เป็นตัวอย่างที่ยกขึ้นมา เขาประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ไปตกปลาเพื่อการกุศล แล้วก็มีคนไปร่วมกันมาก ผมก็เลย คงจะเป็นสสังขาริกว่า มีการชักชวนให้ผมไปร่วม ผมก็เลยไปร่วมกับเขา แต่ไม่ได้ปลาหรอกครับ

    กฤษณา   แล้วคุณวีระมีความเชื่อปักใจไหมว่า ตกปลาการกุศลไม่บาปหรอก

    วีระ   แต่นี้เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว คิดว่ายกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ขณะนั้นผมคิดว่าคงจะไม่บาป เพราะว่าก็ไปช่วยการกุศลนี่ครับ ก็ยังมีรายการชกชิงแชมป์เปียนเพื่อการกุศลอย่างที่เขาประกาศวิทยุ  คนก็ไปดูกัน แล้วก็ไปสนุกสนานกัน แล้วในโอกาสเดียวกันก็ได้ทำบุญด้วย

    กฤษณา   ก็ไม่คิดว่าบาปเหมือนกันใช่ไหมคะ

    วีระ   ก็คงจะตู๊กันมั่ง ครับ ๒ อย่าง

    ท่านอาจารย์ คุณวีระพูดจริงๆ หรือว่าพูดให้คนอื่นคิด

    วีระ   พูดจริงๆครับอันนี้

    ท่านอาจารย์ เชื่อจริงๆหรือว่า ตกปลาไม่บาป

    วีระ   ในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้

    วีระ   ไม่ใช่เดี๋ยวนี้

    ท่านอาจารย์ ในอดีตหรือคะ เพราะเหตุว่าจริงๆแล้ว ถึงแม้ว่าเป็นชาวพุทธ สิ่งที่เราต้องระวัง ก็คือว่า เราไม่มีความเห็นผิดอื่นแน่ เรื่องฆ่าสัตว์ไม่บาป ไม่มี เรื่องที่จะไปนับถือพระผู้เป็นเจ้าที่จะบันดาลทุกอย่างก็ไม่มี แต่อย่าลืมว่ายังมีความเห็นผิดเล็กๆน้อยๆซึ่งเราจะต้องขจัด เพราะว่าถ้าเราไม่ขจัดออก ความเห็นผิดมีความโน้มเอียงซึ่งเมื่อสะสมแล้วเราจะเป็นคนที่ง่ายต่อการเห็นผิด แล้วความเห็นผิดนี่ง่ายมากเลยที่จะเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่ไม่หนักแน่นในเหตุผลจริงๆ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในเรื่องกรรมและผลของกรรม เราจะไปเชื่ออย่างอื่นอีกเยอะ ซึ่งไม่เป็นไปตามเหตุผล

    เพราะฉะนั้นชาวพุทธที่นับถือพุทธแล้ว จะต้องสำรวจว่า ยังมีอะไรอีกซึ่งเราไม่ตรง ซึ่งทำให้เราเป็นผู้ที่ไม่มั่นคงในกรรมและผลของกรรม ถ้าเชื่ออย่างอื่นเป็นความเห็นผิด ไม่เป็นไปตามความจริง


    หมายเลข 9017
    13 ก.ย. 2558