ถึงมีวสีก็เลือกปฏิสนธิไม่ได้


    พระ   เจริญพร อยากจะถามโยมอาจารย์สุจินต์ เรื่องเกี่ยวกับฌานจิตที่จะเกิดก่อนจุติ คือหมายความว่าในขณะที่จุติจิตจะเกิด ฌานจิตถ้าเกิดขึ้นแล้ว ที่ว่า วสี อยู่ในฌานหรือว่าอยู่ข้างนอก ไม่เข้าใจ

    ส.   ข้างนอกเจ้าค่ะ เพราะเหตุว่า วสี หมายความว่า ชำนาญ คล่องแคล่ว โดยศัพท์ ใช่ไหมคะอาจารย์

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ฌานครั้งแรก จะไม่มีความชำนาญ ความคล่องแคล่วเลย เพียงแต่จิตสามารถจะถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์ยิ่งกว่าอุปจารสมาธิ

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ได้ฌานจะรู้สึกว่าความต่างกันของกามาวจรจิตกับรูปาวจรจิตว่าต่างกัน เพราะเหตุว่าความแนบแน่นในอารมณ์ของกามาวจรจิต ไม่ใช่เหมือนอย่างรูปาวจรจิตซึ่งเป็นฌาน

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ฌานแล้วทุกท่านก็จะต้องมีการระลึกถึงฌานซึ่งเพิ่งเกิด เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งซึ่งแปลกใหม่ ไม่เคยประสบมาก่อน เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็ต้องมีปัจจเวกขณะวิถี คือ การพิจารณาองค์ฌานด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตต์ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ทุกครั้งที่ฌานจิตเกิดครั้งแรกก็จะมีการพิจารณาฌาน นอกจากนั้นก็เมื่อเห็นว่า ฌานจิตต่างกับกามาวจรจิตแล้ว ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญถึง ๕ อย่าง ในการที่ฌานจิตนั้นจะเกิดอีกได้ มิฉะนั้นแล้วฌานจิตก็จะไม่เกิดอีกเลย

    ความชำนาญ ๕ อย่าง คือ ความชำนาญในการนึกถึงฌาน เวลานี้ทุกคนไม่ใช่มีความชำนาญในการนึก ถึงแม้ว่าบางคนตั้งใจจะนึกสักเท่าไร บางทีก็นึกไม่ออก จะนึกถึงบ้าน เวลานี้จะนึกถึงของใช้ในบ้านเวลานี้ ให้นึก ก็ไม่รู้ว่าจะนึกถึงอะไร หรือว่านึกไม่ออก แต่ว่าผู้ที่มีความสงบมั่นคง จิตผ่องใส สามารถที่จะนึกถึงสิ่งต่างๆได้รวดเร็วโดยเฉพาะมีการชำนาญในการนึกถึงฌานจิต

    นี่เป็นประการที่ ๑ แล้วที่ใช้คำว่า ชำนาญ ให้ทราบว่า ไม่ว่าอยู่ ณ สถานที่ใด และไม่ว่าขณะไหน จึงชื่อว่าชำนาญ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ได้ฌานกับผู้ที่ได้ฌานจะต่างกันมาก แม้แต่ในความตรึกถึงสภาพของธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด อย่างเวลานี้ถ้ามีผู้ที่ได้ฌานและมีความชำนาญ ท่านอยู่ที่ไหนท่านนึกถึงลักษณะของฌานจิตได้ทันที ไม่ว่าที่ไหน และไม่วาขณะไหนด้วย นั่นจึงจะเป็นผู้ที่มีวสีในการนึก

    นอกจากนั้นยังต้องเป็นผู้ที่วสีในการเข้าฌาน คือสามารถที่จะให้ฌานจิตเกิด ที่ไหนก็ได้ ขณะไหนก็ได้ นี่ก็ต้องเป็นความชำนาญมาก นอกจากนั้นก็ยังจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะให้ฌานจิตตั้งอยู่ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ นี่ก็เป็นวสีที่ ๓

    นอกจากนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการออกจากฌาน เข้าแล้ว แล้วก็บางที่อาจจะไม่ตรงทีเดียวกับเวลาที่ออก นั่นก็แสดงว่ายังไม่ชำนาญ แต่ถ้าชำนาญจริงๆ ก็จะต้องเป็นผู้ที่ชำนาญในการออกด้วย

    เพราะฉะนั้นก็ต้องมีวสี คือ ความชำนาญถึง ๕ อย่าง คือ ความชำนาญในการพิจารณาองค์ฌาน  พิจารณาในการนึกถึงฌาน พิจารณาในการเข้าฌาน พิจารณาในการออกจากฌาน

    พระ   เจริญพร ตกลง วสี อยู่ข้างนอก นอกฌาน จะเข้าเมื่อไรก็ได้

    ส.   หมายความว่าเมื่อมีความชำนาญที่จะนึก มีความชำนาญในการเข้า ก็ต้องเข้าได้ด้วย หมายความว่า จากครั้งที่ ๑ เป็นครั้งที่ ๒ จากครั้งที่ ๒ เป็นครั้งที่ ๓ จะต้องอบรมไปจนกว่าจะชำนาญ

    พระ   เจริญพร ต่อไปอาตมาจะถามว่า ในขณะที่จุติจิตจะเกิด ถ้าสมมติว่าบุคคลนั้นมีวสีแคล่วคล่องที่จะเข้าออกฌานไหนก็ได้ ทีนี้ในขณะที่เขาจุติจิตจะเกิด คือจะกำหนดได้ไหมว่า  จะทำให้กุศลฌาน ฌานไหนเกิดเพื่อที่จะได้วิบาก อย่างนี้จะได้หรือไม่

    ส.   สำหรับก่อนจุติ ไม่มีทางเลือกเจ้าค่ะ

    พระ   ไม่มีทางเลือก ทีนี้ที่เรียกว่า วสี

    ส.   ต้องเป็นไปตามกรรม

    พระ   ตกลงเลือกไม่ได้เลย

    ส.   ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเป็นอัตตา

    พระ   คืออาตมาคิดว่า ตัววสีสามารถที่จะทำฌานไหนก็ได้ คือนึกไปถึงท่าน กาลเทวิล ได้อภิญญา๕ สมาบัติ ๘ ท่านดูตำราว่า พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ก็เกิดความเสียใจว่า ตัวเองอยู่ไม่ทัน ทีนี้อาตมาคิดว่า กาลเทวิลได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ทำไมเขาไม่กำหนดเอาว่า ขณะที่เขาจุติจิต เอาแค่พรหมโลกพอ ไม่ต้องถึงอรูปพรหม จะได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า อาตมาคิดว่าอย่างนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนี้ ก็เลยอยากจะถามโยม เจริญพร

    ส.   เลือกไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกรรม คือ แล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผล


    หมายเลข 8998
    13 ก.ย. 2558