เมตตาตัวเองได้หรือ


    ถาม   ผมคิดว่า เมตตากับเสน่หามันใกล้เคียงกัน สำหรับทำอะไรกับตัวเอง ผมคิดว่า คงไม่ใช่เมตตาแน่ ก็คงจะเป็นเสน่หากับตัวเองมากกว่า

    ท่านอาจารย์    คือจริงๆแล้ว มีหรือเปล่าในพระไตรปิฎกที่ว่า เมตตาตัวเอง คือคนนี่ชอบพูด แต่ที่นี่เวลาที่ใครจะพูดก็ตาม เราต้องพิจารณาว่า เป็นไปได้ไหม เป็นความจริงหรือเปล่า มีกล่าวไว้อย่างไร นี่เขาก็จะอ้างตอนแผ่เมตตา แต่เขาจะต้องเข้าใจจริงๆ  เวลาแผ่เมตตา บางคนไม่สามารถเมตตาทันทีได้ เพราะเขาไม่ได้สะสมมาที่จะมีเมตตา เขาต้องคิดก่อน

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องตรง เรื่องจริง เวลาที่เราฟัง แม้แต่คนพูด ก็เพิ่งเชื่อ พระไตรปิฎกกล่าวอย่างนี้ ต้องพิจารณาว่า อรรถ ความหมายจริงๆคืออะไร คือให้ตัวเองเป็นพยานนึกขึ้นได้ว่า เมตตาจะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นความที่เรารักตัวเรา แล้วเราก็ให้เขา

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องตรง เรื่องตรงที่ว่า ถึงใครจะว่าเราเมตตา แต่จริงๆขณะนั้นเรามีเมตตาแค่ไหน ระดับไหน หรือเมตตาจริงแท้หรือเปล่า แต่ถ้าสมมติว่า เมตตาจริงๆ หมายความว่าจะต้องเสมอกันหมด  ถ้ายังมีเหลื่อมล้ำสักนิดหนึ่ง มันก็ไม่ใช่เมตตาแท้ๆแล้ว ใช่ไหมคะ อย่างลูกเรา กับลูกเขา ใช่ไหมคะ ถ้าเมตตาที่แผ่กว้างจริงๆ อันนี้จะเสมอกัน

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเครื่องเตือนเราทุกกรณีให้ละเอียดขึ้น ให้รู้ว่า เมตตาแค่นี้มันพอไหม หรือมันเมตตาได้ระดับไหน แต่เมตตากับตัวเองนี่อย่าใช้เลย

    คำว่า “เมตตา” แปลว่า “มิตร” หรือ “เพื่อน” หรือ “ไมตรี” ก็จะต้องมีคนที่เราจะต้องมีไมตรีกับเขา คือ ไม่ใช่เป็นศัตรู ตรงกันข้ามกับศัตรูเลย อย่างโกรธ เราบอกว่าเราโกรธตัวเอง คล้ายๆกับมีตัวอีกตัวหนึ่งที่ทำไม่ดี แต่จริงๆแล้วไม่ใช่โกรธตัวเอง จริงๆแล้วรักตัวเอง แล้วความรักนั้นเป็นเหตุให้เราไม่พอใจ แต่ไม่พอใจ ไม่ได้หมายความว่า มีตัวอีกตัวหนึ่ง หรืออีกคนหนึ่ง มิตรคือไมตรี ต้องเป็นเพื่อนกับคนที่เราพบ แล้วเขาก็จำแนกไปเลยว่า คนที่รัก หรือคนที่ชัง หรือคนปานกลาง พวกนี้ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ต่างระดับกัน


    หมายเลข 8628
    11 ก.ย. 2558