เห็นประโยชน์ของศีล


    ถาม เมื่อกี้มี

    ผู้ฟัง ว่า ถ้าไปบวชชีพราหมณ์ หรือถือศีลที่วัด มีคนเขาถามว่า จะอยู่ในบุญประเภทไหน

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่า ศีลคืออะไร แล้วเราจะว่า เราจะรักษาศีล เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง หรือการบวชที่ใช้คำว่า “บรรพชา” หมายความถึงการสละ เรื่องของการติด เราติดกันมามากมาย ตั้งแต่เกิด วันนี้ก็ติด เมื่อเช้านี้ก็ติด อาหารอร่อยไหม ไปที่ไหนอย่างไร นี่ก็เรื่องติดหมดทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เรื่องละ ใครจะช่วย ติดกันมากมายเหลือเกิน ติดกันมาแล้วเยอะๆ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ฟังธรรม แล้วเห็นคุณ ท่านสละอาคารบ้านเรือนในครั้งพุทธกาล สละวงศาคณาญาติ สละทุกอย่างเพื่อจะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต เพราะว่าแท้ที่จริงแล้ว เราทุกคน การที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ ฟังธรรมเพื่อสละความเป็นเรา อันนี้ก่อนอื่นเลยค่ะ เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือว่ายังมีเรา หรือเป็นเรา ทั้งๆ ที่รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่อ่อนหรือแข็ง ก็เหมือนอ่อนหรือแข็งที่อื่น ก็คือแค่อ่อนหรือแข็ง แต่ก็สละไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็ยังเป็นเรา สภาพธรรมเช่นความดีใจ ความเสียใจในแสนโกฏิกัปป์ ดีใจก็คือดีใจ เสียใจก็คือเสียใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีก มีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ แต่ก็ยังเป็นเราในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นปัญญาจริงๆ ขั้นแรกสละความเป็นเรา แต่กว่าจะสละความเป็นเราได้ ลองคิดดูนะคะ สละของยังง่ายกว่า ใช่ไหมคะ ให้ใครก็ยังพอจะให้ได้ แต่สละความเป็นตัวตน หรือเป็นเรา ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นความยากของการที่สละความเป็นเรา ท่านก็เริ่มจากการสละอาคารบ้านเรือนในเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้นในครั้งนั้นพุทธบริษัทก็มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แม้ในครั้งนี้หรือครั้งต่อไปก็จะมีเพียงเท่านี้ แต่ว่ากาลสมัยผ่านมา พระองค์เห็นว่าเพศหญิงไม่เหมาะ ไม่ควรต่อการทรงเพศบรรพชิต เป็นภิกษุณี ก็ทรงวางกฎไว้ จนกระทั่งขณะนี้ไม่มีภิกษุณี เพราะว่าการบวชยากกว่าภิกษุ ถ้าศึกษาโดยวินัยแล้ว เพราะว่าเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเสื่อมเสีย ไม่ให้มีการที่พระศาสนาเศร้าหมอง

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็มีภิกษุ แล้วก็อุบาสก อุบาสิกา แต่ภิกษุมีสามเณรด้วย แทนที่จะเป็นภิกษุณี ก็เป็นภิกษุกับสามเณร แล้วก็อุบาสก อุบาสิกา

    เพราะฉะนั้นเรื่องของการถือศีล หรือมีศีล หรือจะรักษาศีล เห็นประโยชน์ของศีล ไม่ใช่เพราะอยากมีศีล คือ ผู้ที่เห็นโทษของกายที่ไม่ดี วาจาที่ไม่ดี แล้วก็เพียรที่จะเห็นประโยชน์ที่จะรักษาการงดเว้นจากคำหยาบ หรือคำพูดที่ไม่จริง มุสาวาท หรือคำพูดที่ส่อเสียด หรือคำพูดที่ไร้ประโยชน์ เพ้อเจ้อ ผู้นั้นในขณะใดที่เจตสิกชนิดหนึ่ง คือ วิรตีเจตสิกเกิดเขาจะทำหน้าที่วิรัติ บางคนเขาบอกว่า แต่ก่อนเขาเคยพูดไม่ดี แต่พอฟังธรรมแล้วอ้าปากค้าง คือ จะพูด แต่ไม่มีคำนั้นเปล่งออกไป เพราะว่าเจตสิกที่เป็นวิรตีเจตสิกเกิดขึ้นวิรัติทุจริตทางวาจา

    เพราะฉะนั้นเรื่องของศีล คือ การเว้นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรทางกาย ทางวาจา ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องให้ใครมาสรรเสริญว่า ขณะนี้เรามีศีล ๘ หรือเรามีศีล ๕ หรือมีศีลเท่าไร เพราะเป็นเรื่องของการละ


    หมายเลข 8594
    25 ก.ย. 2566