เด็กๆ - รู้จักกับปรมัตถธรรม


    ท่านอาจารย์ ธรรมเราทราบแล้วว่า หมายถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด จะมองเห็นหรือมองไม่เห็น ถ้าสิ่งนั้นมีจริง สิ่งนั้นเป็นธรรม แล้วธรรมก็เป็นรูปธรรมกับนามธรรม

    เพราะฉะนั้นธรรมมีลักษณะให้รู้  ปรม + อรรถ + ธรรม เป็นปรมัตถธรรม อรรถ คือความหมาย ถ้าสิ่งนั้นไม่มีลักษณะเฉพาะ เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำที่จะอธิบายความหมายให้เข้าใจว่า หมายความถึงอะไร แต่เพราะเหตุว่าธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นอรรถ เป็นความหมายในลักษณะนั้น เช่น กลิ่น พอพูดถึงกลิ่น เราจะนึกถึงสภาพที่เราสามารถรู้ได้ทางจมูก หอมหรือเหม็น กลิ่นดอกไม้  กลิ่นแกงส้ม กลิ่นแกงเผ็ด

    นี่คือสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เสียงดนตรี เสียงคน เสียงนก ก็มีลักษณะเฉพาะของเสียงนั้นๆ เป็นอรรถเฉพาะของธรรมนั้น ใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม” หมายความว่า ธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนๆนั้น เป็นปรม หรือปรมะ ยิ่งใหญ่ เพราะไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย เสียงจะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ให้รู้ทางตาได้ไหมคะ ให้รู้ทางจมูกได้ไหม ต้องรู้ได้ทางหู

    เพราะฉะนั้นลักษณะของเสียงโดยเฉพาะก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ต้องกระทบกับโสตปสาทเท่านั้นจึงปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยินเสียง

    นี่เป็นสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงละเอียดของสภาพธรรมนั้นๆได้เลย

    และอีกคำหนึ่ง ถ้าได้ยินคำว่า “ธรรม” และ “ปรมัตถธรรม” จะได้ยินอีกคำหนึ่ง คือ “อภิธรรม”

    เวลาที่พูดถึงพระไตรปิฎก มีพระวินัยปิฎก ๑ พระสุตตันตปิฎก ๑ พระอภิธรรมปิฎก ๑

    พระวินัยปิฎกก็เป็นเรื่องส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติของเพศบรรพชิต แต่ก็มีธรรมด้วย ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่ต้องมีพระวินัย แต่เพราะเหตุว่ามีกิเลส มีโลภะ มีโทสะ ที่ทำให้กายประพฤติในทางที่ไม่ดี วาจาประพฤติไปในทางที่ไม่ดี

    เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเพศบรรพชิตซึ่งหมายความถึงสละความไม่ดี ก็จะต้องมีระเบียบสำหรับประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ซึ่งกำจัด วินัย แปลว่า กำจัด กิเลสเครื่องเศร้าหมองที่ทำให้เกิดความประพฤติทางกาย ทางใจที่ไม่ดี ก็เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ไม่ต้องมีวินัย

    พระสุตตันตปิฎก ทรงแสดงสภาพธรรม ไม่ใช่ไม่มีธรรมในพระสูตร แต่เป็นเรื่องราวที่สนทนากับบุคคลต่างๆ ด้วยเรื่องต่างๆ มีท่านพระอานนท์ มีท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ มีท่านพระมหากัสสปะ ทรงแสดงธรรมที่พระวิหารเชตวัน ที่พระวิหารเวฬุวัน กับใคร ที่ไหน ก็มีธรรมที่ทรงแสดงกับบุคคล เป็นเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ เป็นพระสุตตันตปิฎก

    พระอภิธรรมปิฎกเป็นเรื่องของธรรมล้วนๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรมในบรรดาพระธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นความหมายเหมือนกันเลย ถ้าใครรู้จักธรรม ก็คือรู้จักปรมัตถธรรม รู้จักอภิธรรม ซึ่งต่อไปนี้ถ้าพูดถึง ๓ ปิฎก เข้าใจได้เลยใช่ไหมคะว่า ปิฎกที่ ๑ คืออะไร ปิฎกที่ ๒ คืออะไร ปิฎกที่ ๓ คืออะไร

    ปิฎกที่ ๓ ไม่มีชื่อ เรื่องราว บุคคลเลย ไม่มีท่านอนาถบิณฑิกะ ไม่มีวิสาขามหาอุบาสิกา ไม่มีพระนครสาวัตถี ไม่มีกรุงพาราณสี แต่เป็นเรื่องธรรมล้วนๆ ที่เรากล่าวถึงเมื่อกี้นี้ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ อีกอย่างหนึ่งซึ่งจริง เป็นปรมัตถธรรม คือ นิพพาน

    เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่มากเลย แค่ ๔ จิต ๑ เจตสิก ๑ เข้าใจแล้ว รูป ๑ จะเป็นกี่ประเภทก็ตาม หยาบละเอียดอย่างไร ใกล้ ไกล ภายใน ภายนอก ก็คือธรรมประเภทนั้นๆ ส่วนธรรมสุดท้าย คือ นิพพาน เป็นปรมัตถธรรมด้วย เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ว่าไม่ได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ได้ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะปรากฏกับเฉพาะปัญญาที่ได้อบรมถึงกาลที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานเท่านั้น ปัญญาระดับนี้ไม่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ แต่เป็นธรรมที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ทราบปรมัตถธรรม ๔ โดยสังเขป

    เมื่อกี้นี้ยังอยู่ที่บุญใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นบุญได้แก่จิตและเจตสิกที่ดีงาม ไม่ใช่วัตถุเลย เป็นจิต เจตสิก  แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ คือ มีรูปธรรมกับนามธรรม ขันธ์ ๕ ได้แก่ ขันธ์หนึ่งเป็นรูป ได้แก่รูปขันธ์ อีก ๔ ขันธ์เป็นนามธรรม คือ จิต เจตสิก

    เพราะฉะนั้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เรามีรูป ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ครบขันธ์ ๕ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ คนไปวัด เคยได้ยินค่ะ แต่คนที่ไม่เคยไปวัด ใหม่แน่ๆเลย ให้ทราบว่า ได้แก่จิตและเจตสิก

    เพราะฉะนั้นถ้ามีแต่จิต เรามองไม่เห็นเลย จิตจะดีจะชั่วนี่มองไม่เห็น แต่เวลาที่มีรูปด้วย เราสามารถอนุมานได้จากกายและวาจา ถ้าจิตที่ดีเกิดขึ้น กายดี วาจาดี ซึ่งบุญมีทั้งหมดถึง ๑๐ อย่าง ไม่ใช่เพียงทาน การให้อย่างเดียว


    หมายเลข 8591
    10 ก.ย. 2558