เด็กๆกับธรรม - ธรรมแบ่งเป็น ๒ ประเภท


    ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงธรรม ควรจะได้ทราบก่อนตั้งแต่ต้นว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ธรรมมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งมีจริงๆ อย่างเสียงเป็นความดังหรือความกังวานของปฐวี คือ สภาพที่แข็ง ถ้าสิ่งที่แข็งกระทบกันจะทำให้เกิดเสียง แล้วก็ดับ เสียงที่เกิดขึ้นมาไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้ จำไม่ได้ หิวไม่ได้ โกรธไม่ได้ สิ่งใดๆที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ในทางธรรมใช้คำว่า “รูป” หรือ “รูปธรรม”  เพราะว่าภาษาบาลีต้องออกเสียงคำสุดท้ายด้วย เพราะฉะนั้นเป็น รู – ปะ หรือถ้ารวมกับธรรม ก็เป็นรูปธรรม

    รูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้นเสียงเป็นบุญไม่ได้ กลิ่นเป็นบุญไม่ได้ รสเป็นบุญไม่ได้ อ่อนแข็งเป็นบุญไม่ได้ แต่มีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ในขณะนี้กำลังมีด้วย ธาตุชนิดนั้นเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้ทีนี้หมายความว่า รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น เสียง ที่จะบอกว่ามีเสียง ก็เพราะเหตุว่ามีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องได้ยินเสียง สภาพนั้นคือนามธาตุ

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรม มี ๒ ลักษณะที่ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทหนึ่งเป็นรูปธาตุ อีกประเภทเป็นนามธาตุ รูปธาตุรู้อะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น แต่นามธาตุเป็นธาตุซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น ทางตา กำลังเห็น เห็นมีจริงๆ เห็นไม่ใช่แสงสว่าง เห็นไม่ใช่สีสันวัณณะที่ปรากฏภายนอก แต่เห็น ที่ใช้นามธาตุ คือไม่ใช่รูปโดยประการใดๆทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพที่สามารถจะรู้ สามารถจะเห็น สามารถได้กลิ่น สามารถจำ สามารถคิดนึก สามารถเป็นสุขเป็นทุกข์ ต่างๆเหล่านี้เป็นนามธาตุ ต้องแยกธรรมออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ  รูปธาตุกับนามธาตุ

    เพราะฉะนั้นบุญเป็นรูปธาตุไม่ได้ แต่บุญเป็นนามธาตุ เป็นสภาพของนามธาตุที่เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ขณะนี้มีรูปไหมคะ ในห้องนี้มีรูปไหมคะ มี มีนามไหมคะ มี ถ้ามีคนตายอยู่ที่นี่ มีแต่รูป แต่นามไม่มี คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก

    เพราะฉะนั้นสภาพต่างๆเหล่านั้นแยกออกจากรูป เป็นนามธาตุทั้งหมด หิวเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม หิวเป็นนามธรรม โกรธเป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้นเราสามารถจะเข้าใจธรรมได้ ไม่ว่าในโลกนี้ ในเทวโลก ในพรหมโลก โลกไหนๆในจักรวาล ไปจนถึงพระจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ก็มีสภาพธรรมเพียง ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม จะมีอย่างอื่นอีกไหมคะนอกจากนี้ ไม่มี แต่ความหลากหลาย ความละเอียดของนามธรรมกับรูปธรรมมากจริงๆ โดยที่ว่า สำหรับนามธรรมก็มี ๒ อย่าง ไม่ใช่มีอย่างเดียว นามธรรมอย่างหนึ่งคือจิต นามธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ เจตสิก ๒ อย่างนะคะ รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เสียงเมื่อล้านปี มีไหมคะ ล้านปีก่อนมีเสียงไหมคะ รูปในอดีตเป็นรูปตลอด คือ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้นเสียงในอดีต เสียงในปัจจุบัน เสียงในอนาคตก็เป็นรูปธรรม แต่นามธาตุหรือนามธรรมก็คือจิต ๑ เจตสิก ๑

    ความต่างกันของ ๒ อย่าง ก็คือ จิต เคยได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหมคะ ขณะนี้มีจิตไหมคะ มีแน่นอน มีวิญญาณไหมคะ จิตกับวิญญาณต่างกันหรือเหมือนกัน มีคำตอบที่ถูกครั้งแรกก็คือว่า มีจิต แล้วถามว่า วิญญาณมีไหม บอกว่ามี ก็ถูกอีก แต่พอถามว่า จิตกับวิญญาณต่างกันหรือเหมือนกัน ถ้าตอบว่าต่างกัน นี่ผิด เพราะเหตุว่าคำว่า จิต หรือคำว่า วิญญาณ คำว่า มโน คำว่า มนัส คำว่า หทย เป็นชื่อหลายๆชื่อของธาตุรู้ หรือสภาพรู้นั่นเอง จะเรียกว่าจิตก็ได้ เหมือนอย่างผู้หญิง เรียกนารีได้ไหมคะ เรียกสตรีได้ไหมคะ เรียกกุมารี ได้ไหมคะ ได้ เพราะฉะนั้นจิตก็เหมือนกัน เรียกวิญญาณก็ได้ เรียกมโนก็ได้ เรียกมนัสก็ได้ หมายความถึงสภาพที่มีจริง ในขณะนี้มีจริงๆ ให้พิสูจน์ธรรมที่ทรงแสดงว่า ทรงตรัสรู้ความจริงว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    นี่คือจิต เวลาที่ทุกคนพูดเรื่องจิต เหมือนรู้ เวลาที่ทุกคนใช้คำว่า วิญญาณ ก็เหมือนรู้ แต่ความจริงยังไม่ได้รู้ถ้าไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า จิตมีจริง ขณะที่กำลังเห็นนี้เอง กำลังเป็นจิตชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่ลืมไม่ได้เลย สภาพธรรมใดๆก็ตามที่เกิดมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับทันที ไม่มีสักอย่างเดียวที่ยั่งยืนถาวร

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ขณะที่ได้ยินเป็นจิต เพราะว่าเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งในลักษณะของเสียงที่ปรากฏ เสียงมีตั้งหลายเสียง ฟังนะคะ ต่างกันใช่ไหมคะ เสียงอย่างนี้ เสียงอย่างนั้น จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะต่างๆที่ปรากฏให้รู้ นี่ตัวจิตกำลังรู้เสียงต่างๆ แต่เจตสิกมีถึง ๕๒ ชนิด ความติดข้องต้องการ หรือโลภะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ความโกรธเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ขณะที่ได้ยิน ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ชนิด อย่างน้อยที่สุด ๗ แต่ถ้าเป็นอกุศลจิต จิตที่ไม่ดี จะต้องมีเจตสิกฝ่ายไม่ดีเกิดร่วมด้วยอีก ถ้าเป็นจิตที่ดี ที่จะมาถึงคำว่า บุญ ก็จะต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย และโสภณเจตสิกมี ๒๕ ชนิด

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราศึกษาธรรม เราจะรู้จักสภาพจิต ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นเรา แต่ความจริงก็คือจิตประเภทต่างๆที่เกิดดับสืบต่อ ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะว่าถ้าไม่มีจิตเกิด ก็จะไม่มีสัตว์ที่มีชีวิต ไม่มีคน ไม่มีเทพ ไม่มีอะไรหมด ก็มีแต่เพียงรูปธรรมอย่างเดียว แต่ที่ว่าจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เพราะมีจิตเกิด และจิตก็เกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย ตายคือขณะสุดท้ายของชาตินี้ เป็นจิตประเภทซึ่งเมื่อเกิดแล้วดับ ก็จะทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้  จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย


    หมายเลข 8590
    10 ก.ย. 2558