เด็กๆกับธรรม - รู้จักพระวินัย


    ท่านอาจารย์ อย่างพระวินัยส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นเรื่องความประพฤติของพระภิกษุ เพราะว่าพระภิกษุเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรมเหมือนอย่างเราๆ แต่มีอุปนิสัยที่เคยสะสมมาที่จะอบรมเจริญปัญญาในอีกเพศหนึ่ง เพศที่บรรพชาหมายถึงสละ บรรพชา คือ สละ อุปสมบทในพระธรรมวินัย คือ สละบ้าน สละพ่อแม่ สละความสนุก ซึ่งทุกคนก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่มีการบังคับว่า ให้คนฟังทั้งหมดไปบวช หรือไปอุปสมบท ไปบรรพชา ในพระพุทธศาสนาไม่มีคำว่า “ต้อง”  หรือไม่มีคำว่า “อย่า” แต่ทรงแสดงเหตุและผลทั้งหมดให้คนฟังพิจารณาให้เป็นความเข้าใจของคนนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่า เราไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นบรรพชิตที่จะสละ ก็ไม่ต้องสละ ไปฝืนสละแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ แต่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้ทุกหนทุกแห่งทุกขณะ แม้แต่ที่นี่ ที่นี่ก็ไม่ใช่วัด ไม่ใช่เป็นที่เงียบในป่า แต่ที่ไหนที่มีการฟังให้เข้าใจธรรม ที่นั้นก็สามารถเป็นการอบรมเจริญปัญญาได้

    ชาติก่อนเคยบวชไหมคะ ไม่รู้ ลองคิดดูซิคะว่า เคยบวชไหมคะ สังสารวัฏนี่ยาวนานมาก ยาวนานจนกระทั่งมีคำกล่าวว่า ทุกคนที่อยู่ที่นี่ตรงนี้ ไม่เคยมีใครสักคนที่ไม่เคยเป็นญาติพี่น้องกัน หรือว่าไม่เคยมีความสัมพันธ์โดยสถานหนึ่งสถานใด เด็กคนนี้อาจจะเป็นแม่ของผู้ใหญ่คนนั้น หรือเป็นพ่อ หรือเป็นอะไรก็ได้ สังสารวัฏนี่ยาวนานมาก ถ้าสมมติว่าเด็กคนนี้ตายก่อน แล้วไปเกิดก็อายุมาก แล้วเด็กอีกคนก็ตายไปเกิดเป็นลูกของคนนั้น ก็เป็นเรื่องที่เรารู้ไม่ได้ แต่ให้ทราบว่า จริงๆแล้วธรรมก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องฟังทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

    สำหรับพระวินัยปิฎกสำหรับบรรพชิต เป็นการที่ทรงแสดงว่า สิ่งใดที่ควรสำหรับพระภิกษุ และสิ่งใดที่ไม่ควร เพราะเพศต่างกัน พระภิกษุจะมาอยู่บ้าน ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ เล่นเทนนิส ได้ไหมคะ ไม่ได้ นั่นไม่ใช่นิสัย ไม่ใช่อุปนิสัย พระภิกษุก็ต้องเป็นผู้ที่สงบ ผู้ที่สละ พระภิกษุจะยินดีในการกราบไหว้ของคนอื่นสมควรไหม ไม่ค่ะ สละคือสละทุกอย่าง ถ้าใครจะกราบไหว้ ก็เพราะความดีของคนนั้น แต่ไม่ใช่เราจะต้องไปสำคัญตนว่า เรามีความสำคัญ ดี พิเศษแล้วคนอื่นมายกย่อง มากราบไหว้

    นี่คือการศึกษาพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง ต่อไปก็ต้องไม่ลืมว่า เราศึกษาทั้งหมดเพื่อขัดเกลา เพื่อละทุกอย่าง แม้แต่การติดในลาภ ในยศ หรือในคำสรรเสริญ  เพราะว่าขณะนั้นตรงกันข้ามกับคำสอน เพราะว่าคำสอนสอนให้เห็นโทษของการติด ทุกอย่างที่ติดจะนำความทุกข์มาให้ ถ้าเราชอบถ้วยแก้วสวยๆ แล้วถ้วยแก้วแตกก็เป็นทุกข์ ใช่ไหมคะ เราจะชอบใครสักคน คนนั้นก็จะต้องตาย เวลาเขาตายเราเป็นทุกข์ไหมคะ เราก็เป็นทุกข์ เราชอบอาหารชนิดหนึ่งซึ่งอร่อย และวันนั้นเราไม่ได้ทานอาหารอย่างนั้น เราได้รับประทานอย่างอื่นหรือรสอื่น เราก็เป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้นทุกข์ทั้งหมด ความไม่สบายใจ ความไม่แช่มชื่น มาจากความติดข้อง ถ้าเราคลายความติดข้องลง ไม่เดือดร้อนเลย เปรี้ยวก็ได้ หวานก็ได้ เค็มก็ได้ จืดก็ได้ จะเดือดร้อนไหมคะ ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม้ว่าทุกคนติดในสิ่งที่เห็น ต้องเห็นสิ่งที่สวยๆ ในเสียงที่ได้ยิน ต้องได้ยินเสียงเพราะๆ ในกลิ่น ก็ต้องเป็นกลิ่นที่หอม ในรส ก็ต้องเป็นรสที่อร่อย ในสิ่งที่กระทบสัมผัสก็ต้องสบาย แม้แต่เก้าอี้ ก็ต้องสบาย เก้าอี้ไม่สบาย นั่งเดี๋ยวก็เป็นทุกข์แล้ว เจ็บตรงนั้นตรงนี้ ใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดที่จะเป็นความทุกข์มาจากความติดข้อง พระภิกษุที่มีอัธยาศัย เห็นโทษของกิเลส ความติดข้อง ท่านจึงสามารถสละ เพราะว่าตรงกันข้ามกัน โลภะ คือ ความติด อโลภะ คือ ความไม่ติด ตั้งแต่ก่อนมาฟังธรรม เราติดอะไรเยอะแยะเลย  แล้วพอฟังแล้วลองคิดดูว่า เราสามารถละความไม่ติดสักนิดหนึ่งได้ไหม ไม่ต้องหมด ละหมด ไม่มีใครละได้ แต่นิดหนึ่ง ทางตานิดหนึ่ง ทางหูนิดหนึ่ง ทางจมูกนิดหนึ่ง ทางลิ้นนิดหนึ่ง ทางกายนิดหนึ่ง ค่อยๆเป็นค่อยๆไป เราก็เป็นคนที่ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้นต้องทราบจริงๆว่า พระวินัยสำหรับบรรพชิต แต่ถ้าสิ่งไหนดี เราทำได้ไหมคะ แม้เราไม่บวช หรือทำไม่ได้เพราะเราไม่ใช่พระ ลองคิดค่ะ ไม่จำเป็น ใช่ไหมคะ อะไรที่ดีแล้วสากล ไม่ใช่เฉพาะคนไทย ไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธ ไม่ใช่เฉพาะเด็ก ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่วัยไหน แต่สิ่งที่ดีเป็นสภาพธรรมที่ดี ดีจะต้องเป็นดีตลอด ไม่ว่าที่ไหน

    เพราะฉะนั้นถ้าท่านสอนเรื่องการรับประทานอาหาร ในพระไตรปิฎกก็มี ไม่มีการเคี้ยวดังจั๊บๆ อย่างจั๊บๆดีไหมคะ เวลาเคี้ยวไม่ปิดปาก มีเสียงแน่นอนเลย คนนี้จั๊บ คนโน้นจั๊บ ดังสนั่น แล้วก็ไม่งามด้วย แค่นี้พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่า ที่จริงแล้วกายอย่างไหนสมควร วาจาอย่างไหนสมควร

    เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นว่า สิ่งไหนเป็นประโยชน์ ไม่ต้องไปห่วงเลยว่า สำหรับบรรพชิตเราทำได้ และไม่จำเป็นต้องไปนับด้วยว่า เรามีศีลเหมือนบรรพชิตหรือเพิ่มขึ้นมากี่ข้อ เพราะเป็นเรื่องละ เป็นเรื่องเดียวเท่านั้นค่ะ คือเรื่องละทั้งหมด เพราะถ้าเราศึกษาถึงปรมัตถ์เราจะทราบว่า เป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดแล้วดับ สิ่งที่เกิดมาแล้วดับ กลับคืนมาไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ากระทบแข็งตรงนี้ มีเฉพาะตรงนี้ที่ปรากฏ พอได้ยิน แข็งตรงนี้ก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้นจะไม่มีอะไรเหลือ จริงๆแล้วไม่เหลืออะไรเลย เพราะฉะนั้นสมควรไหมที่จะติด แต่ว่าต้องติด เพราะว่าปัญญาไม่ถึงระดับที่จะละ

    นี่เป็นเรื่องที่ไม่จำกัด พระไตรปิฎกนี่อ่านได้ ศึกษาได้ ใครก็ตามที่มีเวลา และอยากอ่านพระวินัยปิฎก อ่านเลย เป็นภาษาธรรมดา แล้วเป็นเรื่องของการประพฤติทางกาย ทางวาจา แต่ถ้าไม่เข้าใจต้องถามผู้ที่รู้ เพราะว่าพระวินัยปิฎกเป็นเรื่องของกาย วาจาก็จริง แต่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นความลุ่มลึกของพระวินัยโดยกิจ  กิจก็คือการประพฤติของกาย ของวาจา

    ชอบฟังเรื่องสนุกๆไหมคะ ชอบ นั่นคือโลภะ มีจริงๆ แล้วเราก็ชอบเรื่องสนุก ที่เขาแต่งให้เราสนุก เราคิดเองไม่ออก ก็ต้องไปอาศัยทีวีบ้าง หนังสือบ้าง แล้วก็เพลิดเพลินไปกับเรื่องที่สนุกต่างๆ แล้วเราจะสังเกตได้แม้กาย วาจาของคนที่อยู่ในจอโทรทัศน์ เราก็เห็นได้ ความประพฤติอย่างไหนถูกหรือไม่ถูก ดีหรือไม่ดี

    เพราะฉะนั้นถ้าเราอ่านพระวินัยปิฎก เราจะเป็นคนที่ละเอียดขึ้นในเรื่องความลุ่มลึกของกิจ ของกาย ของวาจา นี่เป็นความละเอียดความลุ่มลึกของปิฎกหนึ่งซึ่งละเอียดมาก


    หมายเลข 8583
    10 ก.ย. 2558