ใส่ใจในความดีหรือความชั่ว


    ถ้าศึกษาสภาพธรรมก็จะรู้ว่า มีเจตสิกหนึ่งชื่อว่า “มนสิการเจตสิก” ถ้าแปลโดยตรงก็คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย แต่คำแปลโดยตรงสำหรับภาษาหนึ่ง ถ้าเป็นผู้เข้าใจภาษาบาลี เป็นชาวมคธ ง่ายเลย ไม่เหมือนเรา ที่จะต้องแปลแล้วหมายความว่าอะไร เพราะเราไม่คุ้นเคยกับสำนวน ภาษา รูปของประโยคอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะเข้าใจในภาษาไทยง่ายๆ คือ การใส่ใจ ซึ่งขณะนี้ทุกคนจะต้องมีมนสิการเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ เห็นสิ่งที่ปรากฏด้วยกัน ใส่ใจในอะไร บางคนใส่ใจในสีสัน เปรียบเทียบได้อย่างพวกนักวาดรูป ช่างเขียน เขาก็สะสมมาที่จะใส่ใจในสีต่างๆ มีความรอบรู้ในเรื่องการที่จะให้รูปภาพนั้นออกมาเป็นอย่างไร แต่บางคนก็ใส่ใจในการปลูก เห็นแล้วชอบใจ อยากจะรู้ว่า จะปลูกวิธีไหน เป็นต้น

    เพราะฉะนั้นความใส่ใจของแต่ละคนก็ต่างๆ กันไปฉันใด แม้แต่เพียงเกิดมาแล้ว ความใส่ใจในทางดี และในทางชั่วก็ต่างกัน ตามการสะสม คนที่ใส่ใจในความดี พอได้ยินคำว่า “ธรรม” ก็รู้ว่า น่าสนใจ ควรที่จะได้เข้าใจ ไม่ใช่ผ่านไปแล้วไปใส่ใจในอย่างอื่น

    นี่แสดงให้เห็นว่า กว่าจะถึงกาลที่แม้ศรัทธาจะเกิดในการเห็นประโยชน์ของการฟัง ก็ไม่ใช่จะเป็นไปตามความต้องการได้ แต่ต้องอาศัยการปรุงแต่งของธรรมที่เป็นสังขารขันธ์อย่างเงียบๆ แม้ในขณะนี้ ก็ทำหน้าที่ของเจตสิกแต่ละเจตสิกนั้นๆ เป็นสังขารขันธ์แล้ว ที่จะทำให้มีความศรัทธาเพิ่มขึ้น มีความสนใจที่จะเข้าใจธรรม ไม่ใช่เพียงได้ยินคำ แล้วก็จำคำ แล้วก็คิดว่าเข้าใจแล้ว

    เพราะฉะนั้นแม้แต่การฟัง ยังต้องเป็นผู้ละเอียดในการใส่ใจในคำที่ได้ยิน เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ แต่เราได้ยินเพียงชื่อ เหมือนสิ่งต่างๆ เหล่านั้นกำลังอยู่ในความมืด ไม่ปรากฏเลยสักอย่าง เวทนา ความรู้สึกก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่ก็เกิดดับเปลี่ยนแปลง ไม่ได้รู้เฉพาะสภาพธรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไป แล้วก็มีเวทนา ความรู้สึกอย่างอื่น ก็เกิดสืบต่อสลับไป จนกว่าจะได้ฟังเรื่องราว และกำลังคิดถึงสิ่งที่มีจริง แต่ถ้าฟังบ่อยๆ มีการใส่ใจที่ถูกต้อง ที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็จะต้องเป็นผู้ฟังด้วยดี และสามารถได้ประโยชน์จากการฟัง

    เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่ละหนึ่งๆ จริงๆ เป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งแม้ขณะนี้มีกี่คน ก็เป็นจิตแต่ละหนึ่ง ซึ่งหลากหลายต่างกัน และในจิตแต่ละหนึ่ง แต่ละขณะที่เราเข้าใจว่า เป็นคนหนึ่งๆ นั้น ก็ต่างกันไปตามการสะสม

    ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด แต่ให้เข้าใจว่า เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ลืมว่าเป็นธรรม เมื่อมีความค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ คลายการไม่รู้ว่าเป็นธรรม และเมื่อมีความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏละเอียดขึ้น ความเข้าใจว่าเป็นธรรม ก็ต้องเพิ่มขึ้น


    หมายเลข 8526
    18 ก.พ. 2567