สังคหวัตถุ ๔


    ศุกล ปกติแล้วเมื่อพูดถึงกุศล ก็มักจะมุ่งไปในเรื่องของวัตถุทานเป็นสำคัญ อย่างกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุทาน กุศลอย่างอื่นที่พอจะเป็นการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ คิดว่าน่าจะมีธรรมส่วนอื่นด้วย สังคหวัตถุ ๔ ซึ่งเป็นกุศลทั้ง ๔ ประการ ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบายครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ต้องสนทนาธรรม ถ้าจะเป็นเรื่องสังคหวัตถุ ก็ต้องสนทนาเรื่องสังคหวัตถุ ต้องแปลคำนี้ แล้วต้องอธิบายว่าคืออะไร ไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่มีใครเข้าใจ

    “สังคหะ” ก็คงจะเหมือนกับคำว่า “สงเคราะห์” ที่เราใช้ในภาษาไทย “วัตถุ” ในภาษาบาลีใช้คำนี้บ่อยๆ เป็นเรื่อง หรือเป็นสิ่ง หรือเป็นหัวข้อ หรือเป็นธรรมใดๆ ก็ตาม จะใช้คำว่า วัตถุ

    เพราะฉะนั้นสังคหวัตถุก็เป็นธรรมที่สงเคราะห์หรือช่วยที่จะให้ทุกคนมีความสุขในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็มี ๔ อย่าง ได้แก่ ทาน การให้ ๑ ปิยวาจา คำพูดที่น่าฟัง ๑ อัตถจริยา การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๑ สมานัตตตา การมีตนเสมอ ๑

    ๔ อย่างนี้ก็คงจะทำให้เรามีความสุขได้จริงๆ ถ้าเราเป็นผู้ที่มีสังคหวัตถุ และคนอื่นที่ได้รับสังคหวัตถุจากเรา เช่น ทาน การให้ การให้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ให้ได้ทั้งหมดเลย เป็นสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ เป็นวิชาความรู้ก็ได้ เป็นคำแนะนำก็ได้ ขณะใดที่มีจิตใจเป็นกุศล แล้วก็ให้สิ่งที่ตนสามารถจะให้กับคนอื่นได้ ถ้าเป็นคนที่มีความสามารถ ก็สามารถสอนหรือถ่ายทอดความรู้นั้นให้คนอื่น ขณะนั้นก็เท่ากับให้สิ่งที่เป็นประโยชน์เหมือนกัน แม้จะไม่ใช่วัตถุทาน แต่การให้ความรู้ความสามารถกับคนอื่น ก็เท่ากับว่าเราสละสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้คนอื่น แล้วคนที่ได้รับก็จะต้องมีความดีใจมาก เพราะฉะนั้นไม่ใช่การหวงแหนความรู้ อย่างในสมัยก่อน พอใครทำอะไรเก่งก็ไม่ยอมบอกใครเลย ก็คิดว่าคนอื่นจะทำ อาจจะเป็นอาชีพหรืออะไรก็ได้ แต่จริงๆ แล้วให้ไปเถอะค่ะ เพราะเหตุว่าใครจะได้รับอะไรในชีวิตนั้นก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ได้ทำแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเราไปบันดาลให้ แต่ต้องอาศัยกรรมของเขาที่ได้ทำนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นสำหรับในเรื่องของทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ มีข้อสงสัยไหมคะ ให้ได้ทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์ วัตถุ เสื้อผ้า อาหาร ความรู้ ความสามารถที่จะช่วยให้คนอื่นได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น เป็นสิ่งที่ดีทั้งผู้ให้ และผู้รับ

    สังคหวัตถุที่ ๒ คือ ปิยวาจา คำพูดที่น่าฟัง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก คำพูดนี่ อย่างที่โบราณว่า ปากเป็นเอก เลขยังเป็นรอง คือ เป็นโท

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความสุขของเราในวันหนึ่งๆ จะขึ้นอยู่กับคำที่เราได้ยินได้ฟังมาก ถ้าเราได้ยินคำที่น่าฟัง ทำให้เรามีกำลังใจ ทำให้เรารู้สึกสบาย แล้วอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าบางคนอาจจะมีความท้อแท้ด้วยโรคภัย หรืออาจจะมีความท้อแท้ในเรื่องปัญหาชีวิต เรื่องความน่าเบื่อหน่ายต่างๆ เศรษฐกิจ รถติด อะไรก็ตามแต่ ก็เป็นความท้อแท้ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราสามารถมีปิยวาจา คือ คำที่ทำให้คนอื่นมีกำลังใจ สบายใจขึ้น อันนั้นก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์

    เพราะฉะนั้นถ้าเราเคยเป็นคนที่พูดไม่น่าฟัง และบางคนอาจจะรู้สึกตัว แต่ว่าช้าไปแล้ว เพราะว่าติดนิสัย เคยใช้คำพูดอย่างนั้นบ่อยๆ แต่ถ้าฟังถึงประโยชน์ของปิยวาจา เราก็เห็นจริงว่า แทนที่เราจะพูดอย่างนั้น เราจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ และประโยชน์ก็มีมากกว่าด้วย คือ ขณะนั้นจิตใจของเราก็เป็นกุศล แล้วคนฟังก็สบาย มีคำพูดที่ฟังกันสบายทั้งวัน ก็คงจะดีกว่าได้ยินคำที่ฟังแล้วไม่สบายใจ

    เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นสิ่งที่สงเคราะห์ให้เราอยู่ด้วยความสุขในวันหนึ่งๆ

    สังคหวัตถุที่ ๓ ก็คือ อัตถจริยา การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือคนอื่นนั่นเอง เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็มีน้ำใจ ที่โต๊ะอาหาร ยื่นอาหารให้ รินน้ำให้ ยกข้าวให้ หรืออะไรก็ตามแต่ เห็นใครทำอะไร ของตก เก็บให้เลย นั่นก็คือการกระทำสิ่งที่มีประโยชน์

    นี่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราประพฤติในชีวิตประจำวันที่เป็นประโยชน์นั้นมี ถ้าเรารู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตแล้วถ้าใครประพฤติอย่างนั้นกับเรา เราก็ชอบ และในขณะเดียวกัน ถ้าเราสามารถจะประพฤติตนเป็นประโยชน์ เพราะว่าชีวิตวันหนึ่งๆ ก็ล่วงไปทีละขณะๆ จริงๆ เรียกกลับคืนมาไม่ได้เลย แต่เราได้รับประโยชน์อะไรจากชีวิตขณะหนึ่งที่ล่วงไปแล้ว

    นี่แสดงให้เห็นว่า เราเสียเวลากับชีวิตที่เป็นอยู่ โดยไม่ได้อะไรเลยมาก ขณะหนึ่งก็ผ่านไป ขณะหนึ่งก็ผ่านไป ขณะหนึ่งก็ผ่านไป ได้อะไรจากแต่ละขณะที่ผ่านไป ถ้าเป็นสิ่งที่ดีเป็นกุศล เป็นประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าขัดเกลาจิตใจของเราให้เบาบางจากการเป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นคนโลภมาก เป็นคนโกรธมาก มาเป็นผู้ที่สามารถเสียสละประโยชน์ของเราเองด้วยการช่วยเหลือคนอื่น

    นี่ก็เป็นอัตถจริยา

    ประการสุดท้าย ก็คือ สมานัตตตา การมีตนเสมอ การมีตนเสมอที่นี่มักจะมีปัญหาเสมอ ว่าจะเสมอกันได้อย่างไร มีลูกจ้างกับนายจ้าง มีพี่กับน้อง มีพ่อกับแม่บ้าง มีฐานะตำแหน่งในราชการต่างๆ กันบ้าง หรือคนในบ้านของเราเองก็มีผู้รับใช้ช่วยเหลือบ้าง และจะเสมอกันได้อย่างไร แต่ตามความจริง การเสมอที่นี่ ควรจะเป็นเสมอในคุณธรรม ไม่ใช่ในสิ่งที่เรามองจากวัตถุภายนอก แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราเป็นผู้ที่เข้าใจทุกคน เหมือนกับที่เราเข้าใจเราเองว่า เราต้องการมีความสุข และไม่ชอบมีความทุกข์ คนอื่นต้องเหมือนกันหมดเลยในบ้าน ไม่มีใครต้องการความทุกข์

    เพราะฉะนั้นเราเกิดมาอาจจะต่างกันในชาตินี้ โดยสภาพฐานะ ความเป็นอยู่ หรือโดยความรู้ โดยชาติตระกูล แต่จริงๆ แล้วทุกคนมีใจที่เหมือนกัน คือ มีโลภะ ก็โลภะชนิดเดียวกัน ชอบในในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่กระทบสัมผัส มีโทสะ มีความขุ่นเคืองใจก็เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นจะว่าไปแล้วไม่ต่างกัน นอกจากความคิดของเราที่ถือว่า สิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่นถือว่านายจ้าง ลูกจ้างอย่างนี้เป็นต้น แต่ตามความจริงถ้าเราเข้าใจชีวิตแล้ว ทุกคนเหมือนกัน เท่ากัน โลภะก็เหมือนกัน โทสะก็เหมือนกัน สุขก็เหมือนกัน ทุกข์ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เรามีใจเสมอ ไม่มีการยกตนหรือข่มคนอื่น หรือดูหมิ่นดูถูกใครเลย และถ้าเราจะสามารถเข้าใจใครได้ด้วยความจริงใจ มีความเป็นมิตร มีตนเสมอจริงๆ ไม่มีการสูงต่ำในใจ อย่างนั้นก็จะทำให้คนที่อยู่ใกล้เรามีความสุข แน่นอนที่สุด คือ เขาทำงานให้เราได้ด้วยความรักเรา แล้วเราก็ไม่ใช่ถือว่าเราทำงานเพราะเขาได้เงินจากเรา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นคนที่เกิดมาร่วมกัน และมีสุขทุกข์ร่วมกัน อันนี้ก็คือสังคหวัตถุ


    หมายเลข 8105
    13 ก.พ. 2567