อยากได้ปัญญาก็เป็นโลภะ


    ผู้ฟัง เรื่องโลภะที่ท่านอาจารย์ว่า มี shade คือ เข้ม ไปจนกระทั่งถึงจางไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ทุกอย่างค่ะ ไม่ว่าโทสะก็เหมือนกัน ตั้งแต่จางจนกระทั่งถึงเข้ม

    ผู้ฟัง ทีนี้อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า เมื่อกี้นี้ว่า “เมื่อคืนนี้วันศุกร์” หวังอะไรไหม อาจจะไม่หวังวันศุกร์ แต่เลยไปถึงวันเสาร์ คือเหลืออีกวันเดียวที่ได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์ครึ่งชั่วโมง อีกวันเดียวคือวันเสาร์ที่จะได้ฟังเต็มชั่วโมง แล้ว อันนี้ก็คงจะเป็นโลภะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่นะคะ คือถ้าเป็นไปในเรื่องของกุศล แล้วจิตใจเบาสว่าง ไม่ติดข้อง ต้องไม่ติดข้องด้วย ถึงจะเป็นกุศล ถ้าติดข้องแม้นิดหน่อย ขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่อกุศลที่เบาบาง ที่จาง อย่างโลภะท่านใช้คำว่า “สมโลภะ” คือ ธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน ระดับยังไม่สูงจนกระทั่งมองเห็น แต่ถ้าระดับที่ผิดจากปกติ ท่านใช้คำว่า “วิสมโลภะ” แสดงให้เห็นระดับที่เข้มขึ้น

    ผู้ฟัง ได้ฟังมาถึงตรงนี้ก็เลยข้องใจอยู่นิดหนึ่งที่อาจารย์ว่า เกี่ยวข้องหรืออยากได้

    ท่านอาจารย์ ติดข้อง

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งมาฟังอาจารย์ฟังบรรยาย อยากได้ปัญญา อันนี้ก็ยังถือว่าติดข้อง กลายเป็นอกุศลจิต เรียนธรรมเพื่อให้ได้ปัญญา ทำไมยังจะเป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่อกุศล คือ โลภะไม่สามารถติดข้องได้ หรือเป็นอารมณ์ได้ มีอยู่ ๙ อย่าง เรียกว่า นวโลกุตตรธรรม คือ นิพพาน โลภะไม่สามารถต้องการนิพพานได้เลย ไม่มีโอกาสที่จะเฉียดใกล้นิพพานได้ เพราะว่าเป็นลักษณะที่ตรงกันข้าม และผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมมีนิพพานเป็นอารมณ์เป็นพระอริยบุคคล คือ โลกุตตรจิต ๘ ประเภท คือ โสตาปัตติมัคคจิต โสตาปัตติผลจิตของพระโสดาบัน สกทาคามิมัคคจิต สกทาคามิผลจิตของพระสกทาคามีบุคคล อนาคามิมัคคจิต อนาคามิผลจิต เป็นจิตของพระอนาคามีบุคคล อรหัตตมัคคจิต อรหัตตผลจิต เป็นจิตของพระอรหันต์

    นี่แสดงให้เห็นว่า แม้พระอริยบุคคลที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ยังมีกุศลจิต และอกุศลจิต แต่ขณะใดที่กำลังประจักษ์แจ้งนิพพาน ขณะนั้นเป็นโลกุตตรจิต เป็นจิตที่เหนือระดับของโลก เพราะว่าโลกเกิดดับ แต่นิพพานไม่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้นจิตที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เป็นจิตที่พ้นสภาพที่รู้สิ่งที่เกิดดับ โลภะไม่มีโอกาสจะมีนวโลกุตตรธรรม ๙ เป็นอารมณ์ นอกจากนั้น แล้วทุกอย่างเป็นอารมณ์ของโลภะได้ เพราะว่าเกิดดับเร็วมาก ขณะที่คิดว่า อยากจะบวช บางคนก็คร่ำครวญเหลือเกินว่าอยากจะบวช กับขณะที่บวช ไม่เหมือนกัน หรือขณะที่อยากจะให้ทาน กับขณะที่ตั้งใจว่า พรุ่งนี้จะให้ทาน ก็ผิดกัน แล้ว ใช่ไหมคะ เรามีความตั้งใจ มีกุศลเจตนา พรุ่งนี้จะใส่บาตร ไม่ต้องมีความอยากอะไรเลย พรุ่งนี้จะใส่บาตรเป็นความตั้งใจ แล้ว ไม่ใช่อยากจะใส่บาตร ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไรจะใส่ เพียงแต่อยากอยู่นั่นแหละ บางคนก็อยากจะใส่ๆ แต่ยังไม่มีเวลา แต่ก็อยากจะใส่ แต่คนที่พรุ่งนี้จะใส่ ไปจัดซื้อหามา ขณะนั้นเป็นกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นอยากนิดเดียว เป็นความติดข้อง และเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งทุกข์ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ลักษณะของกุศลเป็นสภาพที่เบา ไม่มีทุกข์เลย เพราะฉะนั้นนี่เป็นลักษณะที่ต่างกันของโลภะซึ่งเป็นอกุศล กับสภาพที่เป็นกุศลจิต ใกล้ชิดกันมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอารมณ์ของโลภะได้ ขณะที่เรากำลังฟังธรรม แล้วพิจารณาธรรม กำลังเป็นปัญญา ไม่ได้อยาก ขณะที่กำลังมีปัญญา มีความเข้าใจ ไม่ได้อยากเลย แต่ถ้าอยากจะมีปัญญา มา แล้วตัวอยาก แสดงให้เห็นว่า ทำไมก็ไม่ฟังเสียเลย ทำไมก็ไม่พิจารณาเสียเลย เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเสียเลย


    หมายเลข 8025
    9 ม.ค. 2567