ธรรมปฏิบัติกิจของธรรม ๓


    มีสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งภาษาไทยเราก็ใช้บ่อย คือคำว่า “สติ” คงไม่มีใครไม่ใช้คำนี้ แต่ว่าใช้ผิดอย่างเคย คือ อะไรๆ ก็ต้องผิด เพราะเหตุว่าถ้าไม่เรียนจริงๆ ตามพระพุทธศาสนา แล้ว เราก็แปลความหมายเอาเอง อย่างบางคนเขาบอกว่า เดินข้ามถนน แล้วรถไม่ชน ก็มีสติ หรือปอกผลไม้ มีดไม่บาดก็มีสติ แต่ตามความเป็นจริง แล้ว สติจริงๆ ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี เป็นสภาพธรรมที่มีการระลึกได้ ที่เป็นไปในทางกุศลทั้งหมด อย่างวันนี้มีใครคิดให้ทานบ้างหรือยัง

    ทานที่นี่ ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นวัตถุมโหฬารใหญ่โต แม้แต่เพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ให้เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น อาจจะเป็นคนที่ไม่มีกระดาษเช็ดมือ แล้วเรามี เราให้ ขณะนั้นก็เป็นทาน เพราะเหตุว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์แก่ผู้รับ แล้วเราก็มีจิตที่ไม่เห็นแก่ตัว คือไม่ลำบากที่จะให้คนนั้นเลย มีความเป็นเพื่อน แล้วก็มีการช่วย มีการให้สิ่งนั้นไป ขณะนั้นก็เป็นสภาพของจิตชนิดหนึ่งซึ่งดี ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย จึงเป็นไปในการให้ ถ้าคนไม่มีสติเกิด เห็นคนที่กำลังต้องการกระดาษ แล้วตัวเองก็มี แล้วก็อยู่ในกระเป๋า ก็ไม่คิดที่จะเปิดกระเป๋า แล้วหยิบให้ ขณะนั้นก็เป็นธรรมหมด เป็นความตระหนี่ เป็นความเกียจคร้าน เป็นฝ่ายไม่ดี แต่ถ้าธรรมฝ่ายดี คือ สติ มีการระลึกที่จะเป็นไปในการช่วยเหลือ ในการให้ ขณะนั้นต้องเป็นธรรมฝ่ายดี

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราที่ปฏิบัติสมถะ ไม่ใช่เราที่ปฏิบัติวิปัสสนา แต่เป็นสติ การระลึกได้ที่จะเจริญกุศล และก็ไม่ใช่กุศลเพียงขั้นเล็กๆ น้อยๆ ทาน ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการทำให้จิตของเราสงบจากอกุศลทุกอย่าง แล้วก็เพิ่มความมั่นคงในการสงบขึ้น นั่นถึงจะเป็นสมถภาวนา แล้วสภาพธรรมหลายอย่างซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ช่วยกันเกิดขึ้นปฏิบัติกิจ ไม่ใช่มีความเป็นตัวตนว่าอยากจะนั่งให้สงบ หรือเครียด แล้วก็อยากจะไม่เครียด แล้วก็ไปทำอะไรขึ้นมา แล้วก็คิดว่าขณะนั้นเป็นสมถะ ไม่ใช่ค่ะ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะได้ยินคำหนึ่งคำใด ขอให้มีความเข้าใจถูกจริงๆ ในคำนั้น ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเรา

    นั่นเป็นการเริ่มต้นของปัญญา ซึ่งเกิดจากความเข้าใจถูกต้องทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น แล้วถ้าปราศจากปัญญา อย่าปฏิบัติอะไรทั้งหมด สมถะก็ไม่ได้ วิปัสสนาก็ไม่ได้ ผิดหมด ต้องเป็นปัญญาของเราเองซึ่งค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย และจะเห็นประโยชน์ของปัญญาเพิ่มขึ้น


    หมายเลข 7964
    9 ม.ค. 2567