ธรรมปฏิบัติกิจของธรรม ๑


    ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติก่อน คือ ในภาษาไทย เราใช้คำว่า “ปฏิบัติ” หมายความถึงการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างสมมติว่านั่งอยู่อย่างนี้ บางคนก็อาจจะคิดว่า ไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติก็คือ “ทำ” ในภาษาไทย เพราะฉะนั้นบางคนก็คิดว่า ต้องทำหรือไปทำ

    แต่ว่าตามความเป็นจริง แล้ว สภาพธรรมทุกอย่างมีกิจการงานหน้าที่ของสภาพธรรมนั้น เช่น โลภะ ความต้องการเกิดขึ้นขณะใด เป็นสภาพที่ติดข้อง ไม่ยอมสละ โทสะเกิดขึ้นขณะใด จิตจะกระด้าง และมีความขุ่นเคือง ประทุษร้าย เบียดเบียน นั่นเป็นกิจการงานของสภาพธรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า สิ่งที่เราเคยยึดถือว่า เป็นเราทั้งหมด เป็นธรรมแต่ละอย่าง อันนี้เป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่เคยคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ก็คือทรงแสดงเรื่องจริงซึ่งมีอยู่แก่ทุกคน และสิ่งต่างๆ ที่มี ที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเรา แท้ที่จริงก็เป็นธรรม

    ถ้าเข้าใจธรรม แล้วก็จะรู้ว่า ตาก็เป็นธรรม หู จมูก ลิ้น กาย ความคิด ความสุข ความทุกข์ ความริษยา ความมานะ ความสำคัญตน ความเกียจคร้าน ความง่วงนอน ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม คือ ทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งทุกคนมี แต่ว่าไม่เคยเข้าใจ แล้วก็มียึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็เลยมีความคิดว่า เราทำหรือว่าเราปฏิบัติ แต่แท้ที่จริง แล้ว ธรรมนั่นเองปฏิบัติกิจของธรรมนั้นๆ อย่างเวลาที่เมตตาเกิด เมตตา คือ ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี ความปรารถนาดี ถ้าเราเป็นเพื่อนกับใคร จะสังเกตได้เลยว่า เราคิดถึงแต่จะให้ประโยชน์กับเขา ไม่เคยคิดที่จะเบียดเบียนทำร้ายเลย นั่นคือลักษณะของเพื่อนจริงๆ ซึ่งความจริง แล้วก็เป็นสภาพของธรรมชนิดหนึ่ง คือ เมตตา ในภาษาบาลี ซึ่งภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า “มิตร” หรือ “เพื่อน”

    เพราะฉะนั้นเวลาไหนที่เราเกิดหวังดีต่อใคร ให้ทราบว่า สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นกำลังทำกิจหวังดี แต่เวลาที่โกรธ ทั้งๆ ที่เราบอกว่าคนนี้เป็นเพื่อนเรา แต่ลองคิดดูว่า เราเคยโกรธเพื่อนคนนั้นไหม ทั้งๆ ที่เขาเป็นเพื่อนเรา แต่เราก็ยังเคยโกรธเขา

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ลักษณะสภาพธรรมที่โกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ก็ทำกิจของธรรม คือ ไม่ชอบใจเลยในการกระทำของคนนั้น ในเรื่องนั้น

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่า ธรรมปฏิบัติกิจของธรรม ไม่ใช่มีเราซึ่งเป็นตัวตนที่จะทำ


    หมายเลข 7962
    9 ม.ค. 2567