พระอรหันต์มีทุกขเวทนาหรือไม่ ถ้ามีจะต่างจากคนธรรมดาอย่างไร


    ส.   มีข้อสงสัยไหมคะ

    ถาม   ขอเรียนถามสักอย่าง ทุกขเวทนาของพระอรหันต์มีหรือเปล่า

    ส.   มีค่ะ

    ผู้ฟัง    มีแล้ว ต่างกับคนธรรมดาอย่างไร

    ส.   “ทุกขเวทนา” หมายถึงความรู้สึกไม่สบายกาย โดยนัยของเวทนา ๕ ซึ่งแยกโดยอินทรีย์ ๕ คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑

    พระอรหันต์มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน จะต้องมีจิต เจตสิก รูปเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าวิบากจิตย่อมเกิดเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย แต่เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้น มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    สำหรับปุถุชนส่วนใหญ่เป็นอกุศล สำหรับพระอริยบุคคลที่เป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล ยังมีอกุศลจิตแต่น้อยประเภทลง สำหรับพระอรหันต์ดับกิเลสหมด

    เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการกระทบกับโผฏฐัพพะทางกาย คือ สภาพที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ทางกาย ผู้ที่มีอกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย ย่อมทำให้กระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจแม้ทางกาย โผฏฐัพพะที่กระทบก็จะเป็นแข็งเกินไปบ้าง ร้อนจัดบ้าง ต่างๆเหล่านี้ ซึ่งจิตที่เป็นกายวิญญาณจะเกิดพร้อมกับทุกขเวทนา เวลาที่กายปสาทกระทบกับรูปที่ร้อนจัด ไม่มีใครที่จะทำให้สุขเวทนาเกิดได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นสำหรับพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านยังมีกายวิญญาณ ซึ่งเป็นอกุศลวิบาก ซึ่งเกิดร่วมกับทุกขเวทนา แต่เมื่อกายวิญญาณอกุศลวิบากซึ่งเกิดร่วมกับทุกขเวทนาดับไปแล้ว อกุศลไม่เกิดเลย ในขณะที่ปุถุชนเดือดร้อน พระโสดาบัน พระสกทาคามี ก็ยังมีโทมนัส คือ ความขุ่นเคืองใจ ความเดือดร้อนใจ ความรำคาญใจ ความเป็นห่วง ความกังวล เวลาที่มีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หรือว่าได้กระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจต่างๆทางกาย แต่สำหรับพระอรหันต์ หลังจากที่วิบากจิตดับไปแล้ว กุศลจิตก็ไม่เกิด อกุศลจิตก็ไม่เกิด จิตที่เกิดมีแต่เพียงกิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิตข้างหน้า และกิริยาจิตนั้นก็ไม่ใช่วิบากจิต

    เพราะฉะนั้นโดยชาติ พระอรหันต์มีจิตเพียง ๒ ชาติ คือ มีวิบากจิตและกิริยาจิต แต่ว่าสำหรับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พระอรหันต์ก็มีอดีตอกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุวิญญาณอกุศลวิบากเกิด โสตวิญญาณอกุศลวิบากเกิด ฆานวิญญาณอกุศลวิบากเกิด ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบากจิต กายวิญญาณอกุศลวิบากเกิด


    หมายเลข 7502
    21 ส.ค. 2558