ความหมายของคำว่า โลก


    ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหมคะ ถ้าไม่มีจะได้ต่อเรื่องของการจำแนกจิต โดยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทำให้ต่างกันโดยประเภท เป็นโลกียจิตและโลกุตตรจิต

    แต่ก่อนอื่นควรจะได้เข้าใจความหมายของคำว่า “โลก” ซึ่งไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังเคยเข้าใจความหมายของโลก ตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือเปล่า

    ข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนวรรคที่ ๔ ข้อ ๑๐๑ ปโลกสูตร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกกันว่า “โลก โลก”  ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงเรียกกันว่า โลก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุแลมีความแตกสลายเป็นธรรมดา รูปมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลาย  เป็นธรรมดา ฯลฯ

    เป็นธรรมดาของใครคะ ของพระอริยเจ้า แต่ยังไม่ใช่ธรรมดาของผู้ที่ไม่ได้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ต้องประจักษ์ความเกิดดับจริงๆ ของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่เว้นค่ะ อย่างทางตา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุแลมีความแตกสลายเป็นธรรมดา รูป (สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา) มีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุวิญญาณ (คือสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้) มีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลาย  เป็นธรรมดา ตลอดไปจนกระทั่งถึงทางกาย ทางใจ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 

    ดูกรอานนท์ สิ่งใดความแตกสลาย เป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ฯ

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็ทราบความหมาย คือ คำจำกัดความ คำนิยามของโลกได้แล้วนะคะว่า ทุกสิ่งที่เกิดดับเป็นโลก

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมซึ่งไม่เกิดดับเท่านั้นที่ไม่ใช่โลก เหนือโลก พ้นจากโลก เป็น “โลกุตระ"คือ “นิพพาน”


    หมายเลข 7503
    21 ส.ค. 2558