จักขุสัมผัสสชาเวทนา กับ การระลึกรู้ลักษณะของเวทนา


    ผู้ฟัง    แล้วผมก็คิดไปอีกหน่อยหนึ่งว่า เวทนาในพระสูตรหลายๆสูตร โดยมากก็ไปลงเอยที่ว่า เช่นทางตา ก็ว่าเป็นจักขุสัมผัสสชาเวทนา ที่เห็นแล้ว ดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ ทั้ง ๖ ทางก็อย่างนี้ใช่ไหมครับ

    ส.   จักขุสัมผัสชาเวทนา หมายเฉพาะเวทนาเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณดวงเดียว

    ผู้ฟัง    ข้อความภาษาไทยต่อไปที่ว่า เห็นแล้วดีใจ เห็นแล้วเสียใจ เห็นแล้วเฉยๆ

    ส.   อันนั้นหลังจากเห็นค่ะ

    ผู้ฟัง    เราจะทราบได้ก็เห็น ๓ อันนี้ใช่ไหมครับ ส่วนที่ว่า เวลาเห็นแล้ว เวทนาจะต้องเป็นอุเบกขาเวทนา เรามีโอกาสจะทราบไหมครับ

    ส.   เวลาที่ความรู้สึกเฉยๆ มีจริงนะคะ กำลังเป็นความรู้สึกเฉยๆ แล้วสติระลึกรู้ในลักษณะของความเฉยๆ ซึ่งไม่ง่ายเลย ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าลักษณะของนามธรรมนี้ไม่ใช่รูปธรรม เป็นแต่เพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ และสำหรับวิญญาณขันธ์ซึ่งเป็นจิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์แต่ละทาง เช่น สีสันวรรณะปรากฏทางตา สีมีมากเหลือเกิน ไม่ว่าน้ำเน่าก็สีหนึ่ง น้ำขังก็อาจจะอีกสีหนึ่ง หรือว่าน้ำฝนก็อาจจะเป็นอีกสีหนึ่ง ก็แล้วแต่ แต่ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำชนิดใดก็ตาม ต่างกันเล็กน้อยหรือต่างกันอย่างไรก็ตาม จักขุวิญญาณเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งเห็นจริงๆในสิ่งที่ปรากฏ ยังไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐาน แต่เห็นทุกอย่าง ถ้าจะมีเพชรสักเม็ดหนึ่งตกลงไปในโคลนตม หรือว่าในแม่น้ำลำคลอง จักขุวิญญาณก็ยังเห็นสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง คือ สีที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรทั้งหมด นอกจากเพชร แล้วก็อาจจะเป็นเครื่องประดับอย่างอื่น อัญญมณีชนิดอื่น  จักขุวิญญาณก็เห็นความต่างกันของสิ่งต่างๆเหล่านั้นที่ปรากฏ เพราะเหตุว่านามธรรมเป็นเพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่ไม่ใช่เพียงจิตเท่านั้นซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เจตสิกก็เป็นสภาพรู้อารมณ์ แต่มีลักษณะและกิจการงานต่างกับจิต เพราะเหตุว่าจิตเป็นเพียงสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏแต่ละทาง ทางหู เสียงต่างๆชนิด จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียงต่างๆชนิด แต่ว่าเจตสิกอื่นรู้อารมณ์เดียวกับจิต พร้อมกับจิต แต่ไม่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เพราะเจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะต่างกัน มีกิจการงานต่างกัน

    เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกไม่ใช่จิตซึ่งรู้แจ้งในอารมณ์ต่างๆ ลักษณะต่างๆที่ปรากฏ แต่ว่าเวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึกทันทีที่จิตรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นความรู้สึก ถ้าไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นชีวิตปกติประจำวัน ถ้าถามดูว่า รู้สึกอย่างไร ตอบกันได้ทุกคน ใช่ไหมคะ เฉยๆ หรือว่าดีใจ หรือว่าหงุดหงิด ไม่แช่มชื่น ไม่สบายใจ อาจจะบอกได้ว่า วันนี้ไม่สบายใจ บอกได้ทุกอย่าง ลักษณะสภาพของความรู้สึก แต่เวลาที่สติจะระลึกตรงลักษณะของความรู้สึก หาเจอไหมคะ อยู่ที่ไหน ความรู้สึก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมจิต จิตกำลังเห็นทางตา ความรู้สึกเกิดทันที พร้อมกับจักขุวิญญาณที่เห็น

    ในขณะที่โสตวิญญาณได้ยินเสียง ขณะนี้ที่เสียงปรากฏ มีสภาพที่ได้ยินเสียงที่ปรากฏ และมีความรู้สึกที่เกิดพร้อมกับสภาพที่ได้ยินเสียง ในขณะนั้นเมื่อมีการกระทบสัมผัสอารมณ์แล้ว ที่จะไม่ให้เกิดเวทนา หรือความรู้สึกนี้ไม่ได้เลย ใครจะยับยั้งไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดไม่ได้ เมื่อมีการกระทบสัมผัสกับอารมณ์ มีการรู้อารมณ์เกิดขึ้น เวทนาเจตสิกต้องเกิดขึ้นรู้สึกในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ทุกครั้ง

    เพราะฉะนั้นเวลาที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นความรู้สึก รู้ยากใช่ไหมคะ ไม่เหมือนกับเวลาที่ตอบง่ายๆ ว่า เสียใจ ดีใจ หรือว่าเฉยๆ เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม รู้สึกยังไงคะ เมื่อกี้นี้ ต้องมีความรู้สึกแน่นอนค่ะ ถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นรู้สึกอย่างไร ทันทีที่ได้ยินแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นเรื่องของเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรม ซึ่งทำให้จิตต่างๆกันออกไป สามารถที่จะให้สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิตบ้าง หรือว่าเป็นเวทนาเจตสิก เป็นความรู้สึกบ้าง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งถ้าได้รู้เรื่องของสภาพธรรมเหล่านั้นเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ไม่หลงลืม เวลาที่เฉยๆ หรือเวลาที่ดีใจ หรือเวลาที่เป็นทุกข์ เวลาที่เป็นสุข เวลาที่เสียใจ แทนที่จะยิ่งเสียใจใหญ่ ก็เป็นสติที่ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นั่นเป็นคุณประโยชน์ของสติปัฏฐาน ที่ทำให้ละคลายความทุกข์ แม้ในขณะที่รู้สึกไม่แช่มชื่น

     


    หมายเลข 7308
    20 ส.ค. 2558