คำถามทบทวนเกี่ยวกับอายตนะ


    ท่านอาจารย์ อเหตุกจิตเป็นอายตนะอะไร มนายตนะ แล้วสเหตุกจิตเป็นอายตนะอะไร ต้องมั่นใจ จิตทุกประเภท ทุกดวง ทุกขณะ เป็นอายตนะเดียวจะเป็นอื่นไม่ได้ คือเป็น "มนายตนะ" จิตเห็น คือ จักขุวิญญาณเป็นอายตนะอะไร มนายตนะ จิตได้ยินเป็นมนายตนะ เสียงเป็นอายตนะอะไร "สัททายตนะ" ตา (จักขุปสาท) เป็น "จักขวายตนะ" เป็นภาษาบาลี หู (โสตปสาท) เป็น "โสตายตนะ" จะให้หูไปเป็นเสียงไม่ได้ ฆานปสาท คือ จมูก เป็นอายตนะอะไร "ฆานายตนะ" เท่านี้เอง ลิ้น ขณะใดที่กำลังลิ้มรส ขณะที่มีรสปรากฏ ชิวหาปสาท เกิดแล้วยังไม่ดับด้วยเพราะปกติธรรมดาทุกรูปเกิดแล้วก็ต้องดับ แต่ขณะใดที่รูปนั้นเป็นปสาทรูปที่เกิด แล้วก็กระทบกับรสแล้วยังไม่ดับ ชิวหาปสาทนั้นเป็นอายตนะอะไร "ชิวหายตนะ" แล้วก็ทางกายกระทบขณะนี้เองเป็นอะไร กายปสาทเป็น "กายายตนะ" และสิ่งที่ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบ สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็น "โผฏฐัพพายตนะ" ไม่ว่าจะอ่อน หรือจะแข็ง หรือจะเย็น หรือจะร้อน กล่าวมาถึง ๑๐ อายตนะแล้ว ใส่ชื่อเป็นภาษาบาลีเพื่อไม่สับสนด้วย เหลืออีก ๒ คือ จิต เป็น "มนายตนะ" ส่วนธรรมอื่นๆ ที่เหลือก็เป็น "ธัมมายตนะ" เพราะฉะนั้นจะมีใครถามอย่างไร เมื่อไหร่ ตรงไหน ก็จะรู้ใช่ไหม โวฏฐัพพนจิต เป็นอายตนะอะไร มนายตนะ เสียงที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอายตนะอะไร สัททายตนะ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตเป็นอะไร ธัมมายตนะ รวมครบอายตนะ ๑๒ ไม่ลืมไม่ว่าจะพบคำนี้ที่ไหน เมื่อไหร่ หรือสนทนากันที่ไหน อย่างไร ก็เข้าใจความหมายของอายตนะ

    อ.วิชัย ได้กล่าวถึงเหตุ จิตที่เป็นสเหตุกะ และ อเหตุกะ คำว่า “เหตุ” เหตุคืออายตนะอะไร ธัมมายตนะ ธัมมายตนะเป็นเหตุต้องหมายถึงเจตสิก ๖ ธัมมายตนะจะมีกว้างเพราะรวมถึงเจตสิกอื่นๆ ทั้งหมดเลย ดังนั้นถ้าให้กล่าวถึงธรรมที่เป็นธัมมายตนะ ก็จะรวมถึงนิพพานด้วยขณะที่เป็นอารมณ์แก่จิตเพราะเหตุว่าขณะนั้นมีอยู่ แล้วก็กำลังเป็นอารมณ์แก่จิต ขณะนั้นนิพพานก็เป็นธัมมายตนะด้วย

    ท่านอาจารย์ ฟัน เป็นอายตนะหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น เพราะเป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่สภาวะที่เราเคยยึดถือว่าเป็นฟันมีใช่ไหม เป็นอายตนะอะไร เราเคยยึดถือว่าเป็นฟันแต่ความจริงต้องมีลักษณะสภาวะของสิ่งที่เรายึดถือเป็นฟัน ลักษณะสภาวะอย่างไร ชนิดไหนที่เรายึดถือว่าเป็นฟัน ก่อนอื่น คิดก่อนว่า รูปหรือนามที่เป็นฟัน

    ผู้ฟัง รูป

    ท่านอาจารย์ แล้วรูปอะไรที่เรายึดถือว่าเป็นฟัน

    ผู้ฟัง มีลักษณะแข็ง

    ท่านอาจารย์ "แข็ง" เป็นอายตนะอะไร เป็นอายตนะหรือไม่ เวลาที่กำลังกระทบสัมผัส

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นอายตนะอะไร

    ผู้ฟัง มนายตนะ

    ท่านอาจารย์ มนายตนะเป็นจิต ฟันเป็นรูป เพราะฉะนั้นที่แข็งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ที่เหลือเป็นธัมมายตนะ

    ท่านอาจารย์ แต่ว่า "แข็ง" ไม่ใช่ที่เหลือ รู้ได้ ๕ ทางใช่ไหม แข็งรู้ได้ทางกาย ฉะนั้นเป็นโผฏฐัพพายตนะ ชื่อเท่านั้นเอง แทนที่จะบอกว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เรียกว่าโผฏฐัพพะ แล้วเวลาที่มียังไม่ดับ แล้วกำลังประชุมอยู่ตรงนั้น จิตกำลังรู้ลักษณะนั้น โผฏฐัพพะนั้นก็เป็นโผฏฐัพพายตนะ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82


    หมายเลข 7134
    22 ม.ค. 2567