จุดประสงค์ของการฟังธรรมเพื่อเป็นอาหารให้สติเกิด


    เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการศึกษาธรรม ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะให้เป็นอาหารให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงนั่นเอง ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้เพื่อทรงเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลซึ่งไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล และไม่ใช่วิปัญจิตัญญูบุคคล แต่เป็นผู้ที่เป็นเนยยบุคคล คือ เป็นผู้ที่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยช้า ไม่ใช่โดยเร็ว

    แต่ละวิปัสสนาญาณที่จะเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องอบรมเจริญนานจริง ๆ กว่าจะถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑ ซึ่งเป็นการประจักษ์สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นนามธาตุ เป็นรูปธาตุ ทางมโนทวารทีละลักษณะ หมดความสงสัยในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร แล้วก็วิปัสสนาญาณไม่ใช่มีแต่เพียงนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งก็แสดงให้เห็นกำลังของกิเลสซึ่งสะสมมามากเหลือเกิน ทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ที่กำลังเผชิญหน้าในขณะนี้ ทุกคนมีตาที่กำลังเห็น กำลังเผชิญหน้ากับปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กำลังได้ยินเสียง เป็นของจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ กำลังเผชิญหน้ากับเสียง มีสภาพรู้เสียงในขณะที่เสียงปรากฏ แต่โมหเจตสิก หรืออวิชชา เป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้แม้สิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาสำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคลนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นผู้ที่อดทนและรู้จริง ๆ ว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย ถ้าใครกล่าวว่าง่าย ผู้นั้นจะพูดผิดหรือพูดถูก

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า อกุศลนี้มีมากมายหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของความต้องการ เรื่องของโลภะในลาภบ้าง ในยศบ้าง ในสักการะบ้าง ในชื่อเสียง ด้วยความยึดมั่นในความเป็นตัวตน ต้องการทุกอย่างเพื่อตัว แม้แต่การที่จะให้บุคคลอื่นกล่าวชม ก็เป็นสิ่งที่พอใจ

    นี่ก็แสดงให้เห็นความยึดมั่นในขันธ์ ซึ่งได้แก่นามธรรมและรูปธรรมซึ่งยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา หรือว่าเป็นของเรา แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดตลอด ๔๕ พรรษา เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคจริงๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟัง พิจารณา ไตร่ตรอง เมื่อเข้าใจแล้วก็ประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะเหตุว่าผู้ที่ไม่ใช่สาวก ฟังแล้วไม่ปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นแต่ละท่านก็ยังต้องพิจารณาว่า ท่านอยู่ในประเภทไหนบ้างแล้ว คือ เป็นผู้ที่ไม่ใช่เพียงฟังแล้วก็สนใจ แต่ว่านอกจากจะฟัง พิจารณา เข้าใจ สนใจแล้ว ยังน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    ตลอด ๔๕ พรรษา เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดความยินดี หรือยินร้าย หรือกุศล เป็นชีวิตประจำวันทุกขณะ การได้ยินเสียงที่ปรากฏ เกิดความยินดี หรือยินร้าย หรือว่าเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ฟัง แล้วพิจารณา แล้วเข้าใจ แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตาม คือ ระลึกในขณะที่เห็น เพื่อที่จะศึกษาให้ประจักษ์จริง ๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วจึงจะเข้าใจคุณประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดง เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยละเอียด ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะสละปริยัติ เพราะเห็นว่า ผู้ที่ศึกษาหรือสนใจปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์


    หมายเลข 7012
    23 ส.ค. 2558