ผู้ที่เป็นเนยยบุคคล กับ ความเข้าใจกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก


    อย่างในคราวก่อนได้พูดถึงอรรถ คือ ลักษณะของจิตประการที่ ๓ ที่ว่า ชื่อว่า “เป็นธรรมชาติซึ่งกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก”

    ชื่อว่า “เป็นธรรมชาติซึ่งกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก”

    สั้น ๆ แค่นี้ พอไหมคะ เข้าใจไหม เกื้อกูลให้สติระลึกรู้ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง สำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล ผู้ที่เป็นเนยยบุคคล ต้องไม่ใช่ผู้ที่เป็นปทปรมะด้วย

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็ยังต้องรู้ความต่างกันว่า สำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคลนั้น คือ ผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยช้า อย่าลืมนะคะ แต่รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ผู้ใดถึงจะสอนมาก ถึงจะฟังมาก ถึงจะแสดงหรือกล่าวธรรมมาก แต่ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นปทปรมบุคคล

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นเนยยบุคคลต้องฟังมาก เพราะเพียงฟังว่า  “ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติที่กรรม กิเลส สั่งสมวิบาก” ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ซึ่งเป็นจิต กิเลสก็มี ไม่ใช่ว่า หมด วิบากก็มี ไม่ใช่ว่าหมด กรรมก็มี ไม่ใช่ว่าหมด แล้วทำไมไม่ประจักษ์แจ้ง เพียงฟังว่า “ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติที่กรรมกิเลสสั่งสมวิบาก”

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของกิเลสโดยละเอียด ทรงแสดงเรื่องของกรรมโดยละเอียด ทรงแสดงเรื่องของวิปาก คือ วิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมโดยละเอียด ทรงแสดงเรื่องปฏิจจสมุปปาท คือ กิเลสวัฏฏ์โดยละเอียด กัมมวัฏโดยละเอียด วิปากวัฏฏ์โดยละเอียด

    ทรงแสดงว่าในขณะหนึ่งที่สภาพธรรมใดที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเกิดขึ้น สภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีปัจจัยอะไรทำให้เกิดขึ้น และรูปนั้นมีปัจจัยอะไรบ้างทำให้เกิดขึ้น

    ที่กำลังเห็นแต่ละขณะนี้ กว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้ เท่านั้นจริง ๆ ดับไปแล้ว ที่กำลังพูดถึงการเห็นนี้ ก็ไม่รู้ว่า นามธรรมกี่ประเภทได้ดับไปแล้ว และการเห็นแต่ละขณะที่จะเกิดได้ ก็มีปัจจัยหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส วิบากจิตประเภทต่าง ๆ อกุศลจิตประเภทต่าง ๆ หรือกรรมประเภทต่าง ๆ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สภาพธรรมนั้น ๆ เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อให้คนที่เป็นเนยยบุคคลฟัง ฟังแล้วก็ฟังอีก แล้วก็พิจารณาเพื่อที่จะไม่หลงลืม เพราะถ้าไม่อาศัยการฟัง ทุกคนไม่พ้นความคิด เพราะฉะนั้นก็จะต้องคิดเรื่องอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องอภิธรรม ไม่ใช่เรื่องของธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เมื่อฟังเรื่องของอภิธรรม หรือธรรมที่มีจริงที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มากขึ้น บ่อยขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้ไม่หลงลืมที่สติจะเกิดระลึกศึกษา เพื่อรู้ชัดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ปฏิจจสมุปปาทโดยย่อ ที่เป็นกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ วิปากวัฏฏ์ ไม่ใช่เพียงให้เข้าใจว่า เมื่อกิเลสยังมี กรรมก็ต้องมี เมื่อกรรมยังมี วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมก็ต้องมี และเมื่อกิเลสไม่หมด ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมอีก และเมื่อกรรมมี ก็เป็นปัจจัยให้วิบากเกิดขึ้นอีก

    เข้าใจเท่านี้ไม่พอค่ะ เพราะเหตุว่าต้องเข้าใจโดยละเอียด แม้แต่ในขณะที่เห็นครั้งหนึ่ง หรือวาระหนึ่ง กิเลสเมื่อไร วิบากเมื่อไร กรรมเมื่อไร ต้องรู้ชัด และสามารถจะประจักษ์แจ้งในสภาพที่เกิดดับจริง ๆ ในขณะนี้ได้ แล้วจึงจะเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่า เป็นประโยชน์เกื้อกูลที่จะทำให้บุคคลที่ได้ฟังอบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้าไม่อาศัยการฟัง เพียงแต่ได้ยินได้ฟังบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็เข้าใจบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่มีทางที่ผู้ที่เป็นเนยยบุคคลจะสามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะแม้แต่การที่จะรู้ลักษณะของกิเลสวัฏฏ์ หรือกัมมวัฏ หรือวิปากวัฏฏ์ ก็ไม่ใช่ในขณะอื่น ไม่ใช่ว่าพอเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นทีก็วิบากแล้ว นี่เป็นผลของกรรม ก็จะต้องเป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่งในอดีต พอถึงเวลาที่ได้ความสุข ได้ลาภ ได้ยศ ก็บุญแล้ว เป็นผลของกรรมในอดีตกรรมใดกรรมหนึ่ง ซึ่งเป็นกุศลให้ผล แต่ว่าขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ นี่คือปฏิจจสมุปปาท เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ชัดจริง ๆ ในวิบาก ถ้าไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ในขณะที่ได้กลิ่น ไม่ใช่ในขณะที่ลิ้มรส ไม่ใช่ในขณะที่กระทบสิ่งที่ปรากฏทางกาย แล้วจะเป็นขณะไหน เพราะเหตุว่าวิบากทั้งหมด คือ ในขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นที่กระทบทางจมูก ลิ้มรสที่กระทบทางลิ้น รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจปฏิจจสมุปปาทให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ต้องในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่เข้าใจเพียงเผิน ๆ หรือย่อ ๆ ว่า กิเลสเป็นเหตุให้เกิดกรรม กรรมเป็นเหตุให้เกิดวิบาก และในขณะที่กำลังเห็น ไม่รู้ว่าเป็นวิบากอย่างไร

    เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเข้าใจธรรมจริง ๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ทุกประการ หมดความสงสัยได้ คือ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจนชำนาญ จนคล่องแคล่ว จนมีปัจจัยที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรมทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ แล้วก็จะรู้ชัดขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า ขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดเป็นกิเลส ขณะใดเป็นกรรม

    มีข้อสงสัยไหมคะในคราวนี้


    หมายเลข 7016
    23 ส.ค. 2558