จิตเรียกชื่อต่างๆกันโดยกิจ


    ถาม   ชื่อของวิถีจิต ทำไมมันต่างกับชื่อของจิต คือ จิตโดยพิสดารแล้วมีถึง ๑๒๑ ดวง หรือ ๑๒๑ ประเภท ไม่มีชื่อว่า อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ จนถึงตทาลัมพนะ

    ชื่อต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่มีในจิตทั้ง ๑๒๑ ประเภท ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

    ส.   โดยกิจค่ะ จิตทำกิจใด ก็เรียกชื่อของจิตที่ทำกิจนั้น “โดยกิจ” เหมือนอย่างคนที่ทำนา ก็เรียกว่า ชาวนา จะชื่ออะไรก็ได้ ใช่ไหมคะ ชาวนาแต่ละคนก็มีชื่อของตนเอง แต่ขณะใดที่กระทำนา ก็ชื่อว่า ชาวนา ขณะใดที่ร้องเพลง ก็ชื่อว่า นักร้อง เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่กิจการงานว่า ขณะนั้นกระทำกิจอะไร

    ผู้ฟัง    ก็หมายความว่า วิถีจิตทั้งหมดเป็นกิจของจิต เช่น ภวังคจิต ก็เรียกว่า กระทำกิจเป็นภวังค์ อันนี้บางคนศึกษาแล้วก็งง เพราะว่าจิตทั้งหมดโดยพิสดารแล้ว มี ๑๒๑ ประเภท ทำไมไม่มีชื่อภวังค์ แต่นี่พอมาพูดถึงวิถีจิตแล้วเป็นอย่างนั้น

    ทีนี้อยากจะถามอาจารย์ว่า จิตทั้งหมดโดยย่อ มี ๘๙ จำแนกโดยชาติ อาจารย์กล่าวแล้วว่า มี ๔ ชาติ แล้วถ้าจำแนกโดยภูมิ มีกี่ภูมิ

    ส.   ยังไม่กล่าวถึงภูมิค่ะ ก่อนจะกล่าวถึงภูมิ จะกล่าวถึงอรรถของจิตประการต่อไป ที่กล่าวถึงชาติในขณะที่กล่าวถึงวิถีจิต ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา ได้เห็นความสำคัญว่า เวลาที่จิตรู้อารมณ์เป็นวิถีจิต  ไม่ใช่เป็นแต่กุศลหรืออกุศลเท่านั้น แต่วิถีจิตที่รู้อารมณ์ครั้งหนึ่ง ๆ วาระหนึ่ง ๆ นั้น มีทั้งจิตที่เป็นชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก และชาติกิริยาอย่างรวดเร็ว ขณะเห็นวาระหนึ่ง คือ ครั้งหนึ่งมีจิตที่เป็นกิริยาจิต วิบากจิต กุศลจิต หรืออกุศลจิต เกิด ๔ ชาติ แต่วาระหนึ่ง ๆ ก็เพียง ๓ ชาติ คือ กิริยาจิต วิบากจิต และกุศลจิต หรือกิริยาจิต วิบากจิต อกุศลจิต เพราะเหตุว่ากุศลและอกุศลจะเกิดพร้อมกันในวาระเดียวกันไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้ว่า จิตมีจำนวนเท่าไร ชื่ออะไรบ้าง ก็จริงค่ะ ยังต้องรู้ถึงกิจการงานของจิตแต่ละประเภท ที่รู้ชื่อว่า จิตชื่อนั้นกระทำกิจอะไร ในขณะไหนด้วย แล้วก็เรียกชื่อของจิตที่กระทำกิจนั้นตามกิจ เช่น ขณะที่เกิดเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าจะเกิดในสุคติภูมิ หรือว่าในทุคติภูมิ ถ้าเกิดในทุคติภูมิ ในอบายภูมิ เป็นผลของอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ แต่อกุศลวิบากที่ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิกิจก็มี ไม่ใช่ว่าอกุศลวิบากแล้ว จะต้องทำปฏิสนธิกิจทุกดวง

    เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากใดทำกิจปฏิสนธิ จึงชื่อว่า “ปฏิสนธิจิต” อกุศลวิบากใด ทำกิจภวังค์ ก็ชื่อว่า “ภวังคจิต”

    จักขุวิญญาณทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ ทำภวังคกิจไม่ได้ แต่ว่าทำ “ทัสสนกิจ” ได้ จึงชื่อว่า “จักขุวิญญาณจิต” เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่รู้แจ้งทางตา ก็เรียกชื่อตามประเภทของจิตและกิจ


    หมายเลข 6962
    24 ส.ค. 2558