คำว่า ปัจจัย แทนสภาพธรรม ใช่หรือไม่


    ถาม   คำว่า “ปัจจัย” แทนสภาพธรรม ใช่ไหมครับ

    ส.   ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูป หรือรูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑

    สำหรับปรมัตถธรรม ๔ ที่เกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยปรุงแต่งมี ๓ คือ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์  และรูปปรมัตถ์ 

    เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงปัจจัย ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ คือ สภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นปรมัตถธรรมเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน แล้วแต่ว่าจะเป็นปัจจัยโดยอดีต คือ ดับไปแล้ว จึงได้เป็นปัจจัยให้สภาพของจิต เจตสิกข้างหน้าเกิดขึ้น หรือว่าเป็นปัจจัยโดยปัจจุบัน คือ เป็นปัจจัยโดยการเกิดขึ้นพร้อมกันทันที

    แต่ว่า “นิพพาน” ไม่มีการเกิดขึ้น แต่นิพพานเป็นอารัมมณปัจจัยของโลกุตตรจิต เพราะเหตุว่าโลกุตตรจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้นที่โลกุตตรจิตเป็นโลกุตตรจิต เพราะเหตุว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นโลกุตตรจิตจะปราศจากการรู้แจ้งนิพพานไม่ได้ เพราะฉะนั้นนิพพานจึงเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่มีการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงดับความยินดีหรือความต้องการ


    หมายเลข 6809
    25 ส.ค. 2558