อารมณ์เป็นอารัมมณปัจจัย


    สำหรับในวันนี้ ท่านผู้ฟังก็คงจะได้ทราบความหมายของคำว่า “อารมณ์” แล้วว่า หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ แล้วก็ได้ทราบแล้วด้วยว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปนามหรือนามธรรม ต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะต่าง ๆ ของอารมณ์ต่าง ๆ อารมณ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นอารมณ์นั้นเป็น “อารัมมณปัจจัย” คือ เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินอะไร ก็ควรที่จะพิจารณาด้วย และสำหรับเรื่องของปัจจัย ๒๔ ก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าถ้าจะเรียนเป็นขั้นตอน ก็อาจจะต้องพากเพียรที่จะจดจำว่า มีปัจจัยอะไร กี่ปัจจัย แยกอย่างไร ขณะไหน แต่ถ้าเริ่มรู้ แม้ในขั้นต้น เช่น จิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จิตรู้ โดยพยัญชนะ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า เป็น “อารัมมณะ” หมายความถึงสิ่งที่เป็นอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เช่น เสียงปรากฏเวลาที่จิตได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้นเสียงนั้นเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งของจิตที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง แม้ว่าในจิตดวงนั้นมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย แต่เมื่อจิตนั้นรู้เสียง มีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเสียงนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้เสียง เพราะฉะนั้นเสียงนั้นเป็นปัจจัย โดยเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่า “อารัมมณปัจจัย” สิ่งใด ๆ ทั้งหมดที่เป็นอารมณ์เป็นปัจจัยของจิต เพราะจิตจะปราศจากอารมณ์นั้นไม่ได้ เมื่อจิตเกิดขึ้น จิตรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จะปราศจากอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นอารมณ์นั้นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เช่น เสียงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นได้ยินหรือว่ารู้เสียง เพราะฉะนั้นเสียงเป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณ  เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้แจ้งในลักษณะต่าง ๆ ของเสียงต่าง ๆ ทีละอย่าง เพราะฉะนั้นเสียงนั้นจึงเป็น “อารัมมณปัจจัย” ของจิตนั้น


    หมายเลข 6720
    25 ส.ค. 2558