ศึกษาธรรม เป็นเรื่องของการอบรม


    ผู้ฟัง กระผมเคยฟังท่านอาจารย์ว่า ถึงแม้ว่าเราจะศึกษาธรรม จำชื่อได้ จำหัวข้อได้ จำตัวเลขได้ จำได้หลายนัยก็ตาม แต่ถ้าขณะใดก็ตามที่ทางกาย ทางวาจา ที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด นี้เป็นความจริงใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลก็มี ระดับขั้นทาน ขั้นศีลก็ได้ แต่ข้อสำคัญก็คือว่าศึกษาธรรมมานาน บางท่านก็หลายสิบปี สภาพธรรมก็ปรากฏแต่ก็ยังไม่เคยที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ นี่ก็เป็นเรื่องของการอบรม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องของโลภะซึ่งจะติดตามมาว่าอยากจะรู้ แต่เป็นผู้ที่ตรง เวลาที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดหลงลืมสติก็จะรู้ได้ว่าเป็นความเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็จะทำให้มีพื้นฐานความมั่นคงว่า สิ่งที่ได้เรียนทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย มีเป็นปกติในชีวิตประจำวันทั้งหมด เมื่อสักครู่กล่าวเรื่องชาติขณะนี้ก็มี กล่าวเรื่องภูมิ ขณะนี้ก็ใช่ กล่าวเรื่องเห็น กล่าวเรื่องได้ยิน กล่าวเรื่องโลภะ เราไม่แยกออกไปเป็นส่วนต่างหาก เหมือนกับเราไปเรียนเรื่องอะไร เราจะสามารถเข้าใจจุดประสงค์ได้ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อให้รู้สิ่งที่มี และกำลังมีให้ถูกต้อง เช่น เห็นมีกำลังมี เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม และก็เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่เรา คือทุกอย่างที่มีทั้งหมด เวลาที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดก็จะเป็นเราทั้งหมด แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดแม้นิดเดียวก็จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับ ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด "สติ" ในที่นี้หมายความถึงสติปัฏฐาน ไม่ได้หมายความถึงระดับอื่น

    เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ความต่าง และค่อยๆ เข้าใจความต่างของความรู้ขั้นฟัง ความรู้ขั้นคิด กับความรู้ขั้นประจักษ์แจ้ง โดยการที่สติสัมปชัญญะเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรม มิฉนั้นชาวพุทธจะเข้าใจผิด คิดว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงไตร่ตรองธรรม แม้แต่บุคคลในอดีตซึ่งเป็นภิกษุก็เข้าใจว่าทั้งหมดที่ทรงแสดงนั้นถูกต้องสมบูรณ์ แต่มาจากการคิดไตร่ตรอง คือไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ความจริงมีอย่างนี้ กำลังเป็นอย่างนี้ ผู้ใดสามารถทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมที่เป็นอย่างนี้ในขณะนี้ได้โดยละเอียด เช่น จิตเห็นขณะนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วทำกิจนี้ จะทำกิจได้ยิน หรือทำกิจคิดนึกไม่ได้เลย ในขณะที่จิตได้ยินเกิดขึ้นก็ต่างขณะ เป็นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานเช่นเดิมแต่เป็นธาตุที่ได้ยินเสียง ไม่ใช่ธาตุเห็น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้นั้นฟังพระธรรมอย่างไตร่ตรองก็จะเข้าใจว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงธรรมตามที่ทรงไตร่ตรอง แต่ทรงแสดงตามที่ได้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าสภาพธรรมมีอย่างนี้ ความจริงเป็นอย่างนี้ และการประจักษ์แจ้งต้องเป็นความจริงอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่สามารถที่จะรู้ความต่างของสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรม จนกว่าจึงระดับซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งยังไม่ถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ยังไม่ถึงโลกุตตรจิตเลย เป็นแต่กามาวจรจิต จิตระดับที่กำลังเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรมเพิ่มขึ้น จนประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าถ้าศึกษาจริงๆ จะไม่เข้าใจผิดว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามการไตร่ตรองการคิดนึก บางท่านก็กล่าวว่าพระองค์ทรงแสดงธรรมตามที่ทรงประจักษ์แต่ท่านอื่นประจักษ์อย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงประจักษ์แจ้ง นี่ก็ผิด ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญาที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลกับบุคคลอื่น ไม่ใช่เฉพาะพระองค์เองที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม แต่ทรงประกอบด้วยพระญาณต่างๆ ที่สามารถจะแสดงธรรมที่มีในขณะนี้โดยประการหลากหลายเพื่อที่จะให้ผู้ฟังค่อยๆ ไตร่ตรองค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เห็นถูก จนกระทั่งมีผู้ที่รู้แจ้งประจักษ์แจ้งตามพระองค์เป็นพระอริยสาวกมากมาย

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเป็นการที่ตรงต่อตัวเองว่าในชาตินี้เราได้ฟังมามากเหลือเกิน แล้วเราก็จะจากโลกนี้ไปโดยสติสัมปชัญญะเกิด หรือไม่เกิด แต่ไม่ใช่เพราะอยากให้เกิด แต่ไม่ใช่เพราะคิดว่าไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะเกิด หรือว่าคิดว่าจะเกิดไม่ได้ แต่ตามความจริงต้องทราบว่าที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็ต่อเมื่อสติระลึกตรงลักษณะที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนั้นจนกว่าจะเห็นถูก เพราะฉะนั้น ก็เป็นการตระเตรียมปัญญาที่พร้อมที่จะรู้ความจริงเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดที่จะอบรมต่อไปโดยที่ไม่กังวลว่าชาตินี้จะมีสติสัมปชัญญะเกิดกี่ครั้ง จะเกิดมาก จะเกิดน้อย ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ความเข้าใจถูกความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งพร้อมที่จะเข้าใจ และพร้อมที่จะละความเป็นตัวตน แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็หวังไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่ถูกต้องเพราะเหตุว่าหวังอย่างไร ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล ผลก็เกิดไม่ได้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51


    หมายเลข 6501
    18 ม.ค. 2567