อินทริยปัจจัยไม่พ้นจากสภาพที่เป็นนามธรรม หรือ รูปธรรม


    สำหรับการศึกษาเรื่องของปัจจัยทุกปัจจัย   และธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง   ก็เพื่อที่จะให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  ตามปกติตามความเป็นจริง   ซึ่งสามารถจะพิสูจน์ได้  ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่   แม้อินทรียปัจจัยก็ไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน  หรือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา   ทางหู   ทางจมูก   ทางลิ้น  ทางกาย   ทางใจ  ในขณะนี้เอง   อาหารปัจจัยก็โดยนัยเดียวกัน   คือ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา   ทางหู   ทางจมูก   ทางลิ้น   ทางกาย   ทางใจ  ฉันใด   อินทรียปัจจัยก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง

    สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ   ที่จะพ้นจากลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม  ไม่มี  การที่จะรู้ว่า  เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องไหมว่า ไม่ใช่สัตว์   ไม่ใช่บุคคล   ไม่ใช่ตัวตน   ก็ต่อเมื่อมีสภาพธรรมในขณะนี้ปรากฏ   แล้วสติไม่ลืมที่จะระลึกเพื่อที่จะรู้ว่า  สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้  เป็นลักษณะของนามธรรม   หรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม   จึงไม่ใช่เรา  และไม่ใช่ตัวตน   เพราะฉะนั้นการพิสูจน์ธรรมนี้   สามารถที่จะกระทำได้   ศึกษาได้ทุกขณะ   เพราะเหตุว่าไม่มีสักขณะหนึ่งขณะใดซึ่งสภาพธรรมจะหยุดเกิด   เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏทางตา   ทางหู   ทางจมูก   ทางลิ้น   ทางกาย   ทางใจ

    แต่พระผู้มีพระภาค   ผู้ทรงรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวง   ได้ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างว่า  สภาพธรรมใดเป็นอินทรียะ  คือ อินทรีย์  คือ เป็นใหญ่   เป็นปัจจัยแก่สภาพธรรมอื่น   ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียด   ท่านผู้ฟังก็คิดว่า มีเราอยู่ตลอดเวลา   ซึ่งเป็นรูปแต่ละรูปที่ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน   

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่รูปยังประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน   ก็เห็นว่าเป็นเรา  และกลุ่มก้อนนี้   ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรม   เช่นการเห็น   ไม่ได้อยู่นอกตัว   ไม่ได้อยู่นอกกาย   การได้ยิน   การได้กลิ่น   การลิ้มรส   การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส   การคิดนึก  ก็อยู่ที่ตัวทั้งหมด   เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริง   จึงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นการที่จะละคลายการที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน   ก็โดยการที่ศึกษาโดยละเอียดถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง   ซึ่งแตกย่อยออกได้โดยละเอียด   เป็นนามธรรมแต่ละชนิด  และเป็นรูปธรรมแต่ละชนิด   


    หมายเลข 5663
    27 ส.ค. 2558