ตอบข้อสงสัยจากพาหิยสูตร


    สำหรับพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระพาหิยะไม่ทราบว่ามีท่านใดข้องใจหรือเปล่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ๖ โลกหรือเปล่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น ทางไหน ทางตา เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง ทางไหน ทางหู เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ ทางไหน ทางจมูก ลิ้น กาย รวมหมดในพยัญชนะนั้น เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ทางใจ ในพยัญชนะได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ทางตาใช้ศัพท์ว่าอะไร ทางหูใช้ศัพท์ว่าอะไร ทางจมูก ลิ้น กาย รวมใช้ศัพท์ว่าอะไร แล้วที่ว่าเมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น บอกให้รู้เฉพาะนาม หรือให้รู้เฉพาะรูปหรือเปล่า สักแต่ว่าเห็นบอกว่าให้รู้แต่นามหรือให้รู้แต่รูปหรือเปล่า ไม่ได้บอกเลย ที่ว่าเห็นจะเป็นสักแต่ว่าเห็นได้นั้น เพราะอะไร เพราะเหตุว่าสติรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จึงรู้ได้ว่า สักแต่ว่าเห็น เวลาเจริญสติปัฏฐานท่านผู้ฟังคงทราบว่า การที่ต้องเจริญเนืองๆ บ่อยๆ นั้นเพื่ออะไร เพื่อให้ปัญญารู้ชัด แล้วชิน จึงจะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ถ้ายังไม่ชิน ก็ยังคงยึดถือ ขณะที่กำลังเห็นระลึกได้ครั้งสองครั้ง ขณะที่กำลังได้ยินก็ระลึกได้ครั้งสองครั้ง ขณะที่กลิ่นกำลังปรากฏ รสกำลังปรากฏ คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ เกิดขึ้นก็ระลึกได้บ้าง ๒ - ๓ ครั้ง ๑๐ ครั้ง ๒๐ ครั้ง ยังไม่ชิน ยังไม่รู้สึกว่าเป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูป ทุกท่านรู้ว่าไม่ควรยึดถือนามรูปเลย ไม่ว่าเป็นนามใดๆ รูปใดๆ ทั้งสิ้น ก็ควรสักว่าเป็นนาม สักว่าเป็นรูปเท่านั้น แต่ว่าการที่จะสักแต่ว่าเป็นนามได้จริงๆ เป็นรูปได้จริงๆ นั้นจะต้องชิน รู้ชัดในลักษณะของนาม รู้ชัดในลักษณะของรูป วิธีที่จะให้ชินก็คือ สติระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ จึงจะเป็นสักว่านาม สักว่ารูปได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ พอระลึกสักครั้งนึงก็สักว่าเป็นนาม ระลึกที่รูปสักครั้งนึงก็สักว่าเป็นรูป อย่างนั้นไม่ได้ไม่ใช่ความจริง ความจริงปัญญาที่รู้ชั้ดจะต้องอาศัยการอบรมว่าสภาพใดเป็นนามสภาพใดเป็นรูป จึงจะเป็นนามเท่านั้น หรือว่าเป็นรูปเท่านั้นได้ ถ้ายังคงทางตาไม่รู้สีว่าเป็นแต่เพียงรูปที่ปรากฏทางตา รู้แต่เพียงเห็น จะไม่ชัดเจนเลยว่าลักษณะที่เห็นที่เป็นสภาพรู้นั้นต่างกับสีอย่างไร หรือทางหูก็เหมือนกัน ถ้าเพียงแต่พิจารณาได้ยิน โดยที่ไม่ได้พิจารณาเสียงเลย ก็ไม่สามารถที่จะรู้ชัดว่าที่เป็นสภาพรู้ทางหูคือลักษณะที่ได้ยินนั้น ต่างกับสภาพที่ปรากฏทางหูซึ่งเป็นลักษณะของเสียงอย่างไร ต้องรู้ชัดทั้ง ๒ อย่างจึงจะละ แล้วก็รู้สึกว่าเป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูปได้ มีความรู้ที่ชัดเจนอย่างนั้นได้

    เพราะฉะนั้น สำหรับเรื่องของท่านปุกกุสาตินี้ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นเป็นปกติธรรมดา ขณะไหนก็ได้ ขณะที่กำลังเดินหาบาตร หาจีวรก็ได้ ขณะที่กำลังถูกโคขวิดก็ได้ สำหรับผู้ที่ได้อบรมอินทรีย์มาแก่กล้าแล้ว


    หมายเลข 4929
    25 ก.ย. 2566