ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน


    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมีสี่จิต เจตสิก รูป นิพพาน สำหรับนามธรรม มีสองอย่างคือ จิตกับเจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ คือมีลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์

    อารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้คือ อารมณ์ในภาษาไทย ซึ่งในภาษาบาลีจะใช้คำว่า อารมฺมณ หรือ อาลมฺพน

    อ.อรรณพ ในเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม ถ้าเราจะพูดพิจารณาเฉพาะสภาพของนามธรรม รูปธรรมที่เป็นสังขารธรรม หรือเป็นสังขตธรรม จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เจตสิกเกิดประกอบกับจิต ในการที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด เจตสิกก็รู้อารมณ์เดียวกันนั้น

    อารมณ์ก็คือสิ่งที่จิตรู้ อย่างเช่นในขณะนี้ มีจิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นต้องมีสิ่งที่จิตนั้นรู้ คือสีที่ปรากฏทางตา ซึ่งรูปธรรมก็สามารถที่จะปรากฏกับสติได้ ส่วนนามธรรมก็แล้วแต่ว่าจะมีนามธรรมใดปรากฏ เช่น ความโกรธ ความริษยา ความเมตตา คือนามธรรมต่างๆ ที่สามารถปรากฏได้ ความรู้สึกในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ลืมว่า เป็นการสนทนาธรรม เพราะว่าการสนทนาธรรมจะทำให้ได้รับฟังความเห็นของผู้ที่ได้ฟัง และก็ความคิดความเข้าใจ

    วันนี้เราพูดถึงปรมัตถธรรม ๔ รูปพูดไปแล้ว แล้วก็นามธรรมก็มีจิต และเจตสิก และก็เมื่อกี้นี้ก็กล่าวถึงว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “อารมฺมณ” หรือ “อาลมฺพน” แต่ภาษาไทยเราใช้คำว่า “อารมณ์” เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย แต่ว่าจิตก็เป็นสังขารธรรม ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง อะไรจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้จิตเกิด ก็แสดงให้เห็นว่าขณะที่นามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้เกิดขึ้น ก็จะมีนามธรรมที่เป็นสภาพรู้อีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกัน และก็ดับพร้อมกันด้วย เมื่อนามธรรมเป็นสภาพรู้ สิ่งที่เกิดร่วมกับจิตก็ต้องเป็นสภาพรู้ที่รู้สิ่งเดียวกับจิตที่กำลังรู้ด้วย นี่แสดงให้เห็นว่าขณะใดที่นามธรรมเกิดขึ้น จะมีทั้งจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานที่สามารถที่จะรู้แจ้ง เช่นกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้ยินเสียงที่กำลังได้ยิน

    แต่ในขณะนั้นเองจิตเป็นสังขารธรรม เกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน ปรุงแต่งให้จิตเกิดในขณะนั้น ซึ่งสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรม มองไม่เห็นเลย ไม่มีรูปร่างเลย แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่อาศัยจิต เกิดกับจิต จะไม่เกิดที่อื่นเลย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมนั้นจึงชื่อว่า “เจ-ตะ-สิ-กะ” หมายความว่าเป็นสภาพที่เกิดกับจิต เกิดในจิต หรือว่า อาศัยจิตนั่นเองเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4


    หมายเลข 4910
    28 ธ.ค. 2566