ผรุสวาจาประกอบด้วยองค์ ๓
สำหรับผรุสวาจามีองค์ ๓ คือ
๑.) อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นอันตนพึงด่า
๒.) กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ
๓.) อกฺโกสนาติ การด่า
นี่เป็นองค์ ๓ ของผรุสวาจา บางท่านโกรธอยู่ในใจเงียบๆ อาจจะมีการนึกถึงคำที่ไม่เพราะหู แต่ว่าไม่ล่วงออกไป เพราะฉะนั้น ผรุสวาจาจึงมีองค์ ๓ คือ อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นอันตนพึงด่า หนึ่ง กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ หนึ่ง อกฺโกสนาติ การด่า หนึ่ง แล้วสำหรับโทษของผรุสวาจา ถ้าเป็นผู้ที่มีคุณมาก ก็โทษมาก ถ้าเป็นผู้ที่มีคุณน้อย ก็โทษน้อย
พิจารณาตัวท่านเองสักเล็กน้อยว่า เคยมีหรือไม่ ผรุสวาจา ยังมีหรือไม่ ผรุสวาจา เคยมี ถามว่าเคยมีหรือไม่ ถ้าตรงกับตัวเองตามความเป็นจริง ก็เคย ยังมีหรือไม่เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ ยังมีอยู่ ต่อไปจะมีหรือไม่ ไม่แน่ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย แม้แต่ผู้ที่มีปกติเจริญสติ รู้ทุกอย่างโดยปริยัติว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ มากน้อยเท่าไร แต่ทั้งๆ รู้ ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นก็เกิด แต่ว่า สติ สามารถที่จะเกิดขึ้นเพราะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง
ขณะที่กำลังสะสมความรู้ ความรู้ไม่ได้หนีหายไปไหนเลย แต่ว่าจะเพิ่มขึ้น อย่าให้ผิดปกติ เพราะเหตุว่าถ้าผิดปกติแล้วจะไม่รู้ทั่วในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เวลาที่โกรธ เวลาที่มีผรุสวาจา ก็ไม่รู้ ว่าไม่ใช่ตัวตน ก็จะไม่มีการละการยึดถือนามธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ผรุสวาจาเป็นธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ที่สติจะต้องระลึกรู้ แล้วจึงจะละได้
ในอรรถกถาสัพพลหุสสูตร ได้แสดงผลวิบากของผรุสวาจาว่า ข้อว่า คำหยาบเป็นคำไม่ประเสริฐ เสียงที่ไม่พึงใจ ความว่า เขาย่อมได้ฟังวาจาที่เป็นหนาม หยาบคาย เผ็ดร้อน ตัดความเยื่อใยในที่ๆ ตนไปแล้ว ไม่ได้ฟังเสียงเป็นที่ชื่นใจ เป็นผลวิบากของผรุสวาจา ไปที่ไหนบังคับให้คนอื่นไม่พูดผรุสวาจาได้หรือไม่ ได้ยินแล้ว แม้ว่าท่านจะไม่ใช่บุคคลที่ถูกบริภาษ แต่กระนั้นวิบากกรรมที่ท่านได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้พร้อมที่จะได้ยินเสียงนั้น ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่พึงใจ และถ้าได้ฟังคำพูดอย่างนี้ จะทำยังไง
สำหรับชีวิตประจำวันจริงๆ คงจะไม่มีใครพ้นจากผรุสวาจา บางทีท่านอาจจะกล่าวเอง บางครั้งท่านไม่ได้เป็นผู้ที่กล่าวเอง แต่เป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังคำที่ระคายหู คำที่หยาบคาย คำซึ่งไม่เป็นที่ชื่นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้รับฟังแล้ว ยากที่จะให้จิตไม่เกิดความไม่แช่มชื่น แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฎฐาน ในขณะนั้นจะรู้สึกได้ว่า ไม่ยึดถือ ไม่เดือดร้อนใจกับวาจาที่หยาบคาย วาจาที่ไม่เป็นที่รักนั้น แต่ถ้าขณะใดที่สติไม่เกิดขึ้น ขณะนั้นจะเห็นได้ว่าจิตใจหวั่นไหวไปตามวาจาที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็ย่อมจะมีความเดือดร้อนใจ