บุคคลใดเป็นพหูสูต


    ส. ได้มีผู้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า บุคคลใดเป็นพหูสูตร คือผู้ที่ศึกษามาก ข้อความในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๖ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ฯ

    ซึ่งบางท่านก็คิดว่า ท่านอายุมากแล้วถึงมาศึกษาพระธรรม คงจะศึกษาได้เพียงเล็กน้อย คงไม่เป็นพหูสูต แต่ว่าการเป็นพหูสูต ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องชื่อ หรือศึกษาเรื่องชื่อ แต่ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ฟังและพิจารณาโดยถูกต้อง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าบุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้หรือ ฯ

    ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

    พ. ดูกรภิกษุ เราแสดงธรรมเป็นอันมาก คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ถ้าแม้ภิกษุรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้ ก็ควรเรียกว่า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ฯ

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้ทั่วถึงอรรถของธรรมที่ได้ฟัง ด้วยการปฏิบัติตามจึงจะเป็นพหูสูต มิฉะนั้นจะไม่ชื่อว่าเป็นพหูสูต แม้แต่เพียงอรรถของคำว่า “อนัตตา” คำเดียวครอบคลุมพระธรรมทั้งหมด ทั้ง ๓ ปิฎก ทุกโลก เพราะเหตุว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าถึงอรรถความหมายของอนัตตาจริงๆ ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นอนัตตาอย่างไร เมื่อได้ฟังเรื่องการเห็น และปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็น ก็จะสามารถรู้ถึงความเป็นอนัตตาของเห็นในขณะนี้ได้ แต่โดยขั้นของการฟังและเข้าใจ แต่ก็ยังไม่พอ ต้องโดยการปฏิบัติ อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ในอรรถนั้นได้จริงๆ ว่า แม้ในขณะนั้นที่กำลังปรากฏทางตา ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ด้วยเหตุนี้ไม่ใช่เพียงการเรียนเรื่องชื่อ แต่ต้องเข้าใจแล้วปฏิบัติประพฤติให้เข้าถึงอรรถของพระธรรมที่ทรงแสดงจริงๆ ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ไม่ชื่อว่า พหูสูต

    ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า


    หมายเลข 4390
    19 ส.ค. 2566