นิยาม ๕ ..กรรมนิยาม


    อยากทราบเรื่องของนิยาม ๕ อย่าง  ใช่ไหมคะ

    ข้อความในอัฏฐสาลินี  อรรถกถาพระธัมมสังคิณีปกรณ์  จิตตุปปาทกัณฑ์ ว่าด้วย นิยาม มีข้อความว่า นิยามมี ๕ อย่าง คือ

    พืชนิยาม หรือ พีชนิยาม ๑  อุตุนิยาม ๑  กัมมนิยาม ๑  ธัมมนิยาม ๑  จิตตนิยาม ๑

    ในบรรดานิยามทั้ง ๕ นั้น  การที่พืชนั้น ๆ ให้ผล  เหมือนกันกับพืชนั้น ๆ เช่น ดอกทานตะวันหันหน้าไปหาพระอาทิตย์ ชื่อว่า “พืชนิยาม” คือ เป็นธรรมดา หรือธรรมเนียมของพืชชนิดนั้น ๆ  ไม่เปลี่ยนแปลง

    สำหรับ  “อุตุนิยาม”  มีคำอธิบายว่า  การที่ต้นไม้นั้นๆ ติดดอกผลและใบอ่อนพร้อมกันในสมัยนั้น ๆ  ชื่อว่า อุตุนิยาม หน้าทุเรียน หน้ามะม่วง ไม่สลับกัน นั่นคือ อุตุนิยาม

    สำหรับ  “กัมมนิยาม”  คือว่าการที่กรรมนั้น ๆ ให้วิบากเหมือนกันกับกรรมนั้น ๆ นั่นเทียว อย่างนี้  คือ  ถ้ากุศลกรรมประกอบด้วยปัญญา  ก็ให้ผลเป็นวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา หรือว่ากุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา  ก็ให้ผล คือ วิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา นี่ชื่อว่า “กัมมนิยาม”

    นอกจากนั้นก็ได้แสดงเรื่อง  “กัมมนิยาม”  อีกอย่างหนึ่ง คือ วิบาก ย่อมเป็นไปตามกรรม ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วที่ว่า มีไฟไหม้ใกล้ทวารกรุงสาวัตถี มีกระจุกหญ้าติดไฟขึ้นไปสวมคอกาที่บินไปทางอากาศ  นั่นก็เป็น “กัมมนิยาม”

    สำหรับ  “ธัมมนิยาม”  คือ ในกาลที่พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายทรงถือปฏิสนธิ  ในกาลที่ทรงออกจากครรภ์พระมารดา ในกาลที่ทรงตรัสรู้พระอภิสัมโพธิญาณ ในกาลที่พระตถาคตเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักร  ในกาลที่ทรงปลงพระชนมายุสังขาร  ในกาลที่ปรินิพพาน  หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว  ชื่อว่า  “ธัมมนิยาม”

    สำหรับ “จิตตนิยาม”  มีข้อความว่า

    เมื่ออารมณ์กระทบกับปสาทรูป  ใคร ๆ ที่จะเป็นผู้กระทำหรือผู้สั่งให้กระทำว่า “เจ้านะ  จงชื่อว่าอาวัชชนะ  ...ตลอดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึง... เจ้านะจงชื่อว่าชวนะ”  ดังนี้  ย่อมไม่มี คือ  สภาพธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปโดยธรรมดาของตน ๆ นั่นเอง  ตั้งแต่กาลที่อารมณ์กระทบกับปสาท จิตก็เกิดดับสืบต่อกัน ชื่อว่า “จิตตนิยาม”   

    ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกไหมคะ  ในเรื่องนิยาม


    หมายเลข 4180
    8 ส.ค. 2558