เจตนาเจตสิกเป็นสังขารขันธ์


    ถ้ากล่าวโดยขันธ์ เจตนาเจตสิกเป็นขันธ์อะไร  ขันธ์มี ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑

    รูปขันธ์ ได้แก่ ทุกรูปทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ได้แก่ ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดีใจ เป็นโสมนัส เสียใจ เป็นโทมนัส หรืออทุกขมสุข หรืออุเบกขา เฉยๆ  ก็เป็นเวทนาขันธ์

    เพราะฉะนั้นเจตสิกที่นอกจากเวทนาเจตสิกและสัญญาเจตสิกแล้ว ก็เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกเป็นขันธ์อะไร เป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งยิ่งกว่าสังขารขันธ์อื่น

    เพราะฉะนั้นในปฏิจจสมุปปาทจึงแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ซึ่งหมายความถึงปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกามาวจรกุศลและรูปาวจรกุศล อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิต อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอรูปกุศล คือ อรูปาวจรกุศล ๔ ดวง เพราะเหตุว่าสำหรับปุญญาภิสังขารนั้นรวมกามาวจรกุศลและรูปาวจรกุศลทั้ง ๒ เพราะเหตุว่ายังเป็นกุศลที่ยังเป็นไปในรูป ไม่ว่าจะเป็นกามาวจรกุศลหรือรูปาวจรกุศล ก็เป็นปุญญาภิสังขาร

    เมื่อจัดโดยขันธ์ เจตนาเป็นสังขารขันธ์ พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงจำแนกสังขารขันธ์ตรัสว่า

    ชื่อว่า สังขาร เพราะอรรถว่า ปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ ทรงแสดงไว้ด้วยคำว่า จักขุสัมผัสสชาเจตนา ดังนี้เป็นต้นในสุตตันตภาชินีย์ ในวิภังคปกรณ์ เพราะเป็นประธานในการปรุงแต่ง

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็จะสังเกตสภาพลักษณะของเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นกรรม เป็นปัจจัย เป็นกัมมปัจจัยได้ว่า เจตนานั้นมีการมุ่งหวัง คือ เป็นสภาพลักษณะที่จงใจ หรือตั้งใจเป็นลักษณะ ซึ่งมีข้อความอุปมาว่า เหมือนกับลูกมือผู้เป็นหัวหน้า หรือเป็นนายช่างไม้ใหญ่เป็นต้น ย่อมยังกิจของตนและกิจของคนอื่นให้สำเร็จ คือ เป็นสภาพธรรมที่ถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ


    หมายเลข 4044
    15 ส.ค. 2558