รูปทั้งหมดไม่เป็นกรรม


    คำว่า “กรรม” เป็นคำที่ชินหู แต่แม้กระนั้นเรื่องกรรมและเรื่องผลของกรรมก็เป็นปัญหา ไม่ใช่แต่เฉพาะในยุคนี้ แม้ในยุคก่อนๆ และในยุคต่อๆไป เพราะเหตุว่าบางท่านก็เห็นว่า การกระทำทั้งหลายไม่มีผลไม่ให้ผล อกุศลกรรมไม่ให้ผล หรือว่ากุศลกรรมไม่ให้ผล

    ที่เข้าใจกันอย่างนี้ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดให้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า ที่ชื่อว่า “กรรม” หรือสภาพธรรมที่เป็นกรรมนั้น ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นไปก็ได้แก่ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑

    สำหรับรูปปรมัตถ์เป็นกรรมหรือเปล่าคะ ไม่เป็น เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อรูปไม่ใช่กรรม ก็ต้องมีเหตุผลด้วยว่า เพราะอะไรรูปจึงไม่เป็นกรรม หรือว่ารูปจึงไม่ใช่กรรม เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า รูปธรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจักขุปสาท จักขุปสาทก็ไม่เห็นอะไร โสตปสาทก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งสามารถรับกระทบเฉพาะเสียง และเวลาที่เสียงปรากฏก็เพราะเหตุว่ามีนามธรรม คือ จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้เสียงที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นรูปทั้งหมดไม่ใช่กรรม เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่นามธรรม บางท่านก็อาจจะสงสัยว่า ถ้าไม่มีรูป กรรมจะมีได้ไหม แต่ถึงกระนั้นก็ตามรูปก็ไม่ใช่กรรม เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้

    จิตปรมัตถ์เป็นกรรมหรือเปล่าคะ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ จิตเป็นสังขารธรรม ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตนั้นกี่ประเภท แต่จิตเป็นแต่เพียงเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ในขณะที่เห็น จิตเห็น แต่เวลาที่รู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง คือ เวทนาเจตสิก

    ในขณะที่เห็นแล้วก็จำได้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร สภาพที่จำก็ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง คือ สัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่กรรม

    ถ้ากล่าวโดยกว้างอาจจะกล่าวได้ว่า จิตใดที่เป็นกุศล หรือจิตใดที่เป็นอกุศล ทำให้เกิดการกระทำที่เป็นอกุศลกรรมและอกุศลกรรม จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นจิตตุปาท เป็นกรรม แต่ถ้ากล่าวโดยเจาะจงแล้ว จิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ไม่ใช่ตัวกรรม ไม่ใช่สภาพที่เป็นสภาพที่กระทำกรรม แต่ว่าเจตสิกดวงหนึ่งในเจตสิก ๕๒ ดวง ซึ่งได้แก่เจตนาเจตสิกเป็นกรรม เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจงใจ ตั้งใจ ขวนขวาย หรือมุ่งหวัง คือ จัดสรรให้ธรรมที่สัมปยุตต์กับตนเป็นไปในอารมณ์


    หมายเลข 4041
    15 ส.ค. 2558