ข้อปฏิบัติในสมถะและวิปัสสนาเป็นอย่างไร


    ศุกล   ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า มีทั้งสมถะและวิปัสสนา

    ส.   ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ก่อนอื่นต้องทราบว่า พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่ทุกชีวิตในชีวิตประจำวันทุกขณะ อันนี้ก่อนนะคะ เพราะว่าเป็นเรื่องของสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องที่สูงมาก เป็นเรื่องของผู้มีปัญญาเห็นโทษของกิเลสของตนเอง เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ผู้นั้นต้องเห็นกิเลสในวันหนึ่งๆว่า มีมากแค่ไหนเสียก่อน อย่างวันที่เราตื่นนอนมา บางคนบอกว่าเขาไม่มีกิเลสเลย เขาไม่อยากได้อะไรของใคร เขาไม่โกรธใครด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆแล้วผู้นั้นเจริญสมถะก็ไม่ได้ เจริญวิปัสสนาก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้ตัวเองว่า มีกิเลสตั้งเต่ลืมตาตื่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญความสงบจากกิเลส ต้องเห็นโทษ ต้องรู้จักกิเลสจริงๆ อย่างเวลาที่ตื่นขึ้น เพียงลืมตา เราอาจจะไม่รู้ว่า เรามีความต้องการเกิดขึ้นทันทีที่ตื่น บางคนก็อยากจะฟังเพลง เอื้อมมือไปเปิดวิทยุ บางคนก็รีบทำธุระต่างๆ ในห้องน้ำ ทั้งหมดนั้น ถ้าขณะใดไม่เป็นกุศล ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นในศีล ไม่เป็นไปในปัญญาที่รู้สภาพของจิตที่สงบว่าต่างจากจิตที่ไม่สงบ ไม่มีปัญญาที่รู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏ พระพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงแสดงว่าอย่างไร ถ้าไม่มีปัญญาอย่างนี้ ไม่พ้นจากโลภะในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่าความต้องการในวันหนึ่งมีหลายระดับ ความต้องการที่เรามีจนกระทั่งเราสังเกตเห็น อย่างเวลาที่ไปตลาด แล้วรู้สึกว่าสวย อยากจะได้ ชอบ เป็นสิ่งที่เรากำลังต้องการ ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่เห็นว่าเป็นโลภะ หรือเป็นความต้องการแล้ว แต่ก่อนนั้นอีกก็มีความต้องการในชีวิตประจำวันเล็กๆน้อยๆ เรื่อยมา ซึ่งผู้ที่เจริญความสงบ ก่อนอื่นต้องเห็นโทษของกิเลสของตนเอง แล้วเวลาที่ภาษาไทยใช้คำภาษาบาลี เราไม่ได้เรียนจริงๆ เรามักจะนึกเอาเองว่า คงจะหมายความว่าอย่างนี้ หรือคงจะหมายความว่าอย่างนั้น แม้แต่คำว่า “สมถะ” และคำว่า “วิปัสสนา” ยังไม่ทันรู้ความหมายจริงๆเลย ก็จะทำ แล้วลองคิดดูว่า ยังไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้นแล้วจะทำ แล้วจะให้เป็นอย่างที่ต้องการได้อย่างไร สมถะก็ยังไม่รู้ว่า แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร วิปัสสนาก็ยังไม่รู้ว่า คืออะไร แล้วจะไปทำอะไร แล้วจะได้ผลตรงหรือเปล่า เพราะยังไม่มีความรู้เลย

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา หลังจากตรัสรู้แล้วไม่นานเลย เสด็จจากสถานที่ตรัสรู้เพื่อทรงโปรดเวไนยสัตว์ เสด็จไปป่าอิสิปตนมฤคทายวันเพื่อแสดงพระธรรม เห็นไหมคะว่า ประโยชน์ของพระธรรมจะมีมากสักแค่ไหน และหลังจากนั้นทรงแสดงพระธรรมมากกว่าใครในโลก เมื่อตื่นบรรทมก่อนเสด็จไปบิณฑบาต ก็ตรวจดูด้วยพระญาณว่า ควรเสด็จไปโปรดใคร ถ้าเวลายังเช้านัก ก็เสด็จไปสนทนากับผู้ที่รับฟังพระธรรมแล้วเข้าใจได้ คุ้มกับการเสด็จไปโปรด นี่ก่อนบิณฑบาต และเมื่อบิณฑบาตแล้ว หลังจากเสวยภัตรแล้ว ทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อย ก็ทรงแสดงธรรมกับภิกษุ แล้วตอนเย็นก็มีพวกคฤหัสถ์ไปเฝ้า ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวันหรือที่ไหนก็ตามเพื่อฟังธรรม เมื่อคฤหัสถ์กลับไปแล้ว พระภิกษุก็มาทูลถามปัญหาอีก และหลังจากนั้นเทพเทวดาทั้งหลายก็มาถามปัญหาของตนๆแก่พระองค์

    นี่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตประจำวันทรงแสดงธรรมเพื่อให้เราเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น พระธรรมสำคัญมากที่เราต้องฟังก่อนจะปฏิบัติ แต่ถ้าไม่ฟังก่อน เราจะปฏิบัติผิดหรือเข้าใจผิดได้

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้น ขอให้ศึกษาหรือสิกขาพระธรรมดูก่อนว่า คำนั้นๆ หมายความว่าอะไร อย่างสมถะ ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้อง สมถะ ภาษาบาลี เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วหมายความว่าสงบ เพียงแค่นี้ไม่พอเลย บางคนก็ไปตีความว่า นั่งคนเดียวเงียบๆ แต่นั่นไม่ใช่ค่ะ เพราะเหตุว่าสงบต้องสงบจากอกุศล สงบจากกิเลส จึงจะชื่อว่าสงบจริงๆ ถ้าเราไปตามท้องนาไกลๆ ไม่มีผู้คนเลย มีต้นตาล มีต้นข้าว มีฟ้า มีน้ำ แล้วจะบอกว่า ที่นั่นสงบไม่ได้ ใจของเราต่างหากไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิตว่า ขณะนั้นจิตของเรามีโลภะ มีความต้องการอะไรหรือเปล่า มีโทสะ มีความขุ่นเคืองใจไหม มีอกุศลธรรมใดๆบ้างหรือเปล่า คิดนึกที่เป็นอกุศล เป็นไปในการเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่นหรือเปล่า มีความคิดเรื่องการงานยุ่งๆทั้งวัน จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ ขณะนั้นต้องมีปัญญารู้ว่า ไม่สงบจากกิเลส การนั่งเฉยๆอยู่ในห้อง ก็ไม่สงบจากกิเลส แต่สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่จะสงบกิเลสได้ ก็คือปัญญา

    เพราะฉะนั้น ปัญญาในพระพุทธศาสนา บางคนก็อาจจะคิดว่า รู้แล้ว เข้าใจแล้ว แต่ถ้าศึกษาจริงๆ ก็จะรู้ว่า นั่นปัญญาที่เราคิดเอาเอง ปัญญาในภาษาไทย ปัญญาในสมุดพก ปัญญาที่ครูเขียนมาว่า คนนี้มีสติปัญญามากน้อย แต่ไม่ใช่ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สภาพนี้คือปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจริงๆหมายความว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญาสามารถเข้าใจถูกต้องในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นได้ นั่นจึงจะชื่อว่า ปัญญา

    เพราะฉะนั้น ทุกคนมีจิตใจ แต่ไม่เคยพิจารณาจิต มีแต่ความต้องการ แม้เพียงได้ยินคำว่า “สมถะ” ยังไม่ทันรู้ว่าอะไร ก็อยากจะทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น ความอยาก ขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ ความอยากมีหลายอย่าง บางคนก็ชอบรูปสวยๆ บางคนก็ชอบฟังเพลง เสียงเพราะๆ บางคนก็ชอบกลิ่นน้ำหอม น้ำหอมจึงมีราคาแพงมาก ตามความนิยม หรือตามโลภะของเรา ถ้าเราต้องการกลิ่นนี้แต่ราคาแพงมาก อันนั้นก็เป็นเครื่องวัดโลภะของเราว่า เราต้องการขนาดไหน ต้องการซื้อ หรือต้องการได้กลิ่นนิดหน่อยก็พอ นี่แสดงว่า โลภะไม่เคยห่างเราตั้งแต่เกิด ทางตาต้องการเห็นสิ่งที่สวยงาม ทางหูต้องการเสียงเพราะ ทางจมูกต้องการกลิ่นหอม ทางลิ้นต้องการรสอร่อย ทางกายต้องการสัมผัสสิ่งที่สบาย แม้แต่ในห้องนี้ เราก็ต้องการอากาศเย็นๆสบาย เก้าอี้นุ่มๆ ไม่แข็งเกินไป นี่ก็เป็นความต้องการทางกาย ทางใจก็ยังต้องการเรื่องสนุกสนาน ดูทีวี ดูละคร คิดนึกเรื่องนั้นเรื่องนี้

    นี่แสดงให้เห็นว่า เรามีแต่ความต้องการทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่ในเรื่องคำ เช่นคำว่า “สงบ” หรือคำว่า “นิพพาน” ยังไม่ทันรู้เลยว่า แปลว่าอะไร ก็อยากจะได้แล้ว อยากจะทำเสียแล้ว อยากจะถึงเสียแล้ว แล้วอย่างนี้จะเป็นปัญญาได้อย่างไร แต่นี่เป็นปัญญาในรูปแบบหนึ่ง เพราะเหตุว่าโลภะบางครั้งก็ต้องการกุศล ต้องการอยากจะได้ผลของกุศล อยากจะเป็นคนดี นั่นก็เป็นเรื่องของโลภะ แต่ไม่ใช่เรื่องของปัญญา ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาแล้วต้องรู้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ถ้ากำลังโกรธ สภาพที่โกรธมีจริงๆ ปัญญาสามารถเห็นความกระด้างของจิตในขณะที่โกรธ และรู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมนี้ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นและมีกิจหน้าที่ที่จะกระทำตามกำลังของความโกรธนั้นว่า โกรธมากหรือโกรธน้อยอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นแม้แต่คำว่า สมถะ หรือวิปัสสนา ขอให้มีปัญญาเข้าใจก่อน อย่าเพิ่งทำ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจแล้วทำไม่ได้ คือสงบจากอกุศลทุกประเภท วิปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นแจ้งในลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริงในขณะนี้


    หมายเลข 3486
    1 ก.ย. 2558