ความต่างของปัจจัยเพื่อเน้นความเข้าใจ


    มีท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรในเรื่องอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยบ้างไหมคะ   

    ทรง.   อยากจะทราบความต่างกันของคำว่า อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ยังมองไม่ค่อยเห็นว่าต่างกันอย่างไร ?

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย บางครั้งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงความต่างโดยพยัญชนะ   เพื่อเน้นความเข้าใจที่ถูกต้อง  ขอยกตัวอย่างเช่น  นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย

    นัตถิ   แปลว่าไม่มี   

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่จะเป็นนัตถิปัจจัยได้ ต้องเป็นปัจจัยในขณะที่สภาพธรรมนั้นไม่มี   ไม่ใช่ในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังมีอยู่ แต่ถ้าใช้แต่เพียงพยัญชนะว่า นัตถิปัจจัยเท่านั้น ก็อาจจะทำให้เข้าใจความหมายผิด หรืออาจจะทำให้เข้าใจไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นแม้ในความเป็นปัจจัยของสภาพธรรม  คือ จิตและเจตสิกในขณะนั้นเองก็เป็นปัจจัยโดยเป็นวิคตปัจจัย หมายความว่า   ไม่มีโดยการปราศไป ดับไป ไม่ใช่ว่าเพราะไม่เคยมี   

    เพราะฉะนั้นจิตและเจตสิกนี้เป็นอนันตรปัจจัยเมื่อดับไปแล้ว ทำให้จิตและเจตสิกดวงต่อไป   เกิดต่อ โดยเป็นนัตถิปัจจัย  คือ ต้องเป็นสภาพที่ไม่มีอยู่ในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วจิตดวงต่อไปจะเกิดไม่ได้

    แต่การที่จิตจะเป็นอนันตรปัจจัย  โดยการทำให้จิตดวงต่อไปเกิด  ในขณะนั้นต้องเป็นนัตถิปัจจัยด้วย คือ จะเป็นอนันตรปัจจัย ก็ต่อเมื่อเป็นสภาพที่ไม่มีอยู่ในขณะนั้น คือ เป็นนัตถิปัจจัยด้วย เป็นสภาพที่ไม่มีในขณะนั้น ต้องเป็นสภาพที่ไม่มีโดยปราศไป คือ โดยดับไป ไม่ใช่เพราะไม่เคยมีมาก่อน ฉันใด

    สำหรับอนันตรปัจจัย หมายความถึง จิตและเจตสิกเป็นปัจจัย ทำให้ปัจจยุปบันนธรรม   คือ จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย

    เพราะฉะนั้นสมนันตรปัจจัย  แสดงถึงอนันตรปัจจัยซึ่งทำให้จิตอะไรเกิดต่อ เช่น เมื่อภวังคุปัจเฉทจิตดับไป ต้องมีอนันตรปัจจัย จิตอื่นจึงจะเกิดต่อได้  แต่ว่าจิตที่จะเกิดต่อ ถ้าเป็นการกระทบอารมณ์ทางปัญจทวาร ภวังคุปัจเฉทะเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น ไม่เป็นปัจจัยให้จิตอื่นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นการเป็นอนันตรปัจจัย คือ ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อ  สมนันตรปัจจัยก็คืออนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่าเป็นอนันตรปัจจัยที่ทำให้เฉพาะปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ ไม่ทำให้จักขุวิญญาณหรือจิตอื่นเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ  ถ้าเป็นทางปัญจทวาร

    นี่คือสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ซึ่งผู้อื่นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือบังคับบัญชาให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้นอาจารย์รุ่นหลังบางท่านก็กล่าวว่า อนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้น สมนันตรปัจจัย คือ จิตและเจตสิกดวงก่อนเป็นสมนันตรปัจจัย  โดยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดต่อด้วยดี คือ ตามสภาพความเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยของจิตดวงก่อนว่า เมื่อดับไปแล้วจะเป็นปัจจัยให้จิตประเภทไหน  ดวงไหน ชาติไหนเกิดขึ้น


    หมายเลข 3478
    28 ส.ค. 2558