ชวนวิถีจิตทางปัญจทวารของปุถุชน


    นิภัทร   ผมสงสัยว่า อารมณ์ที่เกิดทางปัญจทวารวิถีตลอดวิถี จะเป็นอารมณ์ปรมัตถ์   ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ในปัญจทวารวิถีก็จะต้องมีชวนะเกิด ในชวนจิตนั้น ถ้าอารมณ์เป็นปรมัตถ์   คือ  ไม่รู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตอนนั้นจะเป็นบุญ เป็นบาปได้อย่างไร  

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังเห็นว่า  การเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ช่างเล็กน้อย และช่างสั้น  นิดหน่อยเสียเหลือเกิน แต่แม้กระนั้นก็ตาม เมื่อไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว  จิตในขณะนั้นต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นชวนะ  คือ เป็นโลภมูลจิต  หรือเป็นโทสมูลจิต  หรือเป็นโมหมูลจิต  ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์  ชวนวิถีทางปัญจทวาร หรือทางมโนทวาร ต้องเป็นกุศล  หรือเป็นอกุศล

    นิภัทร   ทั้ง ๆ ที่อารมณ์นั้นเป็นปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ แน่นอน  แล้วจะเล็กน้อย  แสนสั้น  แสนเร็วแค่ไหนก็ตามแต่  อกุศลจิตก็เกิดแล้ว

    แต่สำหรับอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย แสดงวิสยปวัตติ  คือ จิตที่เกิดขึ้นเป็นไปรู้อารมณ์ตามทวารต่าง ๆ โดยละเอียดว่า จิตขณะไหนเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้จิตดวงใดเกิดต่อ

    ขอยกตัวอย่างทางปัญจทวาร ทวารหนึ่งทวารใด คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น   ทางกาย  วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป โดยนัยของปฏิจจสมุปปาท

    วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปซึ่งได้กล่าวถึงแล้วว่าได้แก่ เจตสิก และกัมมชรูป ซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณ และหลังจากนั้นแล้วก็เป็นปัจจัยให้อายตนะเกิด  เพราะเหตุว่า   นามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ เมื่อมีตาซึ่งเป็นกัมมชรูป เกิดขึ้นเพราะกรรม  มีหู  มีจมูก มีลิ้น มีกาย   เกิดขึ้นเพราะกรรม  ที่จะไม่ให้เป็นอายตนะ คือ ไม่เป็นทางที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นอนันตรปัจจัย  เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิด  ดับแล้ว   นามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ  เพราะเหตุว่าจักขุปสาทเมื่อถึงกาลหรือเวลาที่จะเกิด  กรรมก็เป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปเกิดดับ แต่ยังไม่เป็นอายตนะ ถ้าขณะนั้นผัสสะยังไม่กระทบกับรูปารมณ์   เพราะฉะนั้นก็ยังคงเป็นแต่เพียงกัมมชรูป เป็นจักขุปสาทรูป เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษ ที่ใส  ที่จะรับกระทบเฉพาะกับสิ่งที่ปรากฏทางตา

    โสตปสาทรูปก็เป็นกัมมชรูป  เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม  ไม่สามารถจะมองเห็นได้ ใครจะใช้กล้องจุลทัศน์ไปส่องไปขยายอย่างไรก็ตาม ไม่สามารถที่จะเห็นจักขุปสาท หรือโสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท หรือรูปอื่น ๆ ทั้งหมดเลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา  ซึ่งใช้คำว่า แสงหรือสี   หรือวัณณะ หรือรูปารมณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ หรือไม่ต้องใช้คำอะไรเลยก็ได้ เพราะเหตุว่าในขณะนี้   สภาพธรรมนั้นเองเป็นของจริงที่กำลังปรากฏ  เพราะกระทบกับจักขุปสาท

    เพราะฉะนั้นปสาทรูปทั้งหมดเป็นสภาพที่ใส เมื่อเปรียบเทียบกับความใสของกระจก ซึ่งสามารถจะรับกระทบกับอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเวลาที่ภวังคจิตดับแล้ว นามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ ต้องในขณะที่อารมณ์กระทบกับทวารหนึ่งทวารใด ทวารนั้นจึงเป็นอายตนะ เพราะเหตุว่าอายตนะมี ๖   คือ  จักขวายตนะ  ได้แก่   จักขุปสาทรูป  ๑ โสตายตนะ  ได้แก่   โสตปสาทรูป  ๑  ฆานายตนะ  ได้แก่   ฆานปสาทรูป  ๑ ชิวหายตนะ   ได้แก่   ชิวหาปสาทรูป ๑  กายายตนะ   ได้แก่   กายปสาทรูป  ๑  มนายตนะ   ได้แก่   จิตทุกดวง   

    ในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึงทวาร แต่กล่าวถึงอายตนะ เพราะฉะนั้นมนายตนะ ได้แก่ จิตทุกดวง   เพราะเหตุว่าจิตทุกดวงรู้อารมณ์

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อ โดยอนันตรปัจจัย และขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขวายตนะ คือ กระทบกับจักขุปสาทรูป โดยความละเอียดท่านอรรถกถาจารย์   ท่านก็ยังให้คำอธิบายไว้ว่า เมื่อรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ทำไมภวังคจิตจึงไหว  เพราะเหตุว่า   ภวังคจิตไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท 

    นี่แสดงให้เห็นถึง ความละเอียดของสภาพที่เป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม

    สิ่งที่ปรากฏทางตา แม้แต่พระอาทิตย์หรือพระจันทร์ ซึ่งอยู่ไกลก็ยังเป็นอารมณ์ได้   สามารถจะกระทบกับจักขุปสาทรูปได้ สำหรับจักขุปสาทรูปกับหทยวัตถุรูป อยู่ไกลกันถึงกับจักขุปสาทกับพระอาทิตย์ พระจันทร์ไหมคะ  หรือว่าใกล้กว่านั้น   เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปัญหาเลยที่ว่า   เมื่อรูปารมณ์กระทบกับจักขายตนะ  คือ จักขุปสาทแล้ว ภวังคจิตไหว เพื่อที่จะรู้อารมณ์ต่อไป   เพราะเหตุว่าถ้าภวังคจลนะไม่เกิดขึ้นไหว วิถีจิตจะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นทางปัญจทวาร   ต้องอาศัยรูปหนึ่งรูปใด กระทบกับทวารหนึ่งทวารใด เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตไหว 

    คำอุปมาในอรรถกถามีว่า  เหมือนกับแมลงวันซึ่งเกาะอยู่ที่ก้อนกรวดบนกลองด้านหนึ่ง และเวลาที่มีคนตีกลองอีกด้านหนึ่ง  ก้อนกรวดก็ไหวตามความไหวของกลอง และเชือก และหนังกลอง แล้วแมลงวันก็บินไป

    นี่ก็แสดงให้เห็นการเป็นปัจจัย ซึ่งแม้ว่ารูปารมณ์ไม่ได้กระทบกับหทยวัตถุ ซึ่งภวังคจิตกำลังเกิด  แต่แม้กระนั้นก็ไม่ได้ไกลกันเหมือนกับพระอาทิตย์ พระจันทร์ ที่จะมาเป็นอารมณ์ของการเห็นได้  ฉันใด เวลาที่รูปารมณ์กระทบกับจักขวายตนะ คือ จักขุปสาท  ภวังคจลนจิตก็เกิด   แล้วก็ดับ  เมื่อดับแล้ว  ภวังคจลนะเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ให้เกิดภวังคุปัจเฉทะ   และเมื่อภวังค์คุปัจเฉทะดับ  ภวังคุปัจเฉทเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นแล้วดับ ต่อจากนั้นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ก็ทำให้จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นแล้วดับ สัมปฏิจฉนะเกิดแล้วดับ  สันตีรณจิตเกิดแล้วดับ โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วดับ  ชวนะ ซึ่งต้องเป็นอกุศลหรือกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์  คือ ผู้ที่เป็นปุถุชนถึง ๗ ขณะ  ทั้ง ๆ ที่เป็นปัญจทวารวิถี อย่างรวดเร็ว  เป็นปรมัตถ์อารมณ์  และยังไม่รู้ด้วยว่า  ขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอะไร  แม้กระนั้นก็ให้เห็นสภาพความเป็นปัจจัยว่า

    เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับแล้ว  ชวนะต้องเกิด  และสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์  ชวนะต้องเป็นกุศลหรืออกุศล  เพราะฉะนั้นถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ชวนะก็ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด   คือ เป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต  เกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ขณะ  และถ้าเป็น ตทาลัพนวาระ คือ รูปารมณ์นั้นยังไม่ดับไป ตทาลัมพนจิตก็เกิดต่อ

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่ง ๆ อกุศลมากแค่ไหน  ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ก็ไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นอกุศลมากเหลือเกินในวันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด แต่นี่คืออนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย   ทางปัญจทวาร

    สำหรับทางมโนทวารวิถี วิสยปวัตติ คือการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวาร มี ๒ วาระ คือ   ถ้ามโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ชวนจิตเกิดต่อ และตทาลัมพนจิตเกิดต่อ นั่นเป็นตทาลัมพนวาระ

    แต่บางครั้ง บางคราว เวลาที่มโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ชวนวิถีจิตเกิดสืบต่อ ๗ ขณะ   และไม่มีตทาลัมพนจิต ก็เป็นชวนวาระ

    เพราะฉะนั้นสำหรับทางปัญจทวารขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่กระทบว่า เมื่อกระทบแล้ว   ภวังคจิตจะไหวทันที หรือว่ากระทบหลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งวิถีจิตไม่สามารถจะเกิดถึงตทาลัมพนะได้ หรือไม่สามารถที่วิถีจิตจะเกิดถึงชวนะได้ มีเพียงแค่โวฏฐัพพนะ หรือไม่สามารถแม้วิถีจิตจะเกิดเลย มีแต่เพียงภวังคจลนะเท่านั้น นั่นก็เป็นวิถีจิตทางปัญจทวารซึ่งต้องอาศัยรูป ตามกำหนดอายุของรูป แต่ว่าทางมโนทวารแล้วก็มีเพียง ๒ วาระ คือ ตทาลัมพนวาระ และชวนวาระ   ตามอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ไม่มีใครหยุดยั้งได้ ขณะจิตที่ดับไป หมดแล้ว แต่ว่าเป็นอนันตรปัจจัย   และสมนันตรปัจจัยให้ขณะนี้เกิดสืบต่อเรื่อย ๆ


    หมายเลข 3607
    28 ส.ค. 2558