เหตุปัจจัยในชีวิตประจำวัน


    วันหนึ่งๆ เคยพิจารณาเห-ตุปัจจัยบ้างไหมคะ ทุกท่านมีกิจการงานที่กระทำอยู่เสมอ   ในวันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่รู้ลักษณะของเห-ตุปัจจัยแน่นอนว่า ในขณะที่ตื่นขึ้นมา ทำกิจวัตรประจำวัน  ในขณะนั้นเป็นเพราะเห-ตุปัจจัยอะไร แต่ถ้าสติเกิดจะทราบได้ว่า  ไม่พ้นจากโลภเห-ตุ คือ โลภเจตสิก  แต่เป็นอย่างชนิดที่บางและละเอียด และไม่ปรากฏลักษณะของความเป็นอกุศลธรรมอย่างแรง เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่รีบร้อน และพยายามทบทวนเรื่องของปัจจัยทั้ง ๕   ตามที่ได้ฟังแล้ว ก่อนที่จะถึงปัจจัยที่ ๖ ก็อาจจะเกื้อกูลอุปการะให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวันได้  เพราะเหตุว่าข้อที่ควรจะได้ทราบที่จะเป็นประโยชน์กับสติปัฏฐาน   ก็คือ สำหรับเห-ตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเป็นเหตุ  คือ  โลภเจตสิก  โทสเจตสิก  โมหเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิก เป็นปัจจัยให้เกิดรูปด้วย ไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดจิตเท่านั้น

    และในชีวิตประจำวัน  ท่านผู้ฟังเห็นรูปปรากฏภายนอก และอาจจะบอกได้ว่า คนนี้กำลังมีโลภะ หรือว่าคนนั้นกำลังมีโทสะ เพราะเหตุว่าเจตสิกซึ่งเป็นเหตุปัจจัย นอกจากจะทำให้จิตเกิด   แล้วยังเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดด้วย  แต่ว่าประโยชน์ คือ ถ้าท่านระลึกรู้ลักษณะของรูป ในขณะที่เป็นโลภะ หรือในขณะที่เป็นโทสะ ในขณะนั้นจะรู้ว่า  รูปนั้นเป็นเช่นนั้น เพราะโลภะเป็นเห-ตุปัจจัย   หรือโทสะเป็นเห-ตุปัจจัยทำให้รูปนั้นเกิดเป็นอย่างนั้น

    ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านก็ยิ้มแย้มแจ่มใส  สติระลึกหรือเปล่า ถ้าสติไม่ระลึก ก็ไม่รู้ว่า   ขณะนั้นเป็นเพราะกุศลหรืออกุศลเป็นปัจจัย หรือเป็นเพราะโลภมูลจิต โลภเจตสิกเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การยิ้มแย้ม หรือการหัวเราะนั้นเกิดขึ้น เวลาที่ร้องไห้เสียใจ ก็อาจจะมีใช่ไหมคะ  ถ้าร้องไห้เสียใจไปเปล่าๆ  โดยที่สติปัฏฐานไม่เกิด  ก็ไม่รู้ว่า   แท้ที่จริงในขณะนั้น รูปนั้นเกิดขึ้น เพราะโทมนัสเวทนาเกิดกับโทสมูลจิต  ซึ่งเป็นอกุศลจิตในขณะนั้น ทำให้รูปนั้นเป็นอย่างนั้น

    และนอกจากการยิ้มแย้ม การหัวเราะ หรือการร้องไห้แล้ว  แม้แต่ความไม่แช่มชื่นของจิต   ก็จะทำให้ลักษณะของหน้าหรือกิริยาอาการในขณะนั้น  ปรากฏเป็นไปด้วยสภาพของโทสมูลจิต   ซึ่งเป็นเหตุในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวัน เมื่อสติระลึก ก็สามารถที่จะรู้ความเป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันในภูมิที่มีขันธ์ ๕  เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมขณะหนึ่ง ต่อไปก็อาจจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนา คือ ความรู้สึก หรือต่อไปก็อาจจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นได้ เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้จำกัดว่า   จะต้องรู้เฉพาะรูปหนึ่งรูปใดเท่านั้น  แต่ว่ามหาสติปัฏฐาน คือ สติระลึกเป็นไปในอารมณ์ต่าง ๆ ทุกอย่าง ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้นสำหรับเรื่องของเห-ตุปัจจัย  คงจะไม่มีข้อสงสัยอะไร แต่ก็ควรที่จะได้ทราบความพิเศษ หรือความต่างกันของปัจจัยทั้ง ๕ ปัจจัยนั้นด้วย


    หมายเลข 3757
    28 ส.ค. 2558