อรณวิภังคสูตร ๑ (เรื่องของคำพูด)


    เรื่องของคำพูดมีมาก ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องของคำพูดไว้มาก ทรงโอวาทเพื่อที่จะให้พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละเว้นวจีทุจริตทุกประการ

    ข้อความใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อรณวิภังคสูตร ณ พระวิหาร เชตวัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องการพูดที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ แต่พระสูตรนี้ยาวมาก จะขอกล่าวถึงข้อความบางประการ

    ข้อ ๖๖๐ มีว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น พึงรู้วาทะลับหลังใดไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด

    แม้รู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น และรู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น

    เป็นชีวิตจริงใช่ไหม ซึ่งตรงกับข้อความที่เขียนถามมาว่า ทราบความประพฤติของสามีว่า พรั่งพร้อมด้วยสุรา นารี พาชี และถูกภรรยาของผู้นั้นสอบถามถึงความประพฤติต่างๆ เหล่านั้น เราก็บอกเล่าโดยละเอียดให้ภรรยาของผู้นั้นทราบ อย่างนี้จะจัดเป็นอสัตบุรุษหรือไม่

    นี่เป็นวาทะลับหลัง แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงรู้วาทะลับหลังใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด

    ถ้าไม่จริง ไม่กล่าวเลย เพราะฉะนั้น ที่รู้นี้จริงแค่ไหน ถ้าจริงหรือเท็จยังไม่ทราบ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    ข้อความต่อไปที่ว่า แม้รู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น ทรงเพ่งเล็งถึงประโยชน์ สำคัญที่สุด และรู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น

    ครบทุกประการ ถึงแม้ว่าจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น

    แสดงให้เห็นว่า เรื่องของคำพูดต้องระวังจริงๆ และให้เป็นประโยชน์จริงๆ มิฉะนั้น ท่านไม่ทราบเลยว่า จะเกิดความเสียหายกับคนอื่นมากน้อยสักแค่ไหน อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ได้ อาจจะมีเรื่องใหญ่โตร้ายแรงเกิดขึ้นก็ได้จากคำพูดเพียงไม่กี่คำ โดยความไม่ระวังของท่าน

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น พึงรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด

    แม้รู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น และรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น

    ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว ฯ

    แม้แต่วาทะ หรือคำพูดลับหลัง หรือคำล่วงเกินต่อหน้า ก็ต้องระวังไปทุกประการสำหรับผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงโอวาทแม้ภิกษุผู้มีชีวิตอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพราะทรงทราบชัดถึงการสะสมของจิตของภิกษุแต่ละรูปว่า มีการสะสมมาต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส สะสมมาอย่างไร แม้ว่าจะบรรพชาอุปสมบทแล้ว ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้เป็นวจีทุจริตประการต่างๆ ซึ่งจะต้องขัดเกลาจริงๆ พร้อมด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นตามความเป็นจริง จึงจะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่อไป

    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๖๖๑

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น เมื่อรีบด่วนพูด กายก็ลำบาก จิตก็แกว่ง เสียงก็พร่า คอก็เครือ แม้คำพูดของผู้ที่รีบด่วนพูดก็ไม่สละสลวย ไม่พึงรู้ชัดได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น เมื่อไม่รีบด่วนพูด กายไม่ลำบาก จิตก็ไม่แกว่ง เสียงก็ไม่พร่า คอก็ไม่เครือ แม้คำพูดของผู้ที่ไม่รีบด่วนพูดก็สละสลวย พึงรู้ชัดได้

    ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว ฯ

    ยังจะรีบด่วนพูดอีกไหม ก็แล้วแต่ปัจจัยอีกเหมือนกัน บังคับบัญชาอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว มีหน้าที่ที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้จริง จึงจะละได้

    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๖๖๒

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญเสีย นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท


    หมายเลข 3472
    9 ต.ค. 2566