สมาธิเป็นบาทของวิปัสสนาได้อย่างไร


    สุกิจ   อยากให้ท่านอาจารย์บรรยายธรรมในลักษณะเริ่มต้นค่ะ

    ถาม   อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายว่า การนั่งสมาธิให้จิตสงบแล้วเป็นบาทฐานของปัญญา วิปัสสนาก็จะทำได้ง่ายกว่า

    ส.   ความจริงสำคัญที่สุดคือการตั้งต้น เราจะไปทางไหน ทำอะไรก็ตาม ถ้าเราตั้งต้นผิด ก็ไปผิดตลอดเลย

    เพราะฉะนั้น เรื่องของพระพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องละเอียดและเป็นเรื่องของปัญญา เพราะเหตุว่าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อละ ถ้าเราไม่ถึงจุดนี้ เรามีแต่จะได้ จะเอา จะทำ ซึ่งนั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนาเลย

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนที่อยู่ที่นี่พร้อมที่จะละ หรือพร้อมที่จะได้ พร้อมที่จะเอา ละความไม่รู้ ละความเห็นผิด ละความยึดมั่น ละความติดข้อง ซึ่งเราติดมาแล้วในสังสารวัฏ ในสังสารวัฏที่ยาวนาน ยังยาวต่อไปอีก ถ้ายังมีความติดข้อง ยังมีความต้องการในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นแม้แต่เพียงขั้นต้นคือฟัง เรายังต้องตั้งต้นเพื่อละ ถ้าไม่ฟังเพื่อละแล้ว จะไม่เข้าถึงพระพุทธศาสนาเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครชักชวนให้ไปนั่งแล้วทำ ใจของเราขณะนั้นต้องการแล้ว ติดข้องแล้ว ไม่มีปัญญาแล้ว เพราะไม่รู้เลยว่า นั่งอะไร ทำอะไร ปัญญารู้อะไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องไม่รู้ พอเป็นเรื่องไม่รู้ โลภะจะพาไปทันที อย่างที่บอกว่า โลภะเป็นทั้งอาจารย์ เป็นทั้งศิษย์ เวลาเป็นอาจารย์ เขาก็คิดให้ทำโน่นทำนี่ คิดเสร็จ ลูกศิษย์ก็ทำตาม อย่างนี้มาในสังสารวัฏ โลภะจะนำ และลูกศิษย์คือโลภะก็ติดตามไปเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคนนั้นจะต้องเข้าใจความหมายของ “พุทธะ” ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าไม่ศึกษา ไม่มีทางที่ใครจะรู้ความจริง ใครจะบอกว่า ไปนั่งอย่างไรๆ ก็ตามแต่ แต่ก็ไม่สามารถรู้ความจริงได้ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม เพราะว่าทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นสาวก คือผู้ฟังพระธรรม และผู้ฟังพระธรรม เรารู้ได้เลยว่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟังเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่ ถ้าเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าต้องทำให้เกิดปัญญา ความเข้าใจ แม้จะมากหรือจะน้อยอย่างไรก็ตามแต่ แต่ต้องเป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในอะไร ในสิ่งที่ปรากฏ ที่มีจริงๆ ในขณะนี้แต่ละขณะๆ นี่คือปัญญาที่สามารถละกิเลสได้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้น ๑. ต้องฟัง ไม่ใช่ไปนั่ง


    หมายเลข 3269
    1 ก.ย. 2558