ปฏิบัติธรรมแค่ไหนจึงจะสมควรแก่ธรรม


    ถาม   ขอถามเรื่องการเจริญพรหมวิหาร กรุณา มุทิตา และอุเบกขาไปพร้อมไปกับเมตตา

    ส.   ก็เป็นเรื่องของการอบรม และรู้ว่าทั้ง ๔ อย่างนี้ต่างกัน คือ เมตตา มีความปรารถนาดี มีความเป็นมิตร ต้องการให้คนอื่นมีความสุข กรุณาก็คือคนอื่นมีความทุกข์ ก็เห็นใจ ช่วยเหลือให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์ เวลาที่มีกรุณา หมายความว่าขณะนั้นต้องเป็นกุศล ซึ่งคนอื่นที่ยังมีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ก็ยังมีกุศลเกิดสลับได้ เพราะบางคนกรุณาคนที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่มีความสำคัญตนได้ ใช่ไหมคะ หรือมีความถือตัวก็ได้ นี่ก็ต้องมีความละเอียดขึ้น มีกุศลอย่างหนึ่ง และกุศลอย่างอื่นก็ควรเจริญด้วย ไม่ใช่ในขณะนั้นก็คิดถึงคนขอทาน แล้วมีคนบอกว่า เขาก็ให้เงินขอทาน แต่ด้วยความคิดว่า เขามีเงินทอง มีทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่า เพราะฉะนั้น เขาอยากจะช่วยคนที่ด้อยกว่า แต่จริงๆแล้วขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตอย่างละเอียด แม้ให้ก็จริง แต่สำคัญตนในขณะที่ให้หรือเปล่า แต่ถ้าเป็นกุศลจริงๆ ก็คือขณะนั้นไม่มีอกุศลเกิดสลับ แต่ก็เป็นเรื่องที่ถึงมี ก็เป็นเรื่องที่เป็นจริง ทุกอย่างที่เป็นจริงต้องยอมรับตามความเป็นจริง คือเปลี่ยนไม่ได้ แต่สามารถเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งยังไม่ได้ดับสนิท ไม่เกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่สภาพธรรมนั้นจะเกิดในระดับใดก็เกิดขึ้นเป็นไปในระดับนั้น มุทิตาก็คือเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุข เราก็พลอยยินดีด้วย แต่ไม่ใช่โลภะ เพราะถ้ายินดีเกินไป ขณะนั้นก็เป็นโลภะแล้ว พ้นขีดของการอนุโมทนาในกุศลที่เขาได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าได้ดีมีสุข ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ ทุกอย่างต้องมาจากกุศลกรรม ต้องเป็นผลของกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ถ้าใครได้ เราก็รู้ว่า มาจากเหตุคือกุศลกรรม ก็ยินดีด้วยในผลที่เขาได้รับ แม้ว่าจะเพียงชั่วคราว เพราะทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนไป สามารถรู้ถึงเหตุในอดีตได้ว่า ทำให้เกิดสิ่งที่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นผลของกุศล พลอยยินดีด้วย คือไม่ริษยา

    อุเบกขาก็คือว่า ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะประสบกับสิ่งที่น่ายินดียินร้าย ถ้าเราไม่สามารถจะช่วยได้ ก็ไม่เดือดร้อน


    หมายเลข 3225
    1 ก.ย. 2558