อักโกสกสูตร


    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อักโกสกสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ฯ

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดมแล้ว ดังนี้ โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ

    นี่สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อมีปัจจัยของความโกรธอย่างแรงเกิดขึ้น ก็เป็นเหตุให้กระทำกายวาจาต่างๆ ได้ในทางที่ไม่ควร และไม่ใช่มีแต่ในครั้งนั้น แม้ในครั้งนี้ มองเห็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมชัดเจนในแต่ละเหตุการณ์ ในแต่ละเรื่อง ซึ่งท่านได้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้ฟังบ้าง เพราะฉะนั้น ก็มองหรือเห็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าเห็นการด่า การบริภาษ ก็ไม่ใช่เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ แต่เห็นลักษณะของความโกรธอย่างแรงซึ่งเป็นปัจจัยให้กายวาจากระทำในสิ่งที่ไม่ควรในขณะนั้น

    บางครั้งคงจะสังเกตเห็นลักษณะของมานะ ซึ่งเป็นการกระทำให้กายวาจา หวั่นไหวไปในทางที่ยกตนและข่มผู้อื่น เป็นสภาพธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่ควรที่จะเห็นเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้เลย เมื่อสภาพธรรมใดสะสมมามากในทางใด ก็จะมีปัจจัยให้เกิดการกระทำทางกายและวาจาอย่างนั้น แม้แต่กับบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สมควรแก่การที่จะด่าบริภาษเลย เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เมื่ออักโกสกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ว่า

    ดูกร พราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของท่าน ย่อมมาบ้างไหม ฯ

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า

    พระโคดมผู้เจริญ มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้าพระองค์ย่อมมาเป็นบางคราว ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านจัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่ม ต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างหรือไม่ ฯ

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า

    พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์จัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่ม ต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างในบางคราว ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ก็ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้นจะเป็นของใคร ฯ

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า

    พระโคดมผู้เจริญ ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้น ก็เป็นของข้าพระองค์อย่างเดิม ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับเรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว แล้วตรัสต่อไปว่า

    ดูกร พราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่ ดูกร พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคร่วมกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ฯ

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า

    บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ย่อมทราบพระโคดมผู้เจริญอย่างนี้ว่า พระสมณ-โคดมเป็นพระอรหันต์ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระโคดมผู้เจริญจึงยังโกรธอยู่เล่า ฯ

    เข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคยังโกรธ แม้ว่าจะไม่ด่าตอบ ก็ยังคงจะมีความขุ่นใจ หรือความไม่พอใจอยู่บ้าง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้ว มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ สงบ คงที่อยู่ ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็น ผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธนั้นแหละ เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคล ผู้โกรธแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของบุคคลอื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา ดังนี้ ฯ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ ฉะนั้น

    ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ ฯ

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชา ได้อุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มี-พระภาค ก็ท่านอักโกสกภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบมีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระอักโกสกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล ฯ

    ผู้ที่ได้เห็นพระคุณของพระธรรมจริงๆ ก็คงจะเป็นผู้ที่ได้เจริญบารมีมาแล้ว พร้อมที่จะสามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้โดยไม่นาน เพราะฉะนั้น อบรมในขณะนี้ทันที ไม่เพ็งเล็งถึงบุคคลอื่นที่จะทำให้จิตของท่านไม่แช่มชื่น

    ไม่ว่าจะฟังพระธรรมใดๆ ขอให้ระลึกถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ได้ทรงแสดง อกุศลธรรมของใครก็เป็นของคนนั้น เมื่อบุคคลอื่นไม่รับ อกุศลธรรมของบุคคลนั้นก็ไม่เกิด พร้อมกันนั้นก็จะเป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหว เพราะสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เกิดตามความเป็นจริง

    เมื่อเห็นว่าเป็นอกุศล ก็จะเกิดหิริโอตตัปปะ รังเกียจทันทีในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย แม้เพียงเล็กน้อยก็ควรจะเห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นโทษ เป็นภัย เมื่อเป็นอกุศลธรรม


    หมายเลข 2863
    9 ต.ค. 2566