อานาปานสติไม่ใช่รู้เฉพาะลมอย่างเดียว


    อานาปานสังยุตต์ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เอกธรรมสูตร ข้อ ๑๓๐๕ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

    เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ยาว หายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า สั้น

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

    ผู้ที่มีสติแล้วจะต้องรู้อย่างอื่นด้วย ไม่ใช่รู้แต่เฉพาะลมหายใจเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ให้มีอย่างอื่นเกิดขึ้นปรากฏ จะให้มีแต่ลมหายใจปรากฏอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโดยนัยของการเจริญสมาธิ หรือการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่จะให้การเจริญอานาปานสติมีผลมาก มีอานิสงส์มากแล้ว ไม่ใช่รู้เฉพาะลมอย่างเดียว ถ้าเป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิที่รู้ลักษณะของลม ก็เป็น อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

    แต่ถ้าอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

    เวลาที่จิตเริ่มสงบ เพราะสติระลึกที่ลมหายใจ ยับยั้งปีติได้ไหม พอจิตสงบปีติก็เกิด เพราะฉะนั้น สติตามระลึกด้วย สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าลักษณะของนามใดรูปใดเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย สติจะต้องระลึกรู้เพื่อละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เราไม่ได้ยึดถือแต่ลมว่าเป็นตัวตน เวทนา ความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นขณะใด ก็ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักณษะของปีติ ในขณะที่หายใจออก ในขณะที่หายใจเข้า จะละการเห็นผิดที่เคยยึดถือปีติว่าเป็นตัวตนได้อย่างไร

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าเป็นอานาปานสติ ก็จะต้องรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏด้วย และสำหรับข้อความที่ว่า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก-หายใจเข้า ... เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก-หายใจเข้า ... เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก-หายใจเข้า

    ก็เป็นนัยของการเจริญสติปัฏฐานที่เป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่เนื่องกับลมหายใจ


    หมายเลข 2832
    24 ก.ย. 2566