สมาธิ กับ ปัญญา


    คงจะมีหลายท่านเหมือนกันที่เพ่งจ้อง กำหนดลมหายใจ แล้วระลึกได้บ้างไหมว่า กำลังจดจ้อง หรือกำลังต้องการที่จะให้สงบ หรือจะให้รู้ชัด แต่ที่จริงปัญญารู้แล้วละ ไม่ยึดถือ ไม่ใช่ไปจดจ้อง นี่เป็นความต่างกันของสมาธิกับปัญญา

    ถ้าเป็นสมาธิ ก็ให้จดจ้องอยู่ที่เดียว ไม่ให้ไปสู่อารมณ์อื่น แต่ถ้าเป็นปัญญาพิจารณา รู้ แล้วละ แต่ขอให้ผู้ที่เจริญสติพิจารณาว่า ถ้าปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทั่วถ้วนจริงๆ จะคลายความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ไหม

    ถ้าจำกัดปัญญาให้รู้เพียงเล็กน้อย ทางตาให้รู้แค่นั้น ทางหูให้รู้แค่นี้ ไม่ให้ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปทั้งปวง ไม่ว่าภายใน หรือภายนอก อย่างนั้นแล้วก็ไม่สามารถละความหวั่นไหว ความเห็นผิด การยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้

    การหลงลืมสติในวันหนึ่งๆ มีมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากำลังมีสิ่งใดเป็นอารมณ์ ภายใน หรือภายนอกก็ได้ เพราะว่าปกติเป็นผู้ที่หลงลืมสติ ก็ควรเป็นผู้ที่ระลึกได้ ไม่ว่ากำลังมีกายภายใน หรือภายนอกเป็นอารมณ์ เวทนาภายใน หรือภายนอกเป็นอารมณ์ จิตภายใน หรือภายนอกเป็นอารมณ์

    ถ้าคิดก็ต้องรู้ว่าเป็นนามชนิดหนึ่ง การเจริญสติปัญญาจะต้องรู้ละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น มากขึ้น ทั้งๆ ที่กำลังหายใจเข้าหรือออกก็ตาม ยาวหรือสั้นก็ตาม ถ้าในขณะนั้นมีความพอใจเกิดขึ้น สติระลึกรู้สภาพที่พอใจว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งก็ได้

    ไม่ใช่ว่าให้บังคับ จดจ้องที่ลมหายใจอย่างเดียว ไม่ใช่อย่างนั้น โดยนัยนั้นจะไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิ

    กายมีอยู่ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น ไม่ใช่ให้ไปติดไปยึดถือว่าเป็นตัวตน ถ้าเป็นสมาธิก็ไม่ให้ไปที่อื่นเลย ให้จิตสงบรู้ชัดที่ลมหายใจ เป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นั่นเป็นเรื่องของสมาธิ แต่ว่าเรื่องของสติปัฏฐาน กายมีอยู่ ลมหายใจมีอยู่ เพียงเป็นเครื่องระลึก ให้ระลึกได้แล้วก็ให้รู้ชัด แล้วก็ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน


    หมายเลข 2740
    24 ก.ย. 2566