สมมติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ


    ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ  แต่ว่าสิ่งที่รวมกัน แล้วเกิดความทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือแม้แต่คำภาษาที่ใช้ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นบัญญัติ หมายความว่าเป็นสิ่งที่กล่าวขานให้รู้ความหมายของสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้นชื่อทั้งหมดเป็นบัญญัติ แต่สภาพธรรมแม้ไม่มีชื่อก็มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่จำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อให้เข้าใจว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร

    ทุกคนมีชื่อหมดเลย ใช่ไหมคะความจริงก็คือ ขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แล้วจะเรียกยังไงคะ ถ้าไม่มีชื่อทำให้สะดวกขึ้น ขันธ์ทางซ้าย ขันธ์แถวที่ ๖ หรืออะไรอย่างนี้ก็ลำบาก หรือว่าขันธ์ ๕ สร้างพระวิหารเชตวันอย่างนี้คะ แต่ถ้ากล่าวว่าท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระวิหารเชตะวัน เราก็เข้าใจๆได้แล้วก็ไม่เข้าใจผิดว่า หมายถึงขันธ์ ๕ ไหน ก็ขันธ์ ๕ ที่ใช้คำว่าท่านอนาถบิณฑิก ใช้ชื่อนั้นเป็นผู้สร้าง

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจนะคะ ว่า มี ๒ อย่าง สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ถ้าสมมติสัจจะ  ก็เป็นบัญญัติ ถ้าปรมัตถสัจจะก็เป็นปรมัตถ์

    พอจะเข้าใจความต่างของสัจธรรมที่เป็นปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะ เพราะถ้าเป็นปรมัตถสัจจะ หมายความถึงเป็นปรมัตถธรรมมีจริงๆ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถ์ แต่ถ้าเป็นสมมติสัจจะ ก็คือเป็นสิ่งที่มีจริงโดยคำที่ใช้ให้เข้าใจความหมายนั้นเท่านั้น เช่น ถ้วยแก้ว เป็นสัจจะไหนคะ ปรมัตถสัจจะหรือสมมติสัจจะ ถ้วยแก้ว สมมติสัจจะ จาน ช้อน ส้อมพวกนี้ก็สมมติสัจจะ แต่ลักษณะที่แข็งเป็นปรมัตถสัจจะ

    เพราะฉะนั้นก็สามารถจะแยกสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม จริงโดยความที่เป็นลักษณะนั้นที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถสัจจะ


    หมายเลข 2667
    26 ส.ค. 2558