ภิสชาดก ตอนที่ ๒


    น้องสาวของท่านกล่าวสัจจปฏิญาณว่า

    ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้พระมหากษัตริย์ผู้เป็นเอกราช ทรงปราบปรามศัตรูได้ทั่วพื้นปฐพี ทรงสถาปนาให้หญิงนั้นเป็นยอดสตรีจำนวนพัน ขอหญิงนั้นจงเป็นมเหสีผู้ประเสริฐกว่านางสนมทั้งหลายเถิด

    อาจจะเป็นจุดปรารถนาที่สูงสุดของผู้หญิง สตรีบางท่านที่คิดปรารถนาอย่างนี้ แต่สำหรับผู้ที่มีจิตมั่นคงปรารถนาที่จะดับกิเลส ซึ่งเป็นน้องสาวของดาบสนั้น กลับกล่าวสัจจปฏิญาณ เป็นคำสาปแช่ง

    บางทีท่านผู้ฟังอาจจะสงสัย เพราะในอดีตก็มีพระมเหสีหลายท่านที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยะเจ้า แสดงให้เห็นว่า แต่ละชีวิตย่อมแตกต่างกันไปโดยละเอียดตามการสะสม และผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่จำกัดเฉพาะผู้ที่เป็นบรรพชิตเท่านั้น แม้คฤหัสถ์ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ว่าแล้วแต่ความตั้งใจ สัจจปฏิญาณของแต่ละท่านในแต่ละชาติ

    ข้อความต่อไป ทาสีได้กล่าวสัจจปฏิญาณว่า

    ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้หญิงนั้นจงเป็นทาสีไม่สะดุ้งสะเทือน กินของดีๆ ในท่ามกลางคนทั้งปวงที่มาประชุมกันอยู่ จงเที่ยวโอ้อวดลาภอยู่เถิด

    นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก แต่ไม่มีข้อความตามที่ท่านผู้นี้เขียนมาว่า ดาบสผู้เป็นทาสีจึงสาบานว่า ถ้าดิฉันขโมยเหง้าบัวส่วนนั้นแล้ว ขอให้ตายไปเกิดเป็นภิกษุณี มีวาจาฉาดฉานในอภิธรรม ใครๆ รอหน้าไม่ติดเถิด

    ไม่ทราบว่าท่านนำมาจากส่วนไหนในพระไตรปิฎก ซึ่งไม่มีเลย

    ข้อความต่อไป เทวดาผู้อารักษ์ป่าซึ่งอยู่ในที่นั้น ได้กล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้เป็น เจ้าอาวาสในวัดใหญ่ๆ จงเป็นผู้ประกอบนวกรรม (คือ การก่อสร้าง) ในเมืองกชังคละ จงกระทำหน้าต่างตลอดวันเถิด

    ช้างกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ช้างเชือกใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ช้างเชือกนั้นจงถูกคล้องด้วยบ่วงบาศตั้งร้อย จงถูกนำออกจากป่าอันน่ารื่นรมย์มายังราชธานี จงถูกทิ่มแทงด้วยปฏักและสับด้วยขอเถิด

    ลิงกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ลิงตัวใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ลิงตัวนั้นมีพวงดอกไม้สวมคอ ถูกเจาะหูด้วยดีบุก ถูกเฆี่ยนด้วยไม้เรียว เมื่อฝึกหัดให้เล่นงู เข้าไปใกล้ปากงู ถูกมัดตระเวนเที่ยวไปตามตรอกเถิด

    ลิงก็คงไม่คิดว่าสวย เวลาที่มีใครเจาะหู ใส่ต่างหู แต่งตัวให้สวยๆ แล้วพาไปตามที่ต่างๆ

    ข้อความต่อไป มหากาญจนะกล่าวสัจจปฏิญาณว่า

    ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดแกล้งกล่าวถึงของที่ไม่หายว่าหายก็ดี หรือผู้ใดสงสัยคนใดคนหนึ่งก็ดี ขอให้ผู้นั้นจงได้บริโภคกามทั้งหลาย จงเข้าถึงความตายอยู่ ในท่ามกลางเรือนเถิด

    เมื่อท้าวสักกะจอมเทพได้ฟังคำปฏิญาณของท่านเหล่านั้นแล้ว ก็ใคร่ที่จะได้ทราบเหตุผลที่ท่านเหล่านั้นเห็นภัยของการบริโภคกาม จึงได้ปรากฏพระองค์ให้ดาบสเหล่านั้นเห็น แล้วตรัสถามท่านเหล่านั้นว่า

    สัตว์ทั้งหลายในโลกย่อมพากันเที่ยวแสวงหากามใด เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าฟูใจของสัตว์เป็นอันมากในชีวโลกนี้ เพราะเหตุไรฤๅษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกามเลย

    ท่านกล่าวตอบว่า

    ดูกร ท่านผู้เป็นจอมภูต เพราะกามนั่นแล สัตว์ทั้งหลายจึงถูกประหาร ถูกจองจำ เพราะกามทั้งหลาย ทุกข์และภัยจึงเกิด เพราะกามทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจึงประมาทลุ่มหลงกระทำกรรมอันเป็นบาป สัตว์เหล่านั้นมีบาปจึงประสบบาปกรรม เมื่อตายไปแล้วย่อมไปสู่นรก เพราะเห็นโทษในกามคุณดังนี้ ฤๅษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกาม

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะทดลองดูว่า ฤๅษีเหล่านี้ยังน้อมไปในกามหรือไม่ จึงถือเอาเหง้ามันที่ฝั่งน้ำไปฝังไว้บนบก ฤๅษีทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีบาป นี้เหง้ามันของท่าน

    มหากาญจนะกล่าวว่า

    ดูกร ท้าวสหัสนัยน์เทวราช ฤๅษีเหล่านั้นมิใช่นักฟ้อนของท่าน และมิใช่ผู้ที่ท่านจะพึงล้อเล่น ไม่ใช่พวกพ้องและสหายของท่าน เพราะเหตุไรท่านจึงมาดูหมิ่น ล้อเล่นกับฤๅษีทั้งหลาย

    ให้เห็นความไม่ควร เพราะผู้ที่มีจิตใคร่ที่จะบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ย่อมสูงกว่าผู้ที่ไม่ใช่บรรพชิต เพราะฉะนั้น ฤๅษีทั้งหลายเหล่านั้นไม่ใช่นักฟ้อนของพระอินทร์ ไม่ใช่ผู้ที่พระอินทร์จะพึงล้อเล่น ไม่ใช่พวกพ้องและสหายของพระอินทร์ เพราะเหตุไรพระอินทร์จึงมาดูหมิ่นล้อเล่นกับท่านทั้งหลายเหล่านั้น

    ข้อความต่อไป จะเห็นถึงการที่พระอินทร์แสดงความนอบน้อมต่อพระฤๅษีทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อได้ทราบชัดในคุณธรรมของท่านเหล่านั้นแล้ว ซึ่งท้าวสักกะตรัสแสดงความนอบน้อมต่อคุณธรรมของพระฤๅษีทั้งหลายเหล่านั้นว่า

    ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้มีปัญญากว้าง ท่านเป็นอาจารย์ และเป็นบิดาของข้าพเจ้า ขอเงาเท้าของท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าผู้พลั้งพลาด ขอได้โปรดอดโทษครั้งหนึ่งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความโกรธเป็นกำลัง

    ขอให้ดูความไพเราะของจิต ของผู้ที่นอบน้อมเช่นท้าวสักกะ เวลาที่ท่านกระทำผิดไปและรู้สึกตัวว่าผิด ใคร่ที่จะกล่าวคำแสดงความสำนึกผิดและความนอบน้อม ซึ่งท่านผู้ฟังเคยคิดที่จะกล่าวคำที่นอบน้อมอย่างยิ่งอย่างที่ท้าวสักกะกล่าวไหม ที่กล่าวว่า ขอเงาเท้าของท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าผู้พลั้งพลาด

    เมื่อได้ฟังอย่างนั้นแล้ว มหากาญจนะก็ได้กล่าวตอบว่า

    การที่พวกเราได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นจอมภูต นับเป็นราตรีเอกของพวกเราเหล่าฤๅษีซึ่งอยู่กันด้วยดี ท่านผู้เจริญ ทุกคนจงพากันดีใจเถิด เพราะท่านพราหมณ์ได้ เหง้ามันคืนแล้ว

    ตราบใดที่สติเกิด ตราบนั้นไม่โกรธ ในขณะนั้นก็เป็นเมตตา ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า พระฤๅษีทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้โกรธท้าวสักกะ

    ข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เราตถาคต สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสปะ อนุรุทธะ ปุณณะ และอานนท์ เป็น ๗ พี่น้อง ในครั้งนั้น อุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตราเป็นทาสี จิตตคฤหบดีเป็นทาส สาตาคีระเป็นเทวดา ปาลิเลยยกะเป็นช้าง มธุทะผู้ประเสริฐเป็นวานร กาฬุทายีเป็นท้าวสักกะ ท่านทั้งหลายจงทรงชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล

    จบ ภิสชาดกที่ ๕


    หมายเลข 2659
    16 ต.ค. 2566