ปรกติลมหายใจมี ... แต่ไม่ปรากฏ


    สำหรับอานาปานสตินั้น ควรจะได้ทราบว่า เจริญอย่างไร เพราะถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดแล้วคงจะสับสน เพราะมีทั้งในเรื่องของสมถภาวนาและในมหาสติปัฏฐาน

    ก่อนอื่น ขณะนี้ลมหายใจมีไหม มี ปรากฏไหม บางทีก็ปรากฏ บางทีก็ไม่ปรากฏ คำตอบก็ไม่แน่นอนว่า สำหรับที่ปรากฏนั้นปรากฏเมื่อไร ที่ถูกแล้ว ลมหายใจถึงแม้ว่ามีอยู่จริง แต่เป็นสภาพที่ละเอียดประณีต เพราะเหตุว่าจิตของบุคคลใดๆ ก็ตามที่ไม่เคยเจริญความสงบ ที่จะให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ ถึงแม้ว่าในขณะนั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียดคู้ ประกอบกิจการงานต่างๆ นั้น จะมีลมหายใจก็ตาม แต่จิตของบุคคลย่อมคล้อยไปสู่อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง เป็นปกติ

    สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเจริญความสงบให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ ตื่นขึ้นมา ลืมตาเห็น เสียงกระทบปรากฏ กลิ่นกระทบปรากฏ รสกระทบปรากฏ กายกำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็งปรากฏ ในขณะนี้มีใครบ้างที่กำลังรู้ลักษณะของลมหายใจที่กำลังกระทบปรากฏ ไม่มีใช่ไหม นอกจากท่านที่เคยอบรมอานาปานสติสมาธิให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ ถึงแม้ว่า ขณะนี้จะนั่งอยู่ที่นี่ มีสีปรากฏ มีเสียงปรากฏ มีเย็น ร้อน อ่อน แข็งปรากฏ แต่โดยการที่เคยสั่งสม อบรม การเจริญสมาธิให้จิตตั้งมั่น จดจ้อง ที่ลมหายใจ ก็ทำให้ลมหายใจปรากฏได้สำหรับผู้นั้น แต่ปกติไม่ปรากฏ นี่เป็นธรรมชาติที่ทุกคนพิสูจน์ได้ถึงความละเอียดของลมหายใจ เพราะฉะนั้นในการเจริญมหาสติปัฏฐานนั้นข้อสำคัญ คือ จะต้องทราบว่า การเจริญสติปัฏฐานสามารถเจริญได้ทุกขณะ ทุกอารมณ์ ไม่ว่าบุคคลใด ถึงแม้ผู้นั้นจะเคยอบรมเจริญอานาปานสติสมาธิมาก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาม แต่การเจริญสติต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตลอดเวลาทุกขณะ ตื่นขึ้นมาไม่ว่าจะทำกิจใดๆ จะบิณฑบาต จะฉันภัตตาหาร จะทำกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ และแม้ในขณะที่ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ตามอัธยาศัยที่เคยสะสม อบรมการเจริญอานาปานสติ ก็ให้สติตามระลึกรู้แม้ในขณะที่หายใจเข้า ในขณะที่หายใจออก

    เรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่จำกัดว่า บุคคลนั้นเคยอบรมเจริญสมาธิมามากน้อยเท่าไร แต่ขณะใดที่สติระลึกถึงส่วนหนึ่งส่วนใดของกายก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และลมหายใจก็เป็นส่วนหนึ่งของกาย ตราบใดที่ยังมีชีวิต มีกายอยู่ ก็ต้องมีลมหายใจเกิดปรากฏและดับไปเป็นส่วนหนึ่งของกายจริงๆ

    ตามปกติในวันหนึ่งๆ จิตย่อมคล้อยไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นธรรมดา มีสักกี่ท่านที่สติระลึกที่ลมหายใจ เนื่องจากไม่มี เพราะเหตุว่า ลมหายใจเป็นสภาพที่ละเอียด ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เคยอบรมอานาปานสติ เมื่อเคยอบรมมาเช่นนั้น ในขณะที่ว่าง ก็ย่อมไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง เพราะต้องอาศัยความสงัดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มิฉะนั้นแล้วสติจะไม่ตั้งที่ลมหายใจ จิตย่อมจะคล้อยไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะตามปกติ นี่เป็นเหตุผลว่า เหตุใดการเจริญอานาปานสติจึงต้องไปสู่ป่าบ้าง สู่โคนไม้บ้าง สู่เรือนว่างบ้าง

    แต่การเจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมทั้งปวงก็ได้ นั่นเป็นมหาสติปัฏฐาน แต่ผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติแล้ว ถ้าจะให้จิตตั้งมั่นสงบอยู่ที่ลมหายใจก็จะต้องไปสู่สถานที่สงัด เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องมหาสติปัฏฐานจะต้องทราบด้วยว่า ในหมวดอานาปานสติที่จะให้สติระลึกที่ลมหายใจนั้นจะต้องไปสู่สถานที่เช่นไร


    หมายเลข 2400
    24 ก.ย. 2566