พระธรรมเป็นเหมือนกระจกส่องจิตอย่างไร


    ส.   ลืมแล้ว ลืมกระจก ไม่ได้เอากระจกไปด้วยทุกหนทุกแห่ง แต่พระธรรมเหมือนกระจกจริงๆที่จะทำให้รู้ว่า ขณะนั้นกำลังเป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเพียงคิด การกระทำใดๆของคนนั้นก็หมดไปแล้ว แล้วจริงๆก็ไม่มีแต่ละคน มีแต่นามธรรมและรูปธรรม รูปขันธ์  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์  วิญญาณขันธ์ เกิดแล้วก็ดับไปหมดเลย ถ้าใช้คำว่า “ดับ” หมายความว่าไม่กลับมาอีก  อย่างไฟที่เกิดแล้วดับ ไฟนั้นกลับมาอีกหรือเปล่า หรืออาศัยเชื้อไฟใหม่ที่จะทำให้ไฟใหม่เกิดต่างหาก ไม่ใช่ไฟเก่ากลับมา ฉันใด จิตแต่ละขณะตั้งแต่เริ่มเข้ามาอยู่ในห้องนี้จนถึงเดี๋ยวนี้ เกิดดับนับไม่ถ้วนตามเหตุตามปัจจัย เช่น เสียงที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เสียงเมื่อกี้นี้ เพราะฉะนั้น จิตที่ได้ยินเสียงเมื่อกี้นี้ไม่ใช่จิตที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า สภาพธรรมเร็วกว่าที่ใครจะประมวลได้ว่าเกิดดับเร็วสักแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จะพูดถึงกุศลจิตหรืออกุศลจิต ให้ทราบว่า พูดถึงจิตแต่ละขณะ แล้วให้ทราบว่า ถ้ามีแต่นามธรรมอย่างเดียวไม่มีรูปเลย ไม่มีใครสามารถรู้สภาพจิต แต่เวลาที่มีการกระทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ก็พอที่จะรู้ว่าเกิดจากจิตอะไร อย่างเสียงดุ เสียงด่า ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นอกุศล เพราะมีรูปที่เกิดจากจิต เสียงเกิดจากจิต มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้เสียงนั้นเปล่งออกมาด้วยจิตอย่างนั้น ถ้าเป็นเสียงที่มีความกรุณา มีความเมตตา ใครกำลังเป็นทุกข์ เราก็พูดให้เขาเข้าใจสบายใจในเหตุในผล  เสียงนั้นเกิดจากจิตที่เป็นกุศล การกระทำทางกายก็เหมือนกัน การทะเลาะวิวาท การดุด่า การเฆี่ยนตีต่างๆ ขณะนั้นจิตก็เป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นการช่วยเหลือแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต อย่างเวลารับประทานอาหารบางคนลืม แม้แต่เพียงจะคิดว่า คนนั้นนั่งไกลอาหารมาก ถ้าเราส่งไปให้เขาสักหน่อยหนึ่ง เขาก็จะได้รับประทานอาหาร ไม่ใช่อยู่ตรงหน้าเรา เราก็รับประทานคนเดียว ขณะนั้นก็เพียงเอื้อมมือไปหยิบส่งให้ก็เป็นกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น จิตที่ดีงามไม่ใช่ว่าต้องมีวัตถุ ทานเป็นแต่เพียง ๑ ใน ๑๐ ของบุญ เพราะฉะนั้น เราจะทราบว่า บุญคือจิตที่ดีงาม ไม่ต้องถามใครอีกต่อไปว่า เป็นบุญไหม ได้บุญมากไหม เพราะว่าเราย่อมรู้ใจของเรา คนอื่นจะรู้ได้อย่างไรว่า ใจเราคิดอย่างไร ขณะใดที่จิตอ่อนโยน มีความเป็นมิตร แล้วช่วยเหลือคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นบุญ หรือเป็นกุศลจิต หรือขณะที่จิตอ่อนโยน สละสิ่งที่มีให้เป็นประโยชน์สุขแก่คนอื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น กุศลจิตก็ไม่ใช่การให้วัตถุอย่างเดียว แล้วบางคนถามว่า ได้ผลมากหรือน้อย ไปคิดถึงผล แต่ถ้าเป็นธรรมจริงๆ คนที่เข้ามาสู่พระธรรมจะรู้ว่า ถ้าเป็นผู้ตรง เข้ามาด้วยความนอบน้อมต่อการศึกษาพระธรรมเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกว่า สิ่งใดไม่ดีก็จะละเว้นสิ่งนั้น สิ่งใดดีก็จะประพฤติสิ่งนั้น เท่าที่จะประพฤติได้ สะสมได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม ไม่ได้เข้ามาโดยที่ว่า เราเรียนเก่ง เรารู้ธรรมมาก เราจะไปเป็นครูอาจารย์หรือเราจะได้ลาภ ได้สักการะ แม้แต่เพียงการชมเชย ก็ไม่ใช่เพื่อสิ่งนั้น ถ้าเพื่อสิ่งนั้นแล้วจะไม่ได้สาระจากพระธรรม แต่จะได้ความเมาในความรู้ ในความเก่ง หรืออาจจะในลาภ ในสักการะ แต่ว่าเป็นผู้ศึกษาเพื่อประโยชน์จริงๆ เพราะเหตุว่าพระธรรมถ้าไม่ได้ศึกษาก็สูญ อย่างพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัตถุเลย แต่อยู่ที่ความเข้าใจของชาวพุทธ ถ้าชาวพุทธไม่เข้าใจพระธรรม สูญแน่นอน ไม่มีการดำรงสืบต่อไป มีพระไตรปิฎกจริงๆ เปิดแล้วอ่านไม่รู้เรื่องหรือเข้าใจผิด ขณะนั้นก็ไม่ใช่การสืบต่อพระศาสนา

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ มีความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย แม้แต่พระธรรม นอบน้อมด้วยการศึกษา ด้วยการพิจารณาด้วยความละเอียด ที่จะให้ไม่บิดเบือน ไม่เข้าใจผิดในพระธรรม เพราะว่าถ้าเราเข้าใจผิดจะผิดกันไปตลอด ไม่ตรงกับที่ทรงแสดงไว้ เท่ากับไม่เคารพในพระธรรม แต่ถ้าเคารพในพระธรรม สิ่งใดที่ถูกคือถูก สิ่งใดที่ผิดคือผิด แล้วต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ และเป็นผู้ที่พร้อมที่จะแก้ เพราะเราไม่ใช่ผู้รู้ในพระธรรมทั้งหมด ทั้ง ๓ ปิฎก และอรรถกถาซึ่งละเอียดมาก แต่ต้องเป็นผู้ศึกษาแล้วช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ยังไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจพระธรรมขึ้น

    นี่ก็ต้องตั้งจิตไว้ชอบแม้แต่ในการศึกษาพระธรรม มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ได้สาระจากพระธรรมจริงๆ

    เรื่องบุญ คงจบแล้วใช่ไหมคะ บุญเป็นนามธรรม เป็นจิต เจตสิกที่ดี

    ผู้ฟัง   เพราะว่าใช้คำสูง คือบาลี เวลาฟังพอจะเข้าใจ พอออกจากห้องนี้หรือออกจากวัดไปจะไม่เข้าใจ จะมีไหมที่ใช้คำที่เข้าใจง่าย

    ส.   หมายความว่าพอออกจากห้องนี้ไปแล้ว ก็ไม่มีจิต เจตสิก รูป ลืมไปหมดหรืออย่างไรคะ

    ผู้ฟัง   เพราะว่าคำที่ใช้ บางครั้งมันสูง มันยาก

    ส.   ก็อย่างจิตอย่างนี้ เป็นเรื่องเข้าใจ ธรรมเป็นเรื่องเข้าใจ ถ้าศึกษาจริงๆแล้วเราจะรู้เลยว่า ไม่ใช่เป็นการพูดคำบาลีโดยที่ไม่อธิบายให้เข้าใจ อย่างคำว่า “จิต” เป็นคำบาลีหรือภาษาไทย

    ผู้ฟัง   บาลี

    ส.   ภาษาไทยใช้หรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง   ใช้ครับ

    ส.   แต่เข้าใจผิดได้ ต้องศึกษา ถ้าเราจะศึกษาพระพุทธศาสนา คือใช้คำที่เราเคยใช้ในภาษาไทยนั่นเอง แต่เข้าใจถูกขึ้น ต้องเป็นเรื่องอดทน ทุกวิชาเราเรียน ทำไมไม่มีคำแทนคำว่า คอมพิวเตอร์ ทำไมเราใช้คำว่า คอมพิวเตอร์ได้ ภาษาบาลีก็เหมือนกัน ทำไมเราจะไม่ใช้คำภาษาบาลีบ้างหรือคะ คำภาษาบาลี ถ้าใช้แล้ว ไม่ต้องอธิบายยาวถ้าเราเข้าใจแล้ว อย่างเจตสิก ถ้าเราบอกว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต ยาวใช่ไหมคะ แต่พอเข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับจิต โลภะ โทสะจะไม่เกิดกับโต๊ะ เก้าอี้แน่ แต่ที่ใดมีจิต ที่นั่นต้องมีเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิด แค่นี้ลืมหรือคะ

    ผู้ฟัง   ลืม

    ส.   ตายแล้ว

    ผู้ฟัง   คือผมจะรู้อย่างเดียว หรือทุกคนจะรู้อย่างเดียวคร่าวว่า เกิดมาสวดมนต์ พอสวดมนต์ก็รู้คำว่า บาป หรือบุญ

    ส.   นั่นคือของเก่า ทีนี้เอาเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ธรรมที่จะได้ประโยชน์คือเฉพาะขณะที่กำลังฟัง เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง นี่คือประโยชน์แล้ว แล้วทำไมเราต้องฟังแล้วฟังอีก เพราะฉะนั้น เวลาฟังอีก ความรู้เก่าของเราก็ติดตามไป อย่าง ก.ไก่ เราจะไปเจอในหนังสือเล่มไหน หนังสือแพทย์ หรือที่ไหน ก็คือ ก.ไก่ จะไม่เปลี่ยนเป็น ข.ไข่ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องจิต จะอยู่ตรงไหนๆ ก็คือจิต จะอยู่ตรงไหนๆก็คือเจตสิก นี่คือพื้นของธรรมที่จะต้องศึกษา ครั้งแรกที่สุดคือศึกษาปรมัตถธรรม ๔ เพราะว่านอกจากปรมัตถธรรม ๔ แล้วไม่มีอื่นเลย ไม่ว่าจะพูดอริยสัจธรรม ปฏิจจสมุปปาท  ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ก็คือปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป

    เพราะฉะนั้น พื้นฐานที่สุดที่เป็นปรมัตถธรรมแท้ๆ มีอยู่เท่านี้ จิต เจตสิก รูป จะลืมไหมคะ ก็ต้องฟังอีกบ่อยๆ เพราะฉะนั้น ประโยชน์คือขอให้ฟัง อย่าไปคิดเรื่องอื่นเลย ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง นี่สำคัญที่สุดเลย ไม่ว่าจะเป็นวิชาใดๆทั้งสิ้น ให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าไม่เข้าใจ ใครก็ถามเลยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าไม่เข้าใจจิตถามเรื่องจิต จะได้ไม่ลืม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องเจตสิก ก็ถามเรื่องเจตสิก ถ้าไม่เข้าใจเรื่องรูป ก็ถามเรื่องรูป แล้วจะไม่ลืม ไปที่ไหนก็จะติดตามไปได้ ฟังเรื่องอะไรก็สามารถรู้ได้ว่า คนนั้นแสดงธรรมหรือเปล่า ถ้าแสดงธรรมก็คือต้องเป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง   อย่างนี้เราก็ต้องฟังบ่อยๆ ใช่ไหมครับ ถ้าหากเราทำงานแล้วจะฟังตอนไหน

    ส.   ถูกต้องค่ะ สาวกคือผู้ฟัง รายการวิทยุมีตั้งแต่ตี ๔ ครึ่ง จนถึง ๗ โมงเช้า เที่ยงครึ่งจนถึงบ่ายโมง ๖ โมงครึ่งถึงทุ่มหนึ่ง ยังมีรายการอื่นอีก

    ผู้ฟัง   ใช่ครับ คือฟังแล้วเข้าใจ ฟังแล้วสบายใจ อย่างฟังอาจารย์พูดแต่แรก ก็เพลินดี แต่ส่วนมากจะหลับ

    ส.   ก็ไม่เป็นไร ทีหลังก็จะไม่หลับเพราะเข้าใจขึ้น หลับอาจจะเพราะเหนื่อย อาจจะเพราะเบื่อ มีหลายกรณี แต่ถ้าเริ่มรู้ว่าเป็นประโยชน์ คือแต่ก่อนเราไม่เคยเข้าใจธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูปเลย แต่วันนี้มีโอกาสได้เข้าใจธรรม และไปที่ไหนธรรมต้องเป็นจิต เจตสิก รูป จะเป็นอื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร และในพระอภิธรรม นั่นคือเราเป็นชาวพุทธที่เริ่มศึกษาพระธรรมจริงๆ  มีพระธรรมเป็นสรณะ เพราะเหตุว่าเรากล่าวอยู่เสมอว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ถ้าไม่ศึกษา ธัมมัง สรณัง คัจฉามิจะมาได้อย่างไร  สังฆัง สรณัง คัจฉามิ มีพระอริยสงฆ์ ไม่ใช่สงฆ์สมมติ แต่ต้องเป็นพระอริยะ คือ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์เป็นสรณะ ซึ่งถ้าไม่ศึกษาพระธรรม เราไม่รู้เลยว่า ใครเป็นใครไม่เป็น เขาบอกเราก็เชื่อ แล้วเราก็ผิด เพราะเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องวัดที่จะรู้ว่า ถูกคืออย่างไร แต่ถ้าเราจะศึกษาธรรม ไม่มีใครหลอกเราได้เลย เพราะเรามีพระธรรมเป็นสรณะ

    ง่วงไหมคะ เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น นี่ก็แปลว่าไม่ลืมแล้ว ก็ยังได้ประโยชน์ คือไม่ว่าจะง่วง จะหิว หรือไม่ว่าเหนื่อย ก็เป็นธรรม ง่วงเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม  ง่วงเป็นจิตหรือเจตสิก เป็นเจตสิก เพราะจิตทำหน้าที่รู้แจ้งอย่างเดียว ไม่ทำหน้าที่อื่นเลย เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏคือจิต ได้ยินคือจิต แต่ความรู้สึกสุขทุกข์ เฉยๆ ดีใจ เสียใจ โลภะ โทสะ โมหะ ทั้งหมดในชีวิตประจำวันซึ่งเคยเป็นเรา คือเจตสิกทั้งหมด ถ้าเป็นนามธรรมคือเจตสิกทั้งหมด ไม่ลืมใช่ไหมคะอย่างนี้

    การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจจริงๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากฟังให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว เข้าใจ เป็นคำดีในภาษาไทย เข้าไปในใจก็อยู่ในใจ คือไม่ลืม

    แค่วันนี้ก็หวังว่า ทุกคนจะได้ยินคำว่า “ปรมัตถธรรม” “อภิธรรม” แล้วก็จิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นเบื้องต้น แล้วถ้าฟังต่อไปจะไม่พ้นจากสภาพธรรมเหล่านี้ เพราะว่าจริงๆแล้วที่เป็นปรมัตถธรรมคือ มีจิต ๘๙ ชนิด แต่จิตของเราไม่ครบทั้งหมด เพราะรวมจิตของพระอรหันต์ด้วย แล้วก็มีเจตสิก ๕๒ มีรูป ๒๘ ซึ่งต่างกับรูปที่เราเรียกเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ถ้ารูปอย่างนั้นไม่มีวันจบ เกิน ๑๐๐  เกิน ๑,๐๐๐ โทรศัพท์ รถยนต์ แต่รูปปรมัตถ์ หมายความว่า รูปที่มีลักษณะเฉพาะของรูปนั้นๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนลักษณะของรูปนั้นได้

    เพราะฉะนั้น เสียงเป็นรูปชนิดหนึ่ง กลิ่นเป็นรูปชนิดหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปชนิดหนึ่ง รสเป็นรูปชนิดหนึ่ง เย็นหรือร้อนเป็นรูปชนิดหนึ่ง อ่อนหรือแข็งเป็นรูปชนิดหนึ่ง ตึงหรือไหวเป็นรูปชนิดหนึ่ง ๗ รูปแล้ว เหลืออีกแค่ ๒๑ รูป

    เป็นสิ่งซึ่งศึกษาได้และอยู่ที่ตัวเรา ควรจะรู้ไหมคะ เกิดมา ๑ ชาติ ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ตายไป โดยที่เกิดมาแล้วก็เห็นโดยไม่รู้ ติดข้องในสิ่งที่เห็น สุขทุกข์ในสิ่งที่เห็น ได้ยินตลอด มีเรื่องราวทรงจำไว้ตลอด สุขทุกข์ แต่พอตาย สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง ยังไม่ต้องตาย แค่คืนนี้เวลาหลับสนิท เราชื่ออะไร เป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน มีสมบัติอะไรบ้าง มีพี่น้องกี่คนมากมายแค่ไหน ไม่มีเหลือเลย เพียงแค่ขณะที่หลับสนิท

    เพราะฉะนั้น เวลาเกิด ขณะแรกที่เกิดต้องมีจิต เจตสิก เป็นนามธรรม เป็นผลของกรรม เพราะขณะนั้นไม่ได้ทำกรรม แต่กรรมทำแล้ว แล้วกรรมหนึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้หลังจากจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับ กรรมจะทำให้จิตขณะต่อไปซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งทำกิจปฏิสนธิ ปฏิสนธิหมายถึงการสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เป็นจิตขณะแรกและขณะเดียว ซึ่งทุกคนจะมีจิตนี้ครั้งเดียวในชาติหนึ่ง จุติจิตคือจิตขณะสุดท้ายก็ครั้งเดียวในชาติหนึ่ง แต่ระหว่างนั้นมีจิตเกิดดับสืบต่อ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตคือจิตขณะแรกซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งดับ ขณะนั้นไม่มีใครสามารถจะรู้ จะรู้ไหมว่า เราจะเป็นใคร จะเห็นอะไรในชาตินี้ และขณะนั้นไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะที่อยู่ในครรภ์ไม่มีเลย  แต่มีจิต เจตสิก รูปเกิดแล้ว จิต เจตสิกที่เกิดเป็นวิบาก เป็นประเภทวิบาก และรูปนั้นก็เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ขณะที่เราเกิดในครรภ์ รูปจะเล็กมากจนมองไม่เห็นเลย แต่จะมีกลุ่มของรูป ๓ กลุ่มเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต กลุ่มหนึ่งเรียกว่า หทยทสกะ หมายความว่า กลุ่มของรูปๆหนึ่งมี ๑๐ รูปรวมกันซึ่งไม่แยกกันเลย เป็นที่เกิดของจิต อีกกลุ่มหนึ่งคือ ภาวทสกะ รูป ๑๐ รูปเกิดรวมกันไม่แยกกันเลย เป็นภาวะหญิงหรือชาย อิตถีภาวะหรือปุริสสภาวะ อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กายทสกะ ซึ่งต่อไปเมื่อเจริญเติบโตขึ้นจากอุตุ ความเย็นความร้อน จากกรรม จากสมุฏฐานต่างๆ ก็จะทำให้ปรากฏรูปเป็นสัตว์ชนิดไหน เป็นคนสูงต่ำดำขาวอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ทรงแสดงไว้ละเอียดมาก แม้แต่รูปซึ่งขณะนี้มองดูต่างกัน แต่ต้องมีเหตุ หรือมีสมุฏฐานที่ทำให้เกิด

    นี่คือการศึกษาเรื่องของธรรมทั้งหมดที่มีในโลก ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน อย่างขณะนี้เป็นธรรมเพราะอะไร มีจริงๆ โดยไม่ต้องเรียกชื่อ ปรมัตถธรรมหมายถึงสิ่งที่มีจริงแม้ไม่เรียกชื่อ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเรียกไหมคะ แต่มีปรากฏแล้ว  เสียงปรากฏทางหู ต้องเรียกไหม แต่เสียงมี ปรากฏแล้วก็หมดไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมหมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกว่าอะไรเลย แล้วก็สาธารณะคือทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะในพระพุทธศาสนา เพราะว่าพุทธะคือผู้ตื่น ผู้รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธ แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดในโลก นอกโลกทั้งหมดที่มีจริงๆ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ อย่างแข็ง คนไทยเท่านั้นหรือที่รู้แข็ง  เฉพาะเราใช้คำพูดภาษาไทยเท่านั้นหรือถึงจะรู้แข็ง แต่ไม่ใช่เลย จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ อังกฤษ จีน ไทยได้ไหม จะใช้คำอะไรก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของแข็งไม่ได้

    นี่คือความหมายของธรรม ปรมัตถธรรม อภิธรรม

    จิตมี ไม่เรียกจิตก็ได้  จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของจิตไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม

    ผ่านมาแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่ยังมีโอกาสได้ฟังเรื่องรูปขันธ์  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์  วิญญาณขันธ์  ปรมัตถธรรม เหมือนผู้ที่ไปเฝ้าที่พระวิหารเชตวัน ทรงแสดงธรรมอย่างไรที่พระวิหารต่างๆในอดีต สิ่งเหล่านั้นจารึกเป็นคำสอนที่สามารถให้เราอ่านได้ และรู้ถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ย้อนไปและข้างหน้าอีก ๒,๕๐๐ กว่าปี เราจะอยู่ที่ไหน ไม่ทราบใช่ไหมคะ แต่ ๒,๕๐๐ กว่าปี เราต้องอยู่ เราต้องมีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่อย่างนั้นจะไม่มีเหตุปัจจัยให้ได้ยินเสียงพระธรรม หรือเสียงที่ทำให้เราเข้าใจธรรมได้ เพราะถ้าเป็นเสียงรถ คนไหนก็ได้ยิน เสียงนก เสียงกา คำพูดอะไรก็ได้ยิน แต่เสียงที่จะทำให้รู้ว่า มีปรมัตถธรรมจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ต้องเป็นผู้ที่เคยสะสมบุญในอดีต แต่ว่าอย่าเพิ่งพอใจ เพราะว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการที่เราต้องเข้าใจธรรมให้ลึกซึ้งขึ้นจนกระทั่งประจักษ์ความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราอีกต่อไป เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ

    นี่คือผู้เป็นสาวก คือผู้ฟังพระธรรม เป็นพหุสูตร คือผู้ต้องฟังบ่อยๆ ทุกคนที่มีปัญญาต้องเป็นพหุสูตร ฟังมาก แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ในวิชชาจรณะ ที่เราสรรเสริญพระคุณ วิชชาจรณะสัมปันโน จรณะหนึ่งของพระองค์คือพหุสูตร ต้องเป็นผู้ที่ฟังมากจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ แล้วจะไม่ฟังต่อไปหรือคะ

    ผู้ฟัง   ก็ฟังเรื่อยๆ ทั้งชีวิตนี่ก็ฟังเรื่องเกี่ยวกับธรรม ไม่ใช่เป็นเฉพาะของบุคคลหรือของตัวเองก็ไม่ทราบ คือฟังแล้วเข้าใจในพระธรรม แต่พอออกจากวัดหรือออกจากสถานที่นั้นแล้วจะลืม

    ส.   แต่ถ้าใส่ใจ สนใจวันนี้ อยู่ตรงไหนก็รู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมด มีคนหนึ่งเขาก็ไปแสวงหาธรรมเหนือใต้ ตะวันออก ตะวันตก แต่พอเข้าใจธรรม เพียงแค่ลืมตาก็รู้ว่าเป็นธรรม จะไม่วันพ้นจากธรรมเลย ทุกอย่างที่มีจริงๆที่ปรากฏเป็นธรรมทั้งนั้น ถ้าจะให้เข้าใจละเอียดก็ฟังบ่อยๆ หรืออ่านหนังสือ ต่อไปก็จะอ่านพระไตรปิฎกด้วยตนเอง

    ผู้ฟัง   จริงๆแล้วเรื่องที่เราคุยกันเมื่อกี้นี้ก็เหมือนกับที่จะถามว่า การที่เราไปบวช ไม่ว่าจะบวชชีพราหมณ์ หรือถือศีลที่วัด มีคนถามว่า จะอยู่ในบุญประเภทไหน

    ส.   ถ้าทราบว่า “ศีล” คืออะไร  แล้วเราก็ตั้งใจว่าจะรักษาศีล เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง หรือการบวช ที่ใช้ว่า “บรรพชา” หมายความถึงการสละ เรื่องของความติด เราติดกันมากมาย ตั้งแต่เกิด วันนี้ก็ติด เมื่อเช้านี้ก็ติด อาหารอร่อยไหม ไปที่ไหน อย่างไร นี่ก็เรื่องติดหมดทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เรื่องละ ใครจะช่วย ติดกันมากมายเหลือเกิน ติดกันมาแล้วเยอะๆ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้วเห็นคุณ ท่านสละอาคารบ้านเรือน ในครั้งพุทธกาล สละวงศาคณาญาติ สละทุกอย่างเพื่อจะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต เพราะแท้ที่จริงการที่เราทุกคนจะเป็นพระอริยบุคคล ฟังธรรมเพื่อสละความเป็นเรา อันนี้ก่อนอื่นเลยค่ะ เป็นความเห็นผิดที่ยังยึดถือว่า ยังมีเราหรือเป็นเรา ทั้งๆที่รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่อ่อนหรือแข็งก็เหมือนอ่อนหรือแข็งที่อื่น ก็คือแค่อ่อนหรือแข็ง แต่ก็ยังสละไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็ยังเป็นเรา สภาพธรรมเช่นความดีใจ ความเสียใจในแสนโกฏิกัปป์ ดีใจก็คือดีใจ เสียใจก็คือเสียใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีก มีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ แต่ก็ยังเป็นเราในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆขั้นแรกก็คือสละความเป็นเรา แต่กว่าจะสละความเป็นเราได้ ลองคิดดู สละของยังง่ายกว่า ให้ใครยังพอจะให้ได้ แต่สละความเป็นตัวตนหรือเป็นเรา ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นความยากของการสละความเป็นเรา ท่านก็เริ่มจากการสละอาคารบ้านเรือนในเพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้น ในครั้งนั้นพุทธบริษัทก็มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แม้ในครั้งนี้หรือในครั้งต่อไปก็จะมีเพียงเท่านี้ แต่กาลสมัยผ่านมา พระองค์เห็นว่าเพศหญิงไม่เหมาะไม่ควรต่อการทรงเพศบรรพชิตเป็นภิกษุณี ก็ทรงวางกฎไว้จนกระทั่งขณะนี้ไม่มีภิกษุณี เพราะว่าการบวชยากกว่าภิกษุ ถ้าศึกษาโดยพระวินัยแล้ว เพราะเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเสื่อมเสีย ไม่ให้พระศาสนาเศร้าหมอง

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็มีภิกษุ แล้วก็อุบาสก อุบาสิกา แต่ภิกษุมีสามเณรด้วย แทนที่จะเป็นภิกษุณีก็เป็นภิกษุกับสามเณร แล้วก็อุบาสก อุบาสิกา

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการถือศีล หรือมีศีล หรือจะรักษาศีล ต้องเห็นประโยชน์ของศีล ไม่ใช่เพราะอยากมีศีล คือผู้ที่เห็นโทษของกายที่ไม่ดี วาจาที่ไม่ดี แล้วก็เพียงที่จะเห็นประโยชน์ในการรักษาการงดเว้นจากคำหยาบ หรือคำพูดที่ไม่จริง มุสาวาท หรือคำพูดส่อเสียด หรือคำพูดไร้ประโยชน์ เพ้อเจ้อ ผู้นั้นในขณะใดที่เจตสิกชนิดหนึ่ง คือ วิรตีเจตสิกเกิดจะทำหน้าที่วิรัติ บางคนบอกว่า แต่ก่อนเคยพูดไม่ดี แต่พอฟังธรรมแล้วอ้าปากค้าง คือจะพูด แต่ไม่มีคำนั้นเปล่งออกไป เพราะวิรตีเจตสิกเกิดขึ้นวิรัติทุจริตทางวาจา

    เพราะฉะนั้น เรื่องของศีลคือเรื่องการเว้นสิ่งไม่ดี ไม่ควรทางกาย ทางวาจา ซึ่งไม่จำเป็นที่มีใครมาสรรเสริญว่า ขณะนี้เรามีศีล ๘ หรือเรามีศีล ๕ หรือเรามีศีลเท่าไร เพราะเป็นเรื่องของการละ ผู้ที่เป็นบรรพชิตเพื่อสละการเคารพสักการะของบุคคลอื่นด้วย อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านเป็นอัครสาวก แต่ความประพฤติหรือความรู้สึกของท่านเหมือนโคเขาขาด เหมือนลูกคนจัณฑาล คือไม่เย่อหยิ่ง หรือลำพอง ไม่สำคัญตนว่าท่านเป็นอัครสาวก เพราะยิ่งมีปัญญาเท่าไรก็ยิ่งละเท่านั้น


    หมายเลข 1555
    2 ก.ย. 2558