รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง อยู่ในพระสูตรไหน
ขอตอบคำถามข้อ ๒ ที่ว่า ผมเคยได้ยินว่า ในสติปัฏฐานให้รู้ว่า นั่ง ยืน เดิน นอน ในท่าทางอาการ แต่อาจารย์สอนว่า ให้รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีอยู่ในพระสูตรไหน
ขอกล่าวถึง ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร โดยตรง
ใน อิริยาบถบร รพ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน เมื่อเธอตั้งกายไว้ ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
จบ อิริยาบถบรรพ
สำหรับคำถามของท่านผู้ข้องใจที่ถามว่า ผมเคยได้ยินว่า ในสติปัฏฐานให้รู้ว่า นั่ง ยืน เดิน นอน ในท่าทางอาการ แต่อาจารย์สอนว่าให้รู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีอยู่ในพระสูตรไหน
ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก แม้ใน มหาสติปัฏฐาน นี้เอง เพราะเหตุว่าข้อความมีว่า อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน
พยัญชนะใช้คำว่า รู้ชัด หมายความว่า รู้ตามปกติ ตามสภาพธรรมที่กำลังเป็นจริง ขณะนี้ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ ทรงอยู่ในลักษณะอาการอย่างไร ถ้ามีความรู้ชัดในสภาพธรรมที่ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในอาการนั้น ท่านจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนั้นตามความเป็นจริง
พยัญชนะที่ว่า ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน คำว่า เรา เป็นคำสมมติที่หมายความว่า ไม่ใช่บุคคลอื่น แต่เวลาที่บุคคลนั้นเองกำลังเดิน ก็มีความรู้ชัด ความรู้ชัดต้องเป็นความรู้ตามปกติ เพราะเหตุว่าที่กำลังเดินอยู่ ถ้าระลึกที่กาย ส่วนที่เป็นกายที่กำลังเดินมีลักษณะอย่างไร ก็มีลักษณะเย็นที่เกิดขึ้นปรากฏ หรือว่าถ้ามีสภาพลักษณะที่อ่อน ที่ตึง ที่ไหวเกิดขึ้นปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่ว่าให้รู้ท่าทางมีกล่าวไว้ที่ไหน ไม่มีเลย เพราะเหตุว่าพยัญชนะบอกว่า ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน เมื่อเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ
อาการอย่างนั้นๆ ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏ ไม่ใช่ไม่ปรากฏแล้วก็ไปนึกเอา แต่จะต้องมีความรู้ชัดในอาการของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ข้อความต่อไปเพิ่มความชัดเจนขึ้นอีกว่า
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม ... บ่งแล้วใช่ไหมว่า เป็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ จึงได้พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
ถ้าไม่เกิดขึ้นจะปรากฏไหม สภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏ ที่ปรากฏเพราะเหตุว่าเกิดขึ้นจึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่พิจารณากาย ก็พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง ถ้ากำลังพิจารณาอยู่ สิ่งที่กำลังปรากฏก็หมดไปเป็นความเสื่อม ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้
เพราะมีความรู้ในขณะนั้น กายจึงเป็นอารมณ์ จึงมีปรากฏได้ เพราะสติกำลังระลึกรู้สภาพที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะต้องเทียบเคียงสภาพธรรมตามความเป็นจริงทั้ง ๓ ปิฎก คือ ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกด้วย ในพระ อภิธรรมปิฎกได้แสดงลักษณะของรูปไว้ทั้งหมด ๒๘ รูป และใน ๒๘ รูป สิ่งที่สติควรระลึกรู้ได้แก่รูปอะไร ถ้าเป็นกายปสาทแล้วต้องรู้สภาพที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน ที่ตึง ที่ไหว ซึ่งมีเป็นปกติธรรมดา เมื่อลักษณะนั้นมีจริง สติควรระลึกไหม ควรรู้ไหม เพราะเป็นสภาพธรรมซึ่งมิใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นแล้วก็ปรากฏ เมื่อเกิดแล้วก็หมดไป
เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านที่เข้าใจว่าจะต้องรู้ในท่าทางอาการ ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกว่า การที่ท่านกล่าวว่าในขณะที่ยืนก็ตาม เดินก็ตาม นั่งก็ตาม นอนก็ตาม ที่ว่าให้รู้ท่าทางนั้นมีอยู่ในปิฎกไหน เพราะในรูปปรมัตถ์จะต้องเป็นสิ่งที่มีปรากฏจริงๆ ซึ่งสำหรับเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในอิริยาบถบรรพนี้ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินก็ตาม ผู้ที่รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ก็จะไม่พ้นไปจากสภาพลักษณะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้รู้ลักษณะของรูปและนามตามปกติ แต่ไปเข้าใจว่า มี ท่านั่งจริงๆ แต่ไม่รู้รูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ไม่ได้รู้อะไร เพราะมัวแต่ไปสร้างให้ความรู้สึกเกิดขึ้นว่าเป็นรูปเท่านั้น บังสภาพธรรมของรูปที่กำลังปรากฏนิดเดียวแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเย็น ก็ปรากฏนิดหนึ่ง ร้อน ก็ปรากฏนิดหนึ่ง เสียง ก็ปรากฏนิดหนึ่ง นี่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะต้องระลึกรู้
ก็ขอให้พิจารณาเทียบเคียงข้อปฏิบัติของท่านกับความเป็นจริงว่า สิ่งที่ท่านเข้าใจว่าเป็นความจริงแล้ว เป็นการรู้แล้วนั้น ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้อง ควรจะทิ้งเสีย แล้วเจริญความรู้ที่ถูกต้อง
ทุติยสมันตปาสาทิกา โกฏิยวรรค สิกขาบทที่ ๕ มีข้อความว่า
เราทั้งหลายชื่อว่าเป็นสาวก จักไม่บัญญัติข้อที่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติไว้
นี่เป็นพระวินัย สำหรับเรื่องของธรรมก็เช่นเดียวกัน ถ้าข้อปฏิบัตินั้นไม่มีในครั้งพุทธกาล จะกล่าวว่าสมัยนี้ต้องทำอย่างนั้น ไม่เหมือนสมัยพุทธกาล สมัยนี้ต้องเปลี่ยน จะถูกหรือจะผิด อย่าลืม เราทั้งหลายชื่อว่าเป็นสาวก จักไม่บัญญัติข้อที่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติไว้
ถ้าท่านยังคงต้องการพิจารณาท่าทางอาการ และให้มีความรู้สึกเกิดขึ้นว่าเป็นรูป ท่านก็ควรจะสอบทานกับรูปปรมัตถ์ที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎกด้วย
รูปปรมัตถธรรมมีทั้งหมด ๒๘ รูป จะขอกล่าวถึงโดยนัยของการปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกท่านพิสูจน์ได้ทันที และก็สามารถสอบทานได้กับโดยนัยของปริยัติ
รูปที่ ๑ รูปารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยมากทุกท่านก็ได้ยินคำว่านามะ หรือภาษาไทยใช้คำว่า นาม รูปะ ภาษาไทยก็ใช้คำว่า รูป
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 152
นามนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นความรู้สึก เป็นความจำ เป็นความคิด เป็นความสุข ความทุกข์ต่างๆ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ จะจำก็จำสิ่งที่เห็น หรือได้ยิน ได้กลิ่น จะเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็เพราะมีสิ่งที่กำลังเห็น กำลังได้ยินปรากฏ เพราะฉะนั้น สภาพรู้เป็นนามธรรม ไม่ใช่เป็นรูปธรรม นามกับรูปไม่ได้อยู่ไกลเลย ไม่ได้อยู่ที่อื่นที่จะต้องไปค้นคว้าแสวงหา แต่พร้อมให้พิสูจน์ทุกขณะ
สำหรับรูปธรรมที่มีปรากฏอยู่ คือ
รูปที่ ๑ ปรากฏทางตา เป็นของจริงแน่นอน ทางบาลีใช้คำว่า วณฺโณ หรือ รูปารมณ์ หมายถึงรูปที่ปรากฏทางตา จะใช้คำว่า แสง จะใช้คำว่า สี จะใช้คำว่าอะไรก็ตามแต่ แต่โดยปรมัตถธรรม โดยสภาพความเป็นจริงของรูปนั้น ก็คือ รูปนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาสำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท ไม่ใช่มีแต่จักขุปสาทกับเห็น แต่ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏด้วย นี่เป็นรูปหนึ่งใน ๒๘ รูป
รูปที่ ๒ สัททารมณ์ หรือ สัททะ ได้แก่ เสียง เวลาที่จิตกำลังรู้เสียง เสียงนั้นเป็น สัททารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ของจิตที่ได้ยิน
ผู้ที่ไปนั่งจ้อง สร้างท่าทางขึ้นมาว่าเป็นรูป ระลึกรู้รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้างหรือเปล่า ระลึกรู้ในขณะที่เสียงปรากฏทางหูบ้างไหมว่า เป็นของจริงอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่สภาพที่รู้เรื่อง สภาพที่รู้เรื่องเป็นนามธรรม แต่เสียงเป็นสภาพที่กำลังปรากฏทางหู ต้องแยกออกจากกันได้ ถ้าแยกออกจากกันไม่ได้ ก็ปนเสียงกับได้ยิน ปนกับรู้เรื่อง ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัดในสภาพของเสียงที่เกิดปรากฏทางหูแล้วก็ดับไป เป็นรูปๆ หนึ่งในรูป ๒๘ รูปที่ถ้าผู้ใดเจริญสติระลึกในขณะที่เสียงปรากฏ คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ผู้นั้นกำลังระลึกรู้ลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าเป็นปกติ ไม่ใช่ว่าต้องไปทำกิริยาอาการอะไรขึ้นมาเป็นพิเศษในการที่จะระลึกรู้ว่า เสียงที่กำลังปรากฏนี้เป็นของจริง ไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่รูปอื่นๆ
ต่อไปรูปที่ ๓ คือ คันธารมณ์ คันธะ หมายความถึงกลิ่น ซึ่งเป็นสภาพที่ ปรากฏทางจมูก ในขณะที่จิตกำลังรู้กลิ่นที่ปรากฏ เรียกกลิ่นที่ปรากฏที่เป็นอารมณ์ของจิตว่า คันธารมณ์
ถ้าไม่ใช้คำว่า คันธะ ไม่ใช้คำว่า กลิ่น ไม่ใช้คำว่า คันธารมณ์ กลิ่นก็ปรากฏได้โดยไม่ต้องใช้ชื่อ กลิ่นเป็นของจริงที่เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป นี่เป็นรูปซึ่งผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องระลึกในขณะที่รูปนั้นกำลังปรากฏ สิ่งใดกำลังปรากฏเป็นปกติ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
รูปที่ ๔ คือ รสะ รสที่ปรากฏเมื่อกระทบลิ้นก็เป็นของจริงอีก ถ้าสติ ระลึกรู้ลักษณะของรสในขณะนั้นจะมีท่าทางแทรกอยู่ได้ไหม นี่เป็นการกระจัดกระจายโลกที่เคยประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แท้ที่จริงสิ่งที่หลงยึดถือนั้นก็มีลักษณะเป็นรูปต่างๆ ชนิดที่ปรากฏ เป็นนามลักษณะต่างๆ กันที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป สติจึงควรระลึกเพื่อรู้ชัดในสภาพของรูปทีละรูป สติระลึกลักษณะของรส รสเท่านั้นที่ปรากฏในขณะนั้น ท่าทางตัวตน โลกนี้ทั้งโลกไม่มีเหลือ จึงจะประจักษ์ได้ว่า ไม่ใช่สาระ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล
รูปที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ คือ รูปที่สามารถจะรู้ได้ทางกาย มี ๓ รูป คือ ปฐวี เตโช วาโย
ปฐวี ได้แก่ สภาพแข็งอ่อนที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย เตโช ได้แก่ ลักษณะที่ร้อนเย็นที่ปรากฏเมื่อกระทบกายเป็นอีกรูปหนึ่ง ส่วน วาโย ก็เป็นธาตุ เป็นสภาพธรรมที่ตึงหรือไหว
เพราะฉะนั้น ทางกายก็มีรูปที่ปรากฏ ๓ รูป คือ ดิน ไฟ ลม
ในรูป ๒๘ รูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รวม ๗ รูป ชื่อว่า โคจรรูป หรือ วิสยรูป หมายความว่า รูปที่เป็นอารมณ์ที่รู้ได้ แม้ใจก็รู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั่นเอง เพราะฉะนั้น โคจรรูป หรือวิสยรูป ๗ นี้ จึงเป็นรูปซึ่งเป็นอารมณ์ของอินทรีย์ทั้งหลาย
คำว่า อินทรีย์ ในที่นี้หมายความถึง จักขุนทรีย์ คือ ตา โสตินทรีย์ คือ หู ฆานินทรีย์ คือ จมูก ชิวหินทรีย์ คือ ลิ้น กายินทรีย์ คือ กาย มนินทรีย์ คือ ใจ ทั้ง ๗ รูป สามารถเป็นอารมณ์ของอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้
ทางตาที่เห็นสี จิตเกิดขึ้นรู้สีทางตาดับแล้ว จิตเกิดขึ้นทางใจรับรู้สีต่อจากทางตา แล้วก็รู้ความหมายว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร การรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นนั้น เป็นทางใจ
เวลาที่เสียงกระทบหู มีการได้ยินเกิดขึ้น จิตรู้เสียงทางหูดับไปหมดแล้ว จิตเกิดขึ้นต่อทางใจ รู้เสียงนั้นต่อจากทางหู แล้วรู้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นมีความหมายว่าอะไร การที่รู้ว่าเสียงที่ได้ยินมีความหมายว่าอะไรนั้น เป็นการรู้ทางใจ
เพราะฉะนั้น ทางใจก็รู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง
นี่เป็นรูป ๗ รูป ในรูป ๒๘ รูป ที่เป็นอารมณ์ของอินทรีย์ทั้งหลาย มีท่านั่งไหม มีท่านอนไหม ทางตาสิ่งที่ปรากฏ คือ วัณณะ สีสันวรรณะต่างๆ ทางหูก็มีเสียง ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินเลย กลิ่นก็ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน รสก็ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ลักษณะที่อ่อนที่แข็งเป็นธาตุดิน ลักษณะที่เย็นร้อนเป็นธาตุไฟ ลักษณะที่ตึงไหวเป็นธาตุลม ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน แต่เป็นการรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้แต่ละรูป แต่เพราะประชุมรวมกันทำให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่พอกระจัดกระจายเป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดแล้ว ไม่มีลักษณะใดเลยที่จะควบคุมเป็นตัวเป็นตน เป็นท่าเป็นทางต่อไปได้
รูปที่ ๘ คือ อาโปธาตุ ธาตุน้ำที่เป็นมหาภูตรูป เกิดพร้อมกับดิน ไฟ ลม แต่ว่าเป็นธาตุที่ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยการสัมผัสทางกาย ถ้าระลึกที่กายแล้ว ก็จะปรากฏลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวเท่านั้น ตรงกับพระพุทธพจน์ ที่ว่า ถึงแม้ว่ามหาภูตรูปมี ๔ แต่ที่ปรากฏทางกายได้นั้นเพียง ๓ คือ ดิน ไฟ ลม และที่ปรากฏเป็นปกติที่สติควรจะระลึก ทรงแสดงไว้ด้วยจำนวนว่า คือ โคจรรูป หรือ วิสยรูป ๗
เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่รู้โคจรรูปหรือวิสยรูป ๗ ชื่อว่าการปฏิบัตินั้นถูกต้องตามพระพุทธพจน์หรือไม่
รูปที่ ๙ คือ โอชารูป ได้แก่ อาหารรูปที่มีอยู่ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ทำให้เกิดรูปอื่น เป็นปัจจัยให้รูปอื่นเจริญขึ้น
มหาภูตรูปมี ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เวลาที่มหาภูตรูปเกิดขึ้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะ ๔ รูปที่เกิดร่วมกัน ทั้งหมดมีรูปที่เกิดร่วมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป
รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป
มหาภูตรูป ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม
ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ถ้ารูปทั้ง ๔ นี้ไม่มีแล้ว รูปอื่นมีไม่ได้เลย ส่วนรูปอื่นอีก ๒๔ รูป เป็น อุปาทายรูป คือ รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเป็นไปหรือเกิดขึ้น สีสันวัณณะต่างๆ ไม่ใช่มหาภูตรูป เป็นอุปาทายรูป
สัททะ คือ เสียง ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สัททะจึงเป็นอุปาทายรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูปแล้ว สัททะ ความกังวานของปฐวีธาตุก็มีไม่ได้
กลิ่น คือ คันธะ ไม่ใช่มหาภูตรูป กลิ่นจึงเป็นอุปาทายรูป อาศัยมหาภูตรูปเกิดขึ้น ถ้าไม่มีมหาภูตรูปแล้ว กลิ่นก็ไม่มี เสียงก็ไม่มี สีก็ไม่มี
รสก็เช่นเดียวกัน
ท่านที่เข้าใจมหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมแล้ว ก็ขอให้เข้าใจเพิ่มขึ้นอีกว่า เวลาที่รูปเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ นั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะมหาภูตรูป ๔ ที่เกิดรวมกันในกลุ่มนั้นเท่านั้น ในกลุ่มเดียวกันจะต้องมีรูปอย่างน้อยที่สุด ๘ รูปเกิดร่วมกัน คือ มหาภูตรูป ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา คือ อาหารรูปที่มีอยู่ในมหาภูตรูป เป็นรูปที่เมื่อกลืนกินเข้าไปแล้ว เป็นปัจจัยสร้างให้รูปอื่นเกิดขึ้น เจริญขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มหาภูตรูป ๔ เกิดขึ้น จะต้องมีอุปาทายรูปเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุดอีก ๔ รูป ฉะนั้น ในกลุ่มนั้นจึงต้องมีรูปรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป
เท่าที่กล่าวมาแล้วมีทั้งหมด ๙ รูป คือ สี เสียง กลิ่น รส ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และโอชา แต่รูปที่เกิดรวมกันทุกครั้ง ไม่เคยแยกจากกันไปได้เลย มีทั้งหมด ๘ รูป คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และสี กลิ่น รส โอชา เว้นเสียง เพราะเสียงบางครั้งก็เกิด บางครั้งก็ไม่เกิด แต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ๔ รูป รวมทั้งสี กลิ่น รส โอชานั้นต้องเกิดร่วมกันทุกครั้ง และรูปทั้ง ๘ ที่เกิดรวมกันไม่แยกจากกันเลยนั้น ชื่อว่า อวินิพโพครูป ๘ หมายความถึงรูป ๘ รูปที่ไม่แยกจากกัน หรือแยกจากกันไม่ได้
ถ้าจะกระจัดกระจายตัวของท่านออก กระจัดกระจายได้ไหม ตัดแขนได้ไหม ตัดนิ้วได้ไหม ตัดผมได้ไหม ตัดเล็บได้ไหม ได้ เพราะว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ตามกลุ่มของรูป ซึ่งมีอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป เมื่อย่อยละเอียดออกไปแล้ว ละเอียดที่สุดจะต้องมีรูปอย่างน้อยที่สุด ๘ รูปรวมกัน คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา
นี่ ๙ รูปแล้ว ที่สามารถจะพอรู้ได้โดยขั้นของปริยัติ และปฏิบัติตามลำดับ
รูปที่ ๑๐ จักขุปสาทรูป ภาษาไทยใช้คำธรรมดาว่า ตา ประสาทตา หมายความถึง รูปที่สามารถรับกระทบสี
ถ้าท่านผู้ใดเห็น หมายความว่า จะต้องมีจักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่สามารถรับกระทบเฉพาะสีเท่านั้น ที่ผิวหนังที่กายส่วนอื่นรับกระทบสีไม่ได้ จักขุปสาทรูปจึงเป็นรูปที่มีจริงรูปหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะสามารถรับกระทบสีได้ และรูปนี้อยู่ที่ตา เป็นจักขุปสาท อยู่ที่กลางตานั่นเอง รูปนี้เป็นอีกรูปหนึ่งที่มีจริง เมื่อสีปรากฏก็หมายความว่า ปรากฏเพราะกระทบกับรูปที่สามารถรับกระทบสีได้ คือ จักขุปสาท ซึ่งเป็นรูปที่ ๑๐
รูปที่ ๑๑ คือ โสตปสาทรูป สามารถรับกระทบเสียง
รูปที่ ๑๒ คือ ฆานปสาทรูป สามารถรับกระทบกลิ่น
รูปที่ ๑๓ คือ ชิวหาปสาทรูป สามารถรับกระทบรส
รูปที่ ๑๔ คือ กายปสาทรูป สามารถรับกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
เป็นเรื่องของตัวท่านจริงๆ พิสูจน์ได้ สีก็พิสูจน์ได้ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ก็พิสูจน์ได้ นอกจากนั้นยังมีจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป
ในอวินิพโภครูป ๘ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี มีกลิ่น มีรส มี อาหาร รวม ๘ รูป แต่เวลาที่จิตแต่ละชนิดจะรู้รูปแต่ละรูป ก็ต้องรู้แต่ละทาง ถึงแม้ว่ารูปทั้ง ๘ นั้นอยู่รวมกันในกลุ่มเดียวกันก็ตาม
ในกลุ่มของสี ก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีรส มีกลิ่น แต่เวลาที่กระทบกับจักขุปสาท จักขุปสาทรับกระทบเฉพาะรูปสี รูปเดียวใน ๘ รูปที่รวมกันอยู่
เช่นเดียวกับหู โสตปสาทสามารถรับกระทบกับรูปเสียง รูปเดียวที่รวมอยู่ในรูป ๘ รูปนั้น เพราะที่จะมีเสียงได้ ต้องหมายความว่ามีรูป ๘ รูปนั้นด้วย เสียงจึงจะปรากฏ มีอีกรูปหนึ่งเพิ่มขึ้นได้
เวลาที่กลิ่นปรากฏ ต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี มีรส มีโอชา รวมอยู่กับกลิ่นที่ปรากฏที่กระทบจมูก แต่ฆานปสาทรูปนั้นสามารถรับกระทบเฉพาะกลิ่นเท่านั้น เวลาที่ฆานปสาทรูปรับกระทบกลิ่น จิตที่รู้กลิ่นจึงเกิดขึ้นรู้เฉพาะกลิ่น ไม่ใช่รู้อ่อน แข็ง เย็น ร้อน สี รส โอชาที่รวมอยู่ในที่นั้นเลย
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ารูปจะรวมกันอยู่หลายๆ รูป แต่การที่จะปรากฏลักษณะของแต่ละรูปได้นั้น ต้องเป็นแต่ละทางด้วย ซึ่งก็เป็นชีวิตจริงๆ เป็นชีวิตประจำวันนี่เอง แต่ให้ทราบว่า ในรูป ๒๘ รูปนั้น ท่านสามารถเข้าใจ สามารถรู้ลักษณะของรูปอะไรได้บ้าง
ทั้งหมดก็ ๑๔ รูป ใน ๒๘ รูป คือ
รูปที่ ๑ รูปารมณ์ รูปที่ ๒ สัททารมณ์ รูปที่ ๓ คันธารมณ์ รูปที่ ๔ รสารมณ์ รูปที่ ๕, ๖, ๗ คือ ปฐวี เตโช วาโย รูปที่ ๘ อาโปธาตุ รูปที่ ๙ โอชารูป รูปที่ ๑๐ จักขุปสาทรูป รูปที่ ๑๑ โสตปสาทรูป รูปที่ ๑๒ ฆานปสาทรูป รูปที่ ๑๓ ชิวหาปสาทรูป รูปที่ ๑๔ กายปสาทรูป รวม ๑๔ รูป
รูปอื่นท่านสามารถที่จะศึกษาต่อไป ซึ่งถึงแม้จะไม่กระทบ ไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ก็รู้ได้ว่ามีแน่นอน ก็แล้วแต่ความสามารถของผู้เจริญ สติปัฏฐานที่ได้อบรมมา ที่จะรู้รูปใดละเอียดมากน้อยอย่างไร
สำหรับจักขุปสาทรูปที่อยู่กลางตา นอกจากสามารถรับกระทบสีแล้ว ยังเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณหมายความถึงนามธรรมที่เห็นสี ที่ตัวของทุกท่านมีทั้งรูปและนาม นามไม่ได้เกิดนอกรูป ต้องอาศัยรูปนี่เองเป็นปัจจัยทำให้นามแต่ละชนิดเกิดขึ้น (สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕)
อย่างการเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป การเห็นมีไม่ได้เลย จักขุปสาทรูปเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นขึ้นที่จักขุปสาทรูปนั่นเอง เพราะฉะนั้น ทั่วทั้งตัวนี้มีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตแต่ละประเภท เพราะจิตไม่ได้เกิดนอกรูป เวลาจิตจะเกิดก็เกิดที่รูป เช่น จิตเห็นเกิดที่จักขุปสาทรูป จิต เจตสิกที่เห็น ที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่ไปเกิดนอกรูป นอกร่างกาย ต้องมีที่เกิด และที่จักขุปสาทก็เกลื่อนกล่นไปด้วยจิตและเจตสิกที่เห็นรูป เวลาที่จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นเห็นรูป ก็มีเจตสิก ๗ ดวงเกิดร่วมด้วย เพราะสีจะปรากฏได้ต้องกระทบกับจักขุปสาท และจะเห็นสีได้ก็ต้องมีจักขุวิญญาณ และเจตสิกเกิดร่วมกันที่จักขุปสาท
เพราะฉะนั้น ที่จักขุปสาทรูป เล็กๆ นิดเดียว เกลื่อนกล่นไปด้วยจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีตัวตน ไม่มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินอะไรรวมอยู่ในขณะที่ระลึกรู้สภาพที่เห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปารมณ์ที่กระทบเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
จักขุวิญญาณ ๒ ดวง เกิดที่จักขุปสาทรูป โสตวิญญาณ ๒ ดวง เกิดขึ้นที่โสตปสาทรูป ฆานวิญญาณที่รู้กลิ่น ๒ ดวง เกิดขึ้นที่ฆานปสาทรูป ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง เกิดขึ้นที่ชิวหาปสาทรูป กายวิญญาณ รู้เย็นตรงไหน มีสภาพรู้เกิดแล้วก็ดับไปตรงนั้น
มีท่า มีทาง มีตัว มีตนอะไรไหม ก็ไม่มีกิริยาท่าทางที่จะไปควบคุมยึดโยงไว้ เพราะเหตุว่าระลึกสภาพที่ปรากฏที่เป็นรูป สภาพที่ปรากฏที่เป็นนาม ในขณะนั้นมีลักษณะของรูปเท่านั้นที่ปรากฏ ในขณะนั้นมีลักษณะของนามเท่านั้นที่ปรากฏแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง ส่วนอื่นไม่มาเชื่อม ไม่มาโยง มาควบคุมประชุมรวมกันให้เกิดความเห็นผิดได้
แต่จิตในวันหนึ่งๆ นั้นไม่ใช่มีแต่จักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง ท่านที่ศึกษาเรื่องของจิต จะทราบว่าจิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท หรือว่า ๘๙ ดวง ส่วนทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เห็นสี ได้ยินเสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะนั้น มีเพียง ๑๐ ดวง จิตที่เหลือจะเกิดที่ไหน นั่นเป็นรูปอีกรูปหนึ่ง
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 153
รูปต่อไป คือ
รูปที่ ๑๕ หทยรูป รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอื่นๆ ทั้งหมด เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ซึ่งรูปนี้อยู่ที่กลางหัวใจ ถ้าเป็นสภาพปกติ
กล่าวคือ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นมีรูปเกิดร่วมด้วย ๓ กลุ่ม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีหัวใจเลย คือมี วัตถุทสกะ ที่เกิดของปฏิสนธิจิต มี กายทสกะ ที่เป็นส่วนของกาย มี ภาวทสกะ ที่เป็นส่วนของรูปที่เป็นหญิงหรือเป็นชาย รูปหนึ่งรูปใดสำหรับบุคคลหนึ่ง
คำว่า วัตถุทสกะ หรือ หทยรูป ตามปกติหมายความถึงรูปที่อยู่กลางหัวใจขณะที่มีหัวใจแล้ว แต่ความจริงรูปนี้เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตซึ่งยังไม่มีหัวใจเลย และเป็นที่เกิดของจิตอื่นทุกดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จึงเป็นรูปหนึ่ง ใน ๒๘ รูป เป็นรูปที่ ๑๕
เมื่อศึกษาลักษณะของรูปทั้ง ๒๘ รูปแล้ว จะหารูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินไม่ได้เลย ไม่มีกล่าวไว้ เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงลักษณะอาการของรูป หลายๆ รูปที่ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งทรงอยู่ ตั้งอยู่ในลักษณะหนึ่งลักษณะใดเท่านั้น
นอกจากจะระลึกรู้นามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย บางท่านที่ได้ฌาน ท่านก็ระลึกรู้รูปที่เป็นที่เกิดของฌานจิต แต่ไม่ใช่โคจรรูป ไม่ใช่วิสยรูป
เพราะฉะนั้น รูปที่ควรเป็นที่ระลึกรู้ของสติก็ควรเป็นโคจรรูป หรือวิสยรูป ซึ่งเป็นปกติธรรมดา และปรากฏความเป็นอนัตตา
รูปที่ ๑๖ อิตถีภาวรูป ได้แก่ ภาวะแห่งหญิง ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วทั้งกาย ในภูมิที่ไม่ใช่พรหมโลก ไม่ใช่ผู้ที่ละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กรรมทำให้ภาวรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต อิตถีภาวรูปเป็นรูปที่แสดงภาวะของความเป็นหญิงซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วทั้งกาย ไม่ว่าจะเป็นสัณฐาน ที่มือ ที่เท้า ก็ปรากฏเป็นมือ เป็นเท้า ที่เป็นภาวะของหญิง หรือจะเป็นกิริยาอาการ การยิ้ม การหัวเราะ ก็ปรากฏเป็นภาวะของหญิง ตามอิตถีภาวะรูปซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต หรือไม่ว่าจะเป็นการยืน การเดิน การเล่นต่างๆ ก็แสดงความเป็นภาวะของหญิง เพราะอิตถีภาวรูปนี้เป็นรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต
เรื่องของรูปเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ซึ่งจะขอกล่าวถึงรูปเป็นประเภทๆ เพื่อให้ท่านพิสูจน์ว่า เวลาที่เจริญสตินั้นจะระลึกรู้ลักษณะของรูปใดเท่านั้น
รูปที่ ๑๗ ปุริสภาวรูป เป็นภาวะแห่งชาย ซึ่งก็โดยนัยเดียวกัน เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วทั้งตัว ทำให้สัณฐานมือเท้า เป็นต้น ก็เป็นภาวะของเพศชาย ทำให้กิริยา การยิ้มแย้ม หรืออิริยาบถนั่ง นอน ยืน เดิน หรือการเล่น ก็เป็นลักษณะของเพศชาย เป็นภาวะของชาย นั่นก็เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วทั้งตัว
รูปที่ ๑๘ ชีวิตินทริยรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ที่ทำให้คน สัตว์ ต่างกับต้นไม้ใบหญ้าซึ่งเกิดเพราะอุตุ คือ ความเย็น ความร้อน
เมื่อกรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดกับธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชาแล้ว กรรมก็ยังเป็นปัจจัยให้ชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยในกลุ่มนั้น เพื่ออุปถัมภ์รูปที่เกิดจากกรรมให้เป็นรูปที่ทรงชีวิต หรือว่าดำรงชีวิตอยู่ตามควรแก่รูปนั้นๆ แล้วแต่กรรมของใครจะสร้างรูปที่ผ่องใสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่ได้สร้างสมมา และนอกจากกรรมจะเป็นปัจจัยให้ตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นอย่างนั้นๆ ก็ยังมีชีวิตินทริยรูปที่เกิดร่วมด้วยอุปถัมภ์รูปนั้นให้เป็นรูปที่ดำรงชีวิตอยู่ เป็นรูปซึ่งไม่เหมือนกับต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ เพราะเป็นรูปซึ่งเกิดจากกรรม
ถ้าไม่ได้ทรงแสดงไว้ จะทราบไหมว่ามีรูปนี้ แต่ก็พอที่จะอนุมานเห็นความต่างกันของรูปที่เกิดเพราะกรรมกับรูปที่เกิดเพราะอุตุ เช่นต้นไม้ใบหญ้าได้ว่า มีความต่างกัน เพราะไม่สามารถที่จะเอาอุตุมาสร้างรูปที่เกิดเพราะกรรมได้เลย
ทั้ง ๑๘ รูปนี้ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งกล่าวโดยนัยของอารมณ์ แต่ถ้ากล่าวโดยความเป็นรูปก็ได้แก่ วรรณะ สัททะ คันธะ รสะ ปฐวี เตโช วาโย อาโป โอชา จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป หทยรูป อิตถีภาวรูป ปุริสภาวรูป ชีวิตินทริยรูป ทั้งหมด ๑๘ รูป ชื่อว่า สภาวรูป
สภาวรูป หมายความว่าเป็นรูปที่มีสภาพของตนๆ เช่น สภาพที่แข็ง ก็มีลักษณะที่แข็งที่เป็นสภาพของตนจริงๆ นอกจากนั้นทั้ง ๑๘ รูปนี้ยังชื่อว่า สลักขณรูป เพราะประกอบด้วยลักษณะทั้งหลาย มีความเกิด เป็นต้น หรือมีความไม่เที่ยง เป็นต้น คือ มีความเกิดขึ้นและมีความดับไป ประกอบด้วยลักษณะที่เป็นไตรลักษณ์
นอกจากนั้นรูปทั้ง ๑๘ รูปนี้ยังชื่อว่า นิปผันนรูป เพราะเป็นสิ่งที่สำเร็จเกิดขึ้นจากปัจจัย มีกรรม เป็นต้น และยังชื่อว่า สัมมสนรูป เพราะควรเพื่อพิจารณาให้ประจักษ์ในสภาพที่เป็นไตรลักษณ์ เพื่อประจักษ์ในความไม่เที่ยง
มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินไหม
เพราะฉะนั้น ท่านที่กล่าวว่าท่านรู้รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน เป็นต้น ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน เป็นรูปอะไรในสัมมสนรูป ๑๘ รูปบ้าง ไม่มีเลย แล้วยังหลงเข้าใจว่า ท่านได้รู้รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินแล้ว นั่นเป็นการรู้ผิดหรือว่ารู้ถูก ถ้าไม่มีการรู้ผิดเลย ในพระไตรปิฎกจะไม่มีคำว่า มิจฉาญาณะ หรือ มิจฉาวิมุตติ แต่เพราะธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียด แล้วอาจจะเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนได้ ถ้าท่านไม่ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยอย่างถูกต้อง ก็ย่อมจะเป็น มิจฉาญาณะ และ มิจฉาวิมุตติ ได้
ท่านสอบทานเทียบเคียงได้ ถ้าท่านแน่ใจจริงๆ ท่านต้องหาได้ ท่านต้องแสดงได้ว่า ใน ๑๘ รูปนี้ ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน เป็นรูปอะไรใน ๑๘ รูป
รูปที่ ๑๙ กายวิญญัติรูป คือ อาการของกายที่ทำให้มีความหมายในอาการนั้นๆ ตามเจตนาของจิตที่เป็นสมุฏฐาน กายนี้สามารถที่จะแสดงให้คนอื่นรู้ในความหมายนั้นได้ ในขณะนั้น รูปนั้นเกิดขึ้นเพราะมีจิตเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า กายวิญญัติรูป เป็นอสภาวรูป คือ ไม่ใช่เป็นรูปที่มีลักษณะเฉพาะของตนแยกออกไปอีกต่างหาก แต่เป็นลักษณะของสัมมสนรูป เป็นลักษณะของนิปผันนรูป เป็นลักษณะของสภาวรูปตามสมควรแก่กลุ่มนั้น กลาปนั้นนั่นเอง แต่เพราะเหตุว่ามีจิตที่ต้องการให้เกิดความหมายตามเจตนาของจิต จิตจึงเป็นสมุฏฐานให้รูปนั้นมีความหมายในอาการของรูปที่เกิดนั้นด้วย เป็นกายวิญญัติรูป แต่ไม่ใช่มีสภาวะแยกออกไปต่างหากที่เป็นของตน เพียงแต่ว่า รูปนั้นมีความหมายให้รู้ได้ตามเจตนาของจิตที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปนั้น
รูปต่อไปในอสภาวรูป อสัมมสนรูป ที่มี ๑๐ รูป คือ วจีวิญญัติรูป ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงเป็นลำดับ ก็เป็นลำดับที่ ๒๐
วจีวิญญัติรูป คือ รูปที่ทำให้เกิดเสียงขึ้น ในฐานเกิดแห่งคำพูด โดยมีจิตเป็นสมุฏฐาน ที่กำลังพูดอยู่เดี๋ยวนี้เป็นวจีวิญญัติรูป มีวจีวิญญัติทำให้เสียงเกิดขึ้นในฐานแห่งคำพูด โดยมีจิตเป็นสมุฏฐาน จะพูดว่าอะไรก็แล้วแต่ มีจิตเป็นสมุฏฐานให้รูปนั้นทำให้เกิดเสียงขึ้นในฐานแห่งอักษร หรือว่าในฐานเกิดแห่งคำพูด ไม่ใช่เสียงลม ไม่ใช่เสียงใบไม้ แต่ว่าเป็นเสียงที่เกิดขึ้นเพราะมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นรูปที่ ๒๐ ในรูป ๒๘ รูป และเป็นรูปที่ ๒ ของอสภาวรูป อสัมมสนรูป ๑๐ รูป
รูปที่ ๒๑ ลหุตารูป ได้แก่ สภาพที่เบา ไม่หนักของรูป อุปมาว่า ดุจคนไม่มีโรค
รูปที่ ๒๒ มุทุตารูป ได้แก่ ความอ่อนละมุนของรูป อุปมาว่า ดุจหนังที่เขาฟอกดีแล้ว หนังที่ยังไม่ได้ฟอก แข็ง หนังที่ฟอกแล้ว อ่อน แต่ก็ยังคงเป็นหนังนั่นเอง ไม่ใช่ว่ามีลักษณะอ่อนละมุนต่างหากออกไปจากตัวหนัง
รูปที่ ๒๓ กัมมัญญตารูป ได้แก่ สภาวะ สภาพลักษณะของรูปที่ควรแก่การงาน อุปมาว่า ดุจทองที่เขาหลอมดีแล้ว ทองที่ยังไม่ได้หลอมกับทองที่หลอมแล้ว ลักษณะผิดกัน แต่ไม่ใช่ว่าลักษณะที่ควรแก่การงานที่หลอมแล้ว เป็นลักษณะที่แยกออกไปจากทอง เป็นลักษณะของทองนั่นเอง แต่ว่าควรแก่การงาน เพราะเหตุว่าหลอมแล้ว
๓ รูปนี้รวมเป็น วิการรูป ๓ ได้แก่ ลหุตารูป ๑ มุทุตารูป ๑ กัมมัญญตารูป ๑
สำหรับอสัมมสนรูปมี ๑๐ รูป มีกายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ ลหุตารูป ๑ มุทุตารูป ๑ กัมมัญญตารูป ๑
มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินไหม ไม่มี
จะไปรู้ท่า รู้ทางทำไม ที่ไปรู้เป็นท่า เป็นทางปิดบังสภาพของรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ไม่ได้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นรูปตามปกติเลย
เพราะฉะนั้น กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ ที่เป็นวิญญัติรูป ๒ และ ลหุตารูป ๑ มุทุตารูป ๑ กัมมัญญตารูป ๑ ซึ่งเป็นวิการรูป ๓ นี้ ไม่ใช่รูปที่ควรแก่การพิจารณาเพื่อจะประจักษ์ไตรลักษณ์
ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย จะต้องรู้ความอ่อนแข็ง ความเย็นร้อน ความตึงไหว ไม่ใช่ไปรู้ความเบา ความอ่อนละมุน ความควรแก่การงาน ของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะว่าเป็นแต่เพียงสภาพลักษณะอาการของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นรูปอีกรูปหนึ่งซึ่งแยกต่างหากออกไปได้ เอาอะไรมาจากไหนที่จะมาเป็นท่าทางลอยๆ ขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม
อีก ๕ รูปที่เหลือ คือ ลักขณรูป ๔ และ อากาสรูป หรือ ปริจเฉทรูป ๑
สำหรับลักขณรูป ๔ มี อุปจยะ ลักษณะแรกเกิดของรูป สันตติ ลักษณะที่รูปเจริญขึ้น ชรตา ลักษณะเสื่อมของรูป อนิจจตา ลักษณะที่แตกสลายของรูป ทั้ง ๔ รูปนี้ ไม่ได้มีลักษณะต่างหากแยกออกไปจากรูปที่เป็นสภาวรูป
มีใครที่จะพิจารณาความเกิดขึ้นที่เป็นอุปจยะ สันตติ ชรตา และอนิจจตา โดยที่ไม่รู้รูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายบ้างไหม จะพิจารณาลักษณะเกิดของอะไร ก็ไม่มีลักษณะที่จะให้รู้ได้เลย
สำหรับอากาศรูปนั้น เป็นรูปที่คั่นอยู่ระหว่างกลาปทั้งหลาย เป็นความว่าง เป็นสภาพที่ไม่ใช่นามธรรม ถ้าจะกล่าวว่ารูปนี้ไม่มี กลาปทั้งหลายก็ต้องติดกันไปหมด
เพราะฉะนั้น ทั้ง ๑๐ รูป
กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ เป็น วิญญัติรูป ๒
ลหุตารูป ๑ มุทุตารูป ๑ กัมมัญญตารูป ๑ เป็น วิการรูป ๓
อุปจยรูป ๑ สันตติรูป ๑ ชรตารูป ๑ อนิจจตารูป ๑ เป็น ลักขณรูป ๔
และปริจเฉทรูป
รวม ๑๐ รูปนี้ ไม่ใช่รูปที่ชื่อว่าสัมมสนรูป ไม่ใช่รูปที่ควรพิจารณา เพราะเหตุว่าไม่มีลักษณะต่างหากของตน ที่จะให้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปได้
ในรูป ๒๘ รูปนั้น วรรณะ คือ สี สัททะ คือ เสียง คันธะ คือ กลิ่น รสะ คือรส ปฐวี อ่อนแข็ง เตโช เย็นร้อน วาโย ตึงไหว รวมทั้งหมดเป็นโคจรรูป ๗ กับปสาทรูป ๕ คือ จักขุปสาทรูป ๑ โสตปสาทรูป ๑ ฆานปสาทรูป ๑ ชิวหาปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ รวม ๑๒ รูปนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ๑๒ รูปหยาบนี้เป็นรูปใกล้ คือ เป็นสันติเกรูป เพราะว่าเป็นรูปซึ่งแทงตลอดได้ง่าย โดยลักษณะหมายความว่า พิจารณาได้ง่าย
สำหรับรูปอีก ๑๖ รูป ชื่อว่า รูปละเอียด หรือ สุขุมรูป ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นรูปไกล คือ ทูเรรูป เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่แทงตลอดได้ยากโดยลักษณะ
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 154