แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 152

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสธรรมเป็นอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้เป็นผู้ออกจากสกุลสูง บวชแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ออกจากสกุลสูง บวชแล้ว ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้มิใช่เป็นผู้ออกจากสกุลสูง บวชแล้ว อสัตบุรุษนั้นจึงยกตนข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อสัปปุริสธรรม

ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรม คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไปเพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงเลย ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ออกจากสกุลสูง บวชแล้ว แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่ นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ สัปปุริสธรรม

ขอให้สังเกตพยัญชนะ ละอาคารบ้านเรือนแล้ว เป็นผู้ที่ศรัทธาที่จะสละกิเลส แต่เป็นอสัปปุริสธรรม หรือเป็นอสัตบุรุษ

ข้อความต่อไปมีว่า

ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไปเพราะความเป็นผู้มีสกุลใหญ่ เพราะความเป็นผู้มีโภคะมาก เพราะเป็นผู้ปรากฏมียศ เพราะเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะความเป็นพหูสูต เพราะความเป็นพระวินัยธร เพราะความเป็นพระธรรมกถึก เพราะเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร อยู่ป่าช้าเป็นวัตร อยู่กลางแจ้งเป็นวัตร ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร

ข้อความต่อไป

ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะได้ ปฐมฌาน เป็นต้นไป จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

สำหรับข้อความเรื่องการอยู่ป่า ซึ่งก็จะตรงกับปัญหาของท่านที่ข้องใจ ข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎกมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตนข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม

ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรม คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไปเพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ

สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม

จะตรงกับข้อข้องใจของท่านไหมที่ว่า การปลีกตัวออกไปปฏิบัติวิปัสสนาเป็นอัตตามีกล่าวไว้ในพระสูตรไหน คัมภีร์ไหน ถ้ายังไม่หมดอัตตา ก็ต้องเป็นอัตตา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้น การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นอัตตาได้ ก็ด้วยการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนนั่นเอง และโดยเฉพาะในเรื่องของปฐมฌาน ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษสงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่ใช่เป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตนข่มผู้อื่นด้วยปฐมฌานสมาบัตินั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม

ถ้าไม่เจริญสติเป็นปกติแล้ว อยู่ป่าได้ฌาน ก็ยังเป็นเรา เป็นอสัตบุรุษ

เพื่อที่จะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอกล่าวถึงข้อความอื่นๆ

ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐ ปฐมสังฆเภท สิกขาบทวรรณา แก้อรรถปฐมบัญญัติ เรื่องพระเทวทัต

พระเทวทัตทูลขอพระวโรกาส มีความว่า

ภิกษุทั้งหมดสมาทานอรัญญิกธุดงค์แล้ว จงเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร คือ จงอยู่แต่ในป่าเท่านั้นตลอดชีวิต

พระเทวทัตกล่าวด้วยความประสงค์ว่า ภิกษุใด คือ แม้ภิกษุรูปหนึ่งละป่าเข้าสู่เขตบ้าน เพื่อต้องการจะอยู่ โทษพึงต้องภิกษุนั้น คือ โทษจะต้องภิกษุนั้น ได้แก่ พระผู้มีพระภาคจงทรงปรับภิกษุนั้นด้วยอาบัติ แม้ในวัตถุที่เหลือ ก็มีนัยเหมือนกันนี้

ในวัตถุที่เหลือ ก็ในเรื่องของโคนไม้ เป็นต้น

พระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคในข้อนี้มีว่า

กุลบุตรควรทราบความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ทราบความสมควรแก่ตน

จริงอยู่ความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคในคำว่า โย อิจฺฉติ เป็นต้นนี้ มีดังนี้

ภิกษุรูปหนึ่งมีอัธยาศัยใหญ่ มีอุตสาหะมาก ย่อมสามารถเพื่องดเสนาสนะใกล้แดนบ้านเสียแล้ว อยู่ในป่า กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ภิกษุรูปหนึ่งมีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อย ย่อมไม่สามารถจะอยู่ในป่า กระทำที่สุดทุกข์ได้ สามารถกระทำที่สุดทุกข์ได้แต่ในคามเขตเท่านั้น

รูปหนึ่งมีกำลังมาก มีธาตุเป็นไปสม่ำเสมอ สมบรูณ์ด้วยอธิวาสนขันติ มีจิตคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ย่อมสามารถทั้งในป่า ทั้งในเขตบ้านได้ทั้งนั้น

รูปหนึ่งไม่อาจทั้งในเขตบ้าน ทั้งในป่า คือ เป็นปทปรมบุคคล

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใดมีอัธยาศัยใหญ่ มีอุตสาหะมาก ย่อมสามารถเพื่องดเสนาสนะใกล้แดนบ้านเสียแล้ว อยู่ในป่า กระทำที่สุดทุกข์ได้ ภิกษุรูปนั้นจงอยู่ในป่าเท่านั้นเถิด การอยู่ในป่านี้สมควรแก่เธอ แม้พวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นของเธอ ศึกษาตามอยู่ จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ในป่าด้วย

อนึ่ง ภิกษุรูปใดมีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อย ย่อมอาจจะกระทำที่สุดทุกข์ได้ในแดนบ้านเท่านั้น ในป่าไม่อาจ ภิกษุนั้นจงอยู่แต่ในเขตบ้านเท่านั้นก็ได้

ส่วนภิกษุรูปใดซึ่งมีกำลังแข็งแรง มีธาตุเป็นไปสม่ำเสมอ สมบูรณ์ด้วยอธิวาสนขันติ มีจิตคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ย่อมอาจทั้งในป่า ทั้งในแดนบ้านทีเดียว แม้รูปนี้จงละเสนาสนะใกล้แดนบ้านเสียแล้ว อยู่ในป่าเถิด การอยู่ในป่านี้สมควรแก่เธอ แม้พวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นของเธอ เมื่อศึกษาตามอยู่ จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ในป่า

ส่วนภิกษุนี้ใดซึ่งไม่อาจกระทำที่สุดทุกข์ได้ คือ ไม่อาจที่จะบรรลุมรรคผลได้ทั้งในแดนบ้าน ไม่อาจทั้งในป่า เป็นปทปรมบุคคล แม้รูปนี้ก็จงอยู่ในป่านั้นเถิด เพราะว่าการเสพธุดงคคุณ และการเจริญกัมมัฏฐานนี้ของเธอ จักเป็นอุปนิสสัยเพื่อมรรคและผลต่อไปในอนาคต แม้พวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นของเธอ เมื่อศึกษาตามอยู่ จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ป่า ฉะนี้แล

ภิกษุนี้ใดซึ่งเป็นผู้มีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อยอย่างนี้ เมื่ออยู่ในแดนบ้านเท่านั้น จึงอาจเพื่อจะทำที่สุดทุกข์ได้ ในป่าไม่อาจ พระผู้มีพระภาคทรงหมายถึงบุคคลเช่นนี้ จึงตรัสว่า

ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้นจงอยู่ในแดนบ้านเถิด ดังนี้ และบุคคลนี้ได้ให้ช่อง แม้แก่คนเหล่าอื่น

ก็ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคพึงทรงรับรองวาทะของพระเทวทัตไซร้ บุคคลนี้ใดซึ่งมีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อยตามปกติ ถึงบุคคลใดสามารถอยู่ในป่าสำเร็จได้ แต่ในเวลายังเป็นหนุ่ม ต่อมาในเวลาแก่ตัวลง หรือในเวลาเกิดธาตุกำเริบ เพราะลมและดีเป็นต้น อยู่ป่าไม่สำเร็จ แต่เมื่ออยู่ในแดนบ้านเท่านั้น จึงอาจกระทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลเหล่านั้นจะพึงสูญเสียอริยมรรคไป ไม่พึงบรรลุอรหัตตผลได้ สัตถุศาสน์นี้จะพึงกลายเป็นนอกธรรม นอกวินัย ยุ่งเหยิง ไม่เป็นไปเพื่อนำออกจากทุกข์ และพระศาสดาจะพึงเป็นผู้มิใช่พระสัพพัญญูของบุคคลจำพวกนั้น ทั้งจะพึงถูกตำหนิติเตียนว่า ทรงทิ้งวาทะของพระองค์เสีย ไปตั้งอยู่ในวาทะของพระเทวทัต ดังนี้

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงสงเคราะห์บุคคลทั้งหลายผู้เห็นปานนี้ จึงทรงปฏิเสธวาทะของพระเทวทัตในเรื่องแห่งภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร พึงทราบวินิจฉัยโดยอุบายนี้นั้นแล

แสดงให้เห็นว่า การอยู่ป่าจริงๆ ยากลำบากมาก เฉพาะบางท่านที่มีอัธยาศัยใหญ่ มีอุตสาหะมาก มีกำลังแข็งแรง มีเรี่ยวแรงมาก จึงจะอยู่ในป่าและกระทำที่สุดทุกข์ได้ แต่ส่วนบุคคลอื่นนั้นไม่สามารถที่จะอยู่ในป่า อยู่ในบ้านก็กระทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงรับรองวาทะของพระเทวทัต

ขอตอบคำถามข้อ ๒ ที่ว่า ผมเคยได้ยินว่า ในสติปัฏฐานให้รู้ว่า นั่ง ยืน เดิน นอน ในท่าทางอาการ แต่อาจารย์สอนว่า ให้รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีอยู่ในพระสูตรไหน

ขอกล่าวถึง ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร โดยตรง

ใน อิริยาบถบรรพ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน เมื่อเธอตั้งกายไว้ ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

จบ อิริยาบถบรรพ

สำหรับคำถามของท่านผู้ข้องใจที่ถามว่า ผมเคยได้ยินว่า ในสติปัฏฐานให้รู้ว่า นั่ง ยืน เดิน นอน ในท่าทางอาการ แต่อาจารย์สอนว่าให้รู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีอยู่ในพระสูตรไหน

ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก แม้ใน มหาสติปัฏฐาน นี้เอง เพราะเหตุว่าข้อความมีว่า อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน

พยัญชนะใช้คำว่า รู้ชัด หมายความว่า รู้ตามปกติ ตามสภาพธรรมที่กำลังเป็นจริง ขณะนี้ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ ทรงอยู่ในลักษณะอาการอย่างไร ถ้ามีความรู้ชัดในสภาพธรรมที่ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในอาการนั้น ท่านจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนั้นตามความเป็นจริง

พยัญชนะที่ว่า ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน คำว่า เรา เป็นคำสมมติที่หมายความว่า ไม่ใช่บุคคลอื่น แต่เวลาที่บุคคลนั้นเองกำลังเดิน ก็มีความรู้ชัด ความรู้ชัดต้องเป็นความรู้ตามปกติ เพราะเหตุว่าที่กำลังเดินอยู่ ถ้าระลึกที่กาย ส่วนที่เป็นกายที่กำลังเดินมีลักษณะอย่างไร ก็มีลักษณะเย็นที่เกิดขึ้นปรากฏ หรือว่าถ้ามีสภาพลักษณะที่อ่อน ที่ตึง ที่ไหวเกิดขึ้นปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่ว่าให้รู้ท่าทางมีกล่าวไว้ที่ไหน ไม่มีเลย เพราะเหตุว่าพยัญชนะบอกว่า ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน เมื่อเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ

อาการอย่างนั้นๆ ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏ ไม่ใช่ไม่ปรากฏแล้วก็ไปนึกเอา แต่จะต้องมีความรู้ชัดในอาการของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ข้อความต่อไปเพิ่มความชัดเจนขึ้นอีกว่า

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม ... บ่งแล้วใช่ไหมว่า เป็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ จึงได้พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

ถ้าไม่เกิดขึ้นจะปรากฏไหม สภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏ ที่ปรากฏเพราะเหตุว่าเกิดขึ้นจึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่พิจารณากาย ก็พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง ถ้ากำลังพิจารณาอยู่ สิ่งที่กำลังปรากฏก็หมดไปเป็นความเสื่อม ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้

เพราะมีความรู้ในขณะนั้น กายจึงเป็นอารมณ์ จึงมีปรากฏได้ เพราะสติกำลังระลึกรู้สภาพที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะต้องเทียบเคียงสภาพธรรมตามความเป็นจริงทั้ง ๓ ปิฎก คือ ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกด้วย ในพระ อภิธรรมปิฎกได้แสดงลักษณะของรูปไว้ทั้งหมด ๒๘ รูป และใน ๒๘ รูป สิ่งที่สติควรระลึกรู้ได้แก่รูปอะไร ถ้าเป็นกายปสาทแล้วต้องรู้สภาพที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน ที่ตึง ที่ไหว ซึ่งมีเป็นปกติธรรมดา เมื่อลักษณะนั้นมีจริง สติควรระลึกไหม ควรรู้ไหม เพราะเป็นสภาพธรรมซึ่งมิใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นแล้วก็ปรากฏ เมื่อเกิดแล้วก็หมดไป

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านที่เข้าใจว่าจะต้องรู้ในท่าทางอาการ ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกว่า การที่ท่านกล่าวว่าในขณะที่ยืนก็ตาม เดินก็ตาม นั่งก็ตาม นอนก็ตาม ที่ว่าให้รู้ท่าทางนั้นมีอยู่ในปิฎกไหน เพราะในรูปปรมัตถ์จะต้องเป็นสิ่งที่มีปรากฏจริงๆ ซึ่งสำหรับเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในอิริยาบถบรรพนี้ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินก็ตาม ผู้ที่รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ก็จะไม่พ้นไปจากสภาพลักษณะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้รู้ลักษณะของรูปและนามตามปกติ แต่ไปเข้าใจว่า มี ท่านั่งจริงๆ แต่ไม่รู้รูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ไม่ได้รู้อะไร เพราะมัวแต่ไปสร้างให้ความรู้สึกเกิดขึ้นว่าเป็นรูปเท่านั้น บังสภาพธรรมของรูปที่กำลังปรากฏนิดเดียวแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเย็น ก็ปรากฏนิดหนึ่ง ร้อน ก็ปรากฏนิดหนึ่ง เสียง ก็ปรากฏนิดหนึ่ง นี่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะต้องระลึกรู้

ก็ขอให้พิจารณาเทียบเคียงข้อปฏิบัติของท่านกับความเป็นจริงว่า สิ่งที่ท่านเข้าใจว่าเป็นความจริงแล้ว เป็นการรู้แล้วนั้น ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้อง ควรจะทิ้งเสีย แล้วเจริญความรู้ที่ถูกต้อง

ทุติยสมันตปาสาทิกา โกฏิยวรรค สิกขาบทที่ ๕ มีข้อความว่า

เราทั้งหลายชื่อว่าเป็นสาวก จักไม่บัญญัติข้อที่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติไว้

นี่เป็นพระวินัย สำหรับเรื่องของธรรมก็เช่นเดียวกัน ถ้าข้อปฏิบัตินั้นไม่มีในครั้งพุทธกาล จะกล่าวว่าสมัยนี้ต้องทำอย่างนั้น ไม่เหมือนสมัยพุทธกาล สมัยนี้ต้องเปลี่ยน จะถูกหรือจะผิด อย่าลืม เราทั้งหลายชื่อว่าเป็นสาวก จักไม่บัญญัติข้อที่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบัญญัติไว้

ถ้าท่านยังคงต้องการพิจารณาท่าทางอาการ และให้มีความรู้สึกเกิดขึ้นว่าเป็นรูป ท่านก็ควรจะสอบทานกับรูปปรมัตถ์ที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎกด้วย

เปิด  308
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566