ชฏิลสูตร
ส่วนการที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์นั้น มีหนทางที่จะทราบได้ไหม
ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ชฏิลสูตร ที่ ๑ เป็นสูตรที่ยาว แต่จะช่วยทำให้ท่านผู้ฟังได้เทียบเคียงธรรมกับความเข้าใจของท่านไม่ให้คลาดเคลื่อน เพราะโดยมากท่านผู้ฟังตื่นเต้นในบุคคล ถ้าผู้ใดอยู่ในป่า ท่านก็เข้าใจว่า ท่านผู้นั้นคงจะเป็นพระอรหันต์ ถ้าท่านเห็นผู้ใดแสดงธรรมแล้วซาบซึ้ง โดยที่ท่านยังไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดรอบคอบ ท่านก็ตื่นเต้นว่าผู้นั้นเป็นพระอรหันต์
เคยมีท่านผู้ฟังที่เล่าให้ฟังว่า เวลาที่ไปฟังธรรมจะมีผู้ที่ไปด้วยถามว่า มีความเห็นอย่างไรในท่านผู้บรรยายธรรมท่านนั้น ท่านบรรลุคุณธรรมขั้นไหนแล้ว คือ คอยแต่จะวัด คอยแต่จะเปรียบ คอยที่จะแสวงหาพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง พระอรหันต์บ้าง โดยลืมเทียบเคียงเหตุผลของธรรมวินัย เพียงแต่เป็นผู้ที่อาจจะอยู่ป่าเท่านั้น ท่านก็เข้าใจเอาเองว่า ท่านผู้นั้นอาจจะเป็นพระอรหันต์เสียแล้ว แต่ข้อความในชฏิลสูตรจะทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเทียบเคียงธรรมวินัยด้วย
ข้อความใน ชฏิลสูตร ที่ ๑ มีว่า
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม ปราสาทของ วิสาขามิคารมารดา เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ทรงพักผ่อนแล้วประทับนั่งที่ภายนอกซุ้มประตู ครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ก็สมัยนั้น ชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คน ผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว ถือเครื่องบริขารต่างๆ เดินผ่านไปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ทันใดนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลก็เสด็จลุกจากอาสนะ ทรงกระทำพระภูษาเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงจรดพระชานุมณฑลเบื้องขวา ณ พื้นแผ่นดิน ทรงประนมอัญชลีไปทางชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คนเหล่านั้นแล้ว ทรงประกาศพระนาม ๓ ครั้ง ว่า
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล
ลำดับนั้น เมื่อชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คนเหล่านั้นเดินผ่านไปได้ไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกนักบวชเหล่านั้นคงเป็นพระอรหันต์ หรือท่านผู้บรรลุพระอรหัตตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม ครอบครองเรือน บรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา ทาจุณจันทน์อันมาแต่แคว้นกาสี ทรงมาลาของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีเงินและทอง ยากที่จะรู้เรื่องนี้ว่า คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือคนพวกนี้บรรลุอรหัตตมรรค
ใครเป็นพระอรหันต์ รู้ยากหรือง่าย ถ้าเป็นพระภิกษุผู้ทรงพระวินัยครบถ้วนแล้ว จะไม่มีอะไรเลยที่จะทำให้รู้ได้ว่า พระภิกษุรูปนั้นเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะเสมอเหมือนกันหมด โดยความเป็นเพศบรรพชิตผู้ทรงพระวินัย
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร มหาบพิตร ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ก็ศีลนั้นจะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
ดูกร มหาบพิตร ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยการงาน ก็ความสะอาดนั้นจะพึงรู้ได้ ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
ศีลนั้นเป็นข้อต้น แล้วแต่ท่านผู้นั้นจะเป็นผู้ที่รักษาศีลขั้นใด และผิดศีลขั้นใดบ้าง ต้องอาศัยกาลเวลานาน และเป็นผู้ที่สนใจจึงจะรู้ ผู้มีปัญญารู้ว่า อย่างใดเป็นศีล อย่างใดทุศีล ก็จะทราบได้ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีศีล หรือเป็นผู้ทุศีล ไม่ใช่ว่าเห็นครู่เดียวก็จะรู้ว่า ผู้นั้นมีศีล หรือว่าไม่มีศีล
สำหรับความสะอาดก็ละเอียดขึ้น เป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ไม่ใช่จะรู้กันได้ด้วยเวลาเพียงเล็กน้อย แต่จะพึงรู้ได้ด้วยกาลนานว่า ผู้ใดมีกายสะอาด มีวาจาสะอาด บางทีก็ไม่ใช่การผิดศีล แต่เป็นความสะอาดทางวาจา ความสะอาดของการกระทำทางกายที่จะไม่เบียดเบียน และไม่เป็นโทษกับบุคคลอื่น แต่ทั้งหมดนี้จะละคลายให้หมดไปได้ก็ด้วยการเจริญสติ
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร มหาบพิตร กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย ก็กำลังใจนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 173
ที่ว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย อันตรายก็มีหลายอย่าง อันตรายเพราะโรคเกิดขึ้น อันตรายเพราะญาติ ทรัพย์สมบัติวิบัติเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ ผู้ที่มีกำลังใจมั่นคง เวลาที่มีอันตรายเกิดขึ้น ก็เป็นผู้ที่หวั่นไหวน้อย ถ้าผู้ใดที่หวั่นไหวมาก ผู้นั้นก็ไม่ใช่ผู้ที่มีกำลังใจมั่นคง
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร มหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ก็ปัญญานั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
บางท่านฟังธรรมติดต่อกัน แล้วพิจารณาใคร่ครวญในเหตุผล ท่านย่อมจะทราบได้ว่า คำใดถูกต้องตามความเป็นจริง หรือว่าคำใดคลาดเคลื่อน แต่ปัญญานั้นไม่ใช่เรื่องที่บุคคลอื่นจะทราบได้ถ้าไม่สนทนากัน ไม่ใช่เรื่องเหาะเหินเดินอากาศ แต่เป็นความรู้ซึ่งเป็นนามธรรม และความรู้ก็มีหลายขั้นด้วย เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่าผู้ใดมีปัญญาหรือว่าผู้ใดไม่มีปัญญา ก็จะพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องไม่เคยมีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม ยากที่จะรู้เรื่องนี้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ ดังนี้ เป็นอันตรัสดีแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเหล่านั้นเป็นคนของหม่อมฉัน เป็นจารบุรุษ เป็นคนสืบข่าวลับ เที่ยวสอดแนมไปยังชนบท แล้วพากันมา ในภายหลังข้าพระองค์จึงจะรู้เรื่องราวที่คนเหล่านั้นสืบได้ก่อน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้คนเหล่านั้นชำระล้างละอองธุลีนั้นแล้ว อาบดี ประเทืองผิวดี โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้าขาว เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยเบญจกามคุณ บำเรอข้าพระองค์อยู่
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนี้แล้ว จึงได้ทรงภาษิตพระคาถา เหล่านี้ ในเวลานั้นว่า
คนผู้เกิดมาดีไม่ควรไว้วางใจเพราะผิวพรรณและรูปร่าง ไม่ควรไว้ใจเพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลายย่อมเที่ยวไปยังโลกนี้ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว ประดุจกุณฑลดิน และมาสกะโลหะหุ้มด้วยทองคำปลอมไว้ คนทั้งหลายไม่บริสุทธิ์ในภายใน งามแต่ภายนอก แวดล้อมด้วยบริวาร ท่องเที่ยวอยู่ในโลก
นี่เป็นพระสูตรที่เตือนให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรม ไม่ใช่ตัดสินผิวเผินตามที่ท่านเห็น หรือตามที่ท่านคิด ตามที่ท่านเข้าใจ
ถ . วิธีทดลองดูเหมือนจะเป็นในสมัยพุทธกาล หรืออย่างไรก็จำไม่ได้ จะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็น เอามะขามไปเคี้ยวต่อหน้าท่าน ถ้าท่านมีน้ำลาย ตัณหาในรสมันเกิด ไม่ใช่พระอรหันต์ อีกนัยหนึ่ง ท่านหัวเราะหรือท่านชอบใจ อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่จะรู้จริงๆ ว่าใครเป็นพระอรหันต์หรือไม่ อย่างที่อาจารย์ว่า คือ รู้ยาก
สุ . ก็เป็นเรื่องพิสูจน์พระอรหันต์ หลายท่านๆ ใช้ความคิดความเข้าใจของท่านเองเป็นเครื่องวัด แทนที่จะเอาธรรมวินัยเป็นเครื่องวัด บางท่านเลื่อมใสในบุคคลที่แต่งกายเศร้าหมอง เหมือนกับว่าผู้นั้นหมดกิเลส ถ้าใครแต่งตัวสวยๆ งามๆ ก็ไม่เกิดความเลื่อมใส พุทธบริษัทมี ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตามความเป็นจริงไม่ใช่ตามมายา หรือหลอกลวงบุคคลอื่นให้เข้าใจผิด สาวกสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ปฏิบัติตรง ไม่ใช่ปฏิบัติคด งอ หลอกลวง หรือมีมายาให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด บางคนอาจจะทำเป็นพระอรหันต์สักวันหนึ่ง ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะดังๆ ใครจะทำอย่างไรก็สำรวมไว้ แต่ขอให้ศึกษาดูประวัติของสาวกแต่ละท่านในครั้งอดีตที่มาสู่ธรรมวินัยแล้วก็บรรลุคุณธรรม อย่างท่านวิสาขามิคารมารดาซึ่งเป็นอุบาสิกาถือศีล ๕ ท่านก็มีชีวิตตามที่ท่านได้สะสมมา เป็นแบบหนึ่งของท่าน ท่านไม่ได้ไปหลอกลวงบุคคลอื่นว่า ท่านเป็นพระภิกษุณีหรือหมดกิเลสไปจนถึงขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ทุกท่านตรงต่อธรรม
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเป็นผู้มีชีวิตแบบสงบแล้วก็ง่ายๆ ทั้งในความเป็นอยู่ เสื้อผ้า ก็ไม่ได้เดือดร้อนวุ่นวายว่าคนอื่นจะมองท่านไปในลักษณะใด จะว่าเป็นคนล้าสมัย หรือว่า จะเป็นคนที่ไม่สนใจการแต่งกาย ท่านก็ไม่เดือดร้อน ท่านไม่ดื่มสุรายาเมา ซึ่งทำให้บรรดาศิษย์สนใจว่า อาจารย์ท่านนี้มีธรรมขั้นไหน แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการละสมุทยสัจ คือ ความพอใจ ท่านที่มีชีวิตสงบ สงบด้วยการสะสมอุปนิสัยมาที่จะไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหวในคำวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลอื่น แต่การที่จะละกิเลสได้ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทมีหนทางเดียว คือ การที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงจะละความยินดีความพอใจใดๆ ได้ บางท่านไม่ทราบว่า ท่านมีความยินดีความพอใจอยู่ที่ใดอยู่ขั้นใด อย่างท่านที่มีชีวิตสงบแลท่านมีความยินดีพอใจ สมุทยสัจก็อยู่ที่ความสงบนั้นแล้ว ท่านจึงไม่เจริญปัญญาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ละคลาย แล้วก็ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท
ถ้าตราบใดที่อนุสัยกิเลสยังไม่ดับ กิเลสก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ นี่เป็นเรื่องที่ทุกท่านควรที่จะได้พิจารณาว่า หนทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้แท้จริงนั้นด้วยการเจริญสติ ไม่ใช่เพียงขั้นสงบ หรือว่าเพียงมีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่เดือดร้อนกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลอื่น แล้วก็จะกลายเป็นพระอรหันต์ไปทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ไม่ได้เจริญสติ นั้นไม่ได้
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 174
ถ . มีท่านหนึ่งอยากจะรู้จริงๆ ว่า มีพระอรหันต์อยู่ในโลกไหม ท่านก็ไปเที่ยวแสวงหาตามที่ต่างๆ ไปตามจังหวัดต่างๆ ไปตามถ้ำ ตามอะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วท่านก็กลับมาบอกว่า ไม่พบพระอรหันต์
ผมถามว่า ถ้าพบแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็น ท่านบอกว่าน่าจะมีอะไรที่ผิดปกติบ้าง ผมก็บอกว่า ถ้าผิดปกติอย่างนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ไม่ตอบ นี่ก็เป็นการแสวงหาเพื่ออยากจะรู้เท่านั้น
ถ . ผมอยากจะแสวงหาพระโสดาบัน อาจจะพอพบบ้าง ความประสงค์ประการที่ ๑ อยากจะถามข้อธรรมที่ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ ประการที่ ๒ จะได้ทำบุญกับพระอริยบุคคล จะได้มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
สุ . ก็เป็นความต้องการในทางกุศล คือ ต้องการที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้อง และได้ส่งเสริมเกื้อกูลผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ แต่เพื่อผลมากด้วยหรือ เพื่อผลมาก ติดผลมาก ผูกพันในผลมาก ก็เลยไม่พ้นจากวัฏฏะ
ผลไม่เป็นไร เหตุสำคัญที่สุด คือ ได้เจริญกุศลทุกขั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้แก่สัตว์เดรัจฉาน หรือว่าบุคคลผู้ทุศีล หรือว่าบุคคลผู้มีศีล หรือว่าเป็นพระอริยะขั้นใดก็ตาม โอกาสของกุศลที่จะเกิดเป็นโอกาสที่หายาก เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสที่กุศลจะเกิดได้ ก็ควรให้เกิด เจริญให้มากๆ ทุกประการ เพื่อที่จะดับอกุศลธรรมได้ แต่ขออย่าได้ผูกพันกับผล ผลมากก็มาก ผลน้อยก็เจริญด้วย ไม่ใช่ว่าผลน้อยแล้วไม่เจริญ คอยหวังผูกพันอยู่กับผลมาก ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของอภิชฌา
ทำอย่างไรจึงจะทราบว่า ใครเป็นพระโสดาบันหรือว่าไม่เป็น ต้องอาศัยพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้แล้ว
ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ชฏิลสูตร ที่ ๑ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และการที่จะรู้ได้นั้น ก็ไม่ใช่เพียงชั่วเวลาเล็กน้อย ต้องอาศัยกาลเวลานานจึงจะรู้ได้ และผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
ถ้าท่านผู้ใดสนใจว่า บุคคลใดเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดก็ตาม ซึ่งเป็นผู้ที่มีศีลสมบรูณ์ตามขั้น ผู้นั้นคงจะต้องคอยเฝ้าสังเกตเป็นเวลานานมากทีเดียว ถ้าจะอาศัยการสังเกตด้วยศีล
ถ้าไม่กล่าวถึงผล กล่าวถึงเหตุ คือ ข้อปฏิบัติที่จะให้เป็นพระโสดาบัน หรือเป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องอาศัยการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาไม่เจริญ จะเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้เลย
เวลาที่ศึกษาการเจริญสติปัฏฐานจะพบคำหลายคำ เช่น คำว่า สังวร สำรวม เป็นศีลด้วย เพราะเหตุว่าสังวรในพระปาติโมกข์นั้นเป็นเรื่องของบรรพชิตที่จะต้องมีความประพฤติเป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ นั่นประการหนึ่ง และมีการสำรวมกาย วาจา ไม่ให้เป็นไปในทางทุจริต นั่นอีกประการหนึ่ง
และการสำรวมหรือสังวร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัส คิดนึก ถ้าท่านผู้ใดไม่เข้าใจข้อปฏิบัติอย่างถูกต้อง หรือไม่เข้าใจแม้พยัญชนะที่ว่า สำรวม หรือสังวร ก็อาจจะสับสนแล้วก็ปนกัน
สำหรับผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติคลาดเคลื่อน สำรวมต้องทำอย่างไร
ถ . ค่อยๆ เดิน
สุ . ถ้าค่อยๆ เดิน ทุกอย่างไม่เป็นปกติ มีการระแวดระวัง ผิดปกติ ซึ่งการสำรวมกิริยามารยาทเป็นเรื่องที่ถูก เป็นเรื่องที่ควร ในปกติชีวิตประจำวัน
เวลาที่มีบุคคลอื่น หรือในสถานที่ ในกาลใด กิริยามารยาทควรจะเป็นอย่างไร ก็มีการสำรวม มีการสังวรเป็นปกติ แต่เจริญสติได้แม้ในขณะนั้น โดยไม่ผิดปกติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่คิดว่า จะเจริญสติปัฏฐาน สายตาจะต้องไม่มองที่ไหน หูไม่รับฟังความหมายของเสียงที่ได้ยิน จะพูดกับใครก็ลำบากเหลือเกิน กว่าจะกำหนดออกมาได้ทีละคำสองคำ เพื่อที่จะให้เห็นว่าเป็นการสำรวม หรือเพื่อที่จะให้เห็นว่าเป็นการสังวร นั่นผิดแล้ว ไม่ใช่ปกติเลย นั่นเป็นการทำสำรวม เป็นการทำสังวร แต่ไม่ใช่สติที่สังวรที่สำรวมระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเป็นปกติ ซึ่งบุคคลอื่นไม่อาจที่จะรู้ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องก็รู้ได้ว่า ใครกำลังทำสำรวม ซึ่งไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติ ไม่ต้องทำสำรวม โดยมากท่านผู้ฟังอาจจะนิยมการทำสำรวม แต่ต้องเข้าใจว่า แม้พระภิกษุในครั้งพุทธกาลที่ท่านประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กิริยามารยาทอาการของท่านเป็นที่น่าเลื่อมใสเพราะเป็นปกติ ไม่ใช่เพราะทำแข็ง หรือทำสำรวมผิดปกติ แต่ก็มีผู้ที่สำรวมโดยไม่เจริญสติ เป็นปาติโมกขสังวรศีล จึงมีสังวรหลายอย่าง นี่ก็เป็นเรื่องของศีล
ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยการงาน
ใน ชฏิลสูตร มีข้อความอย่างนี้ แต่ใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต มหาวรรคที่ ๕ มีข้อความว่า
ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ
ในอรรถกถามีข้อความอธิบายว่า
ที่ว่าความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยการงานนั้น หมายความถึง ต่อหน้า ลับหลัง ตรงกัน คือ บุคคลบางคน คำที่พูดต่อหน้าไม่สมกับคำที่พูดลับหลัง และคำที่พูดลับหลังไม่สมกับคำที่พูดต่อหน้า
อีกอย่างหนึ่ง ถ้อยคำที่พูดก่อนไม่สมกับถ้อยคำที่พูดทีหลัง และถ้อยคำที่พูดทีหลังไม่สมกับถ้อยคำที่พูดก่อน ผู้นั้นเมื่อกล่าวอยู่ ใครๆ ก็ทราบได้ว่า เขาเป็นผู้ไม่สะอาด
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงประกาศว่า สำหรับผู้มีศีลสะอาด คำก่อนกับคำหลังสมกัน คำหลังกับคำก่อนสมกัน ที่พูดต่อหน้ากับที่พูดลับหลังสมกัน เพราะฉะนั้น จึงสามารถที่จะทราบได้ว่า ผู้นั้นสะอาด
ในอรรถกถา ยกเรื่องของถ้อยคำเป็นการอธิบายความหมายของความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยการงาน
ถ. มีปัญหาว่า คนที่จะมีอินทรีย์สังวร ไม่ควรจะละเลยศีลสังวรด้วย โรงเหล้าก็ดี ไนท์คลับก็ดี เราถือว่าเป็นที่อโคจร ควรจะมีศีลสังวรด้วยเพื่ออุปการะในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่ว่าเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปไหนๆ ก็ได้ ไปไนท์คลับก็ได้ ไปตามที่ที่เป็นอโคจร ที่ไม่สมควรแก่สมณะ ไม่สมควรแก่ความสงบ เราก็ไม่ควรไป ผมเข้าใจอย่างนี้ แต่เคยสนทนาเป็นส่วนตัวกับอาจารย์ อาจารย์บอกว่า ที่ไนท์คลับก็เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้ ถ้าเหตุการณ์จริงๆ เกิดขึ้นมา ผมไปไนท์คลับแล้วจะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ด้วย นี่เห็นจะลำบาก หรืออาจจะง่ายกับบางคนที่มีอินทรีย์แก่กล้า เป็นพละแล้ว แต่ถ้าเราพูดไม่เป็นหลักทั่วไป เกรงว่าคนใดคนหนึ่งที่เขาจะโจมตีทางนี้จะไปโพนทนาว่า สติปัฏฐาน ๔ ไปไนท์คลับก็ได้ ไปที่ไหนๆ ก็ได้
ผมคิดว่า ควรจะมีคำว่า ศีลสังวรกับอินทรีย์สังวรควรคู่กันไป เว้นแต่มีข้อยกเว้นบ้าง คือ เว้นที่เราจำเป็นจะต้องไป ขัดไม่ได้ เพื่อนชวนไปไนท์คลับคืนนี้ เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปตลอด ๖ ชั่วโมงในไนต์คลับ เราควรมีสติเกิดขึ้นเสียบ้าง อย่างนี้ผมว่าน่าจะเป็นทางสายกลางพอสมควรแก่ศีลสังวรและอินทรีย์สังวร ไม่ขัดกัน อาจารย์จะว่าอย่างไร โปรดกรุณาด้วย
สุ . มีศีลกันคนละเท่าไร เหมือนกันหมด เท่ากันหมด หรือต่างกันเป็นเพศของบรรพชิตและเพศของฆราวาส แต่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ
ผู้ที่เป็นฆราวาสมีศีลเท่าไร ถ้าศีล ๒๒๗ ไปโน่นไม่ได้ ไปนี่ไม่ได้ เป็นสถานที่ที่ไม่ควรไป ตัวอย่างในพระไตรปิฎก ท่านไม่ได้มีเจตนาที่จะไปดูหญิงฟ้อนรำ ท่านเที่ยวบิณฑบาตในพระนคร แล้วในพระนครขณะนั้นมีหญิงฟ้อนรำ
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 175
สำหรับข้อต่อไปที่ว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย
ในอรรถกถามีข้อความว่า
ถามะ หรือ ถาโม คือ กำลัง ความเพียร ความพยายาม ในที่นี้หมายความถึง ญาณถามะ ได้แก่ กำลังของญาณ จริงอยู่ กำลังญาณของผู้ใดไม่มี ผู้นั้นเมื่อเกิดอุปัทวะขึ้น มองไม่เห็นสิ่งที่ควรถือเอา กิจที่ควรทำ เที่ยวไปเหมือนคนเข้าไปสู่เรือนมืด พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กำลังใจ พึงทราบได้เมื่อมีอันตรายเกิดขึ้น
ผู้ที่มีญาณ ที่มีกำลัง ความหวั่นไหวก็น้อยลง ไม่ว่าสิ่งใดๆ จะเกิดขึ้น
สำหรับประการสุดท้าย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ปัญญาพึงรู้ได้ ด้วยการสนทนา
ในอรรถกถามีข้อความว่า
ถ้อยคำของผู้มีปัญญาทรามย่อมเลื่อนลอย เหมือนวัตถุที่ลอยอยู่ในน้ำ
คือ แล้วแต่ลมหรือกระแสน้ำจะพัดพาไป กลับไปกลับมาอย่างไรก็ได้
ส่วนถ้อยคำของผู้มีปัญญาย่อมมากด้วยปฏิภาณ
เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคล โดยไม่สนทนาได้ไหม เห็นเฉยๆ รู้ได้ไหม และการที่จะรู้ได้จากการสนทนา จะต้องอาศัยกาลเวลานานด้วย ไม่ใช่เวลาเล็กน้อย และเป็นผู้ที่สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 176