ฉวิโสธนสูตร และอรรถกถา
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อรรถกถาฉวิโสธนสูตร
ฉ แปลว่า ๖ โสธน แปลว่า หมดจดบริสุทธิ์ ซึ่งมีข้อความว่า
เพราะฉะนั้น ถ้าว่าภิกษุไรๆ พึงพยากรณ์การบรรลุอุตริมนุสสธรรม ภิกษุนั้นอันใครๆ ไม่พึงสักการะ โดยเหตุเพียงเท่านี้ แต่ว่าพึงสอบสวนเพื่อความหมดจดในฐานะทั้ง ๖ เหล่านี้ว่า ท่านได้บรรลุอะไร ได้ฌาน หรือว่าได้วิโมกข์ อย่างหนึ่งอย่างใด
เป็นข้อความธรรมดา บางท่านอาจจะกล่าวว่า ไม่ได้พูดถึงญาณใดเลยด้วย ซึ่งธรรมดาท่านจะได้ยินโสฬสญาณ คือ ญาณ ๑๖ ท่านจะได้ยินชื่อของวิปัสสนาญาณชื่อต่างๆ แต่ในฉวิโสธนสูตรนี้ ไม่มีการกล่าวถึงแม้แต่ชื่อของญาณหนึ่งญาณใด แต่ว่าข้อความทั้งหมดก็เป็นเรื่องของญาณด้วย
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ฉวิโสธนสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเพิ่งยินดี อย่าเพิ่งคัดค้านคำกล่าวของภิกษุรูปนั้น ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้ มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว นี้แล
โวหาร ๔ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบ ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้
พยัญชนะที่ว่า คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว คือ ทิฏฐํ ได้ยินในอารมณ์ที่ตนได้ฟังแล้ว คือ สุตํ ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว คือ มุตํ รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว คือ วิญญาตํ
ประการต้น ท่านสอบถามกันเพียงเท่านี้ ผู้ที่ไม่เจริญสติจะยกสิ่งนี้ขึ้นถามไหม หรือจะถามว่า ได้ญาณไหน ก็คงจะสนใจแต่ในผลที่เป็นญาณ ผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะไม่สนใจในผล หรือญาณ เพราะเหตุว่าถ้าผู้ใดรู้ชัดในสภาพธรรมเหล่านี้แล้ว เป็นการทดสอบญาณความรู้ชัดของผู้นั้นว่า รู้ชัดอย่างไร ด้วยพยัญชนะเพียงเท่านี้ในขั้นต้น คือ จะถามว่า
โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้ มี ๔ ประการ
๔ ประการเป็นไฉน คือ
คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว
คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว
คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว
คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว
นี้แล โวหาร ๔ ประการอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบ ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้
โวหาร ๔ เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถามถึงเรื่องธรรมดา ไม่ได้ถามเรื่องอื่นเลย เพราะเหตุว่าความรู้ชัดต้องเป็นความรู้เรื่องนี้ ไม่ใช่ความรู้เรื่องอื่น ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดพยากรณ์ว่า ได้รู้ญาณนั้นแล้ว หรือเป็นพระอริยบุคคลขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว ท่านจะสอบถามเรื่องอารมณ์ คือ เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไหม หรือท่านเว้น ท่านข้าม ไม่สอบถามเรื่องนี้ แต่ไปสอบถามเรื่องอื่น คือ ไปตื่นเต้นเรื่องญาณมีลักษณะอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ ดังนี้ว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้เห็น มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ยิน มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ทราบ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้รู้ชัด มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ดูกร ท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้า ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้
นี่คือผู้ที่เป็นพระอรหันต์จริงๆ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดน ซึ่งเป็นเขตแดนของกิเลสอย่างหนึ่ง และเขตแดนของอารมณ์อย่างหนึ่ง เวลานี้ท่านที่ยังไหวหวั่นไปเพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ยังอยู่ในเขตแดนของกิเลส ยังไม่พ้นไปจากเขตแดนของกิเลสได้
ข้อความต่อไปมีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชมอนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้มี ๕ ประการแล ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์
ดูกร ท่านผู้มีอายุ นี้แลอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้
ตอนแรกกล่าวถึงเพียงอารมณ์ที่เห็นทางตา ที่ได้ทราบทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ควรจะถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเหตุว่าผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่รู้นิดรู้หน่อย แล้วก็ไม่ใช่รู้เพียงหยาบๆ ตื้นๆ เผินๆ แต่ความรู้ของท่านผู้นั้นเป็นความรู้จริง ซึ่งต้องเป็นความรู้ที่ละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ถามก็ซักไซ้ต่อไปอีกถึงว่า
จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้
ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้วก็ไม่รู้อุปาทานขันธ์ ๕ มีไหม รูปขันธ์เป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ ถ้าผู้ใดไม่รู้รูปขันธ์ ผู้นั้นไม่ถึงแม้นามรูปปริจเฉทญาณ การที่ผู้นั้นจะต้องเจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ เมื่อระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมก็รู้ในสภาพที่เป็นนามธรรม เมื่อระลึกรู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรมก็รู้ในความเป็นรูปธรรม จึงจะชื่อว่า เป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ถ้าผู้ใดที่เจริญสติปัฏฐาน ปัญญาเพิ่มความรู้มากขึ้น จะไม่เคลือบแคลงสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเลย ถึงแม้ว่าจะกล่าวถึงโดยลักษณะของขันธ์ ๕ ก็ไม่พ้นจากรูปธรรมและนามธรรมนั่นเอง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่า มีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในรูป และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในรูปได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งเวทนาแล้วแลว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในเวทนา และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในเวทนาได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งสัญญาแล้วแลว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในสัญญา และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในสัญญาได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งสังขารแล้วแลว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในสังขาร และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในสังขารได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งวิญญาณแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นสิ่งที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในวิญญาณ และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในวิญญาณได้
ดูกร ท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้า ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้
กล่าวถึงญาณอะไรบ้างหรือเปล่า ไม่ได้เอ่ยคำว่าญาณเลย แต่ว่าข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ
ถ้าไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม จะกล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ท่านไม่ได้เอ่ยถึงว่า เป็นญาณนั้นญาณนี้เลย ซึ่งคำของท่านและความรู้ชัดของท่านแสดงว่า ท่านประจักษ์ในลักษณะที่ไม่งาม ในลักษณะที่ไม่เที่ยง ในลักษณะที่เป็นทุกข์ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของนามและรูปนั่นเอง
สำหรับรูปขันธ์ จะต้องระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ต่อไปในขันธ์ ๕ ก็มีเวทนาขันธ์ ความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง เฉยๆ บ้าง
ขันธ์ที่ ๓ คือ สัญญาขันธ์ สภาพที่จำได้นั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เห็นแล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ที่จำได้เมื่อสักครู่นี้เองก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นสิ่งใดทางตา ความจำเกิดขึ้นรู้ทางตา แล้วก็ดับไป ได้ยินอะไรทางหู เข้าใจความหมายของสิ่งที่ได้ยินทางหู ก็เป็นความจำได้ทางหู แล้วก็ดับไป เป็นปกติในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติจะไม่รู้ลักษณะของสัญญาได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสัญญาทำให้เกิดความยึดมั่นโยงอดีตไว้กับปัจจุบัน ทำให้มีความยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ปัญญาที่เกิดพร้อมสติ ทำให้รู้ในสภาพนั้นๆ ตามความเป็นจริงว่าเป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิด
ขันธ์ที่ ๔ คือ สังขารขันธ์ ความยินดี ความชอบใจ ไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง อยู่ในประเภทของสังขารขันธ์ สภาพรู้ทางตาก็เพียงรู้ทางตา ยังไม่มีความพอใจไม่พอใจใดๆ เกิดพร้อมกับขณะที่กำลังเห็น แต่ว่าเมื่อเห็นแล้วเกิดความชอบใจ ลักษณะที่ปรุงแต่งให้จิตจากการเห็นมาเป็นสภาพที่พอใจในสิ่งที่เห็น นั่นเป็นลักษณะของสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง
ขันธ์ที่ ๕ ขันธ์สุดท้าย คือ วิญญาณขันธ์ กำลังเห็นขณะนี้เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นสภาพรู้ทางตา กำลังได้ยินก็เป็นสภาพรู้ทางหู ผู้เจริญสติไม่รู้ลักษณะของวิญญาณขันธ์ได้ไหม
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชมอนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ธาตุอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้มี ๖ ประการ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ
ดูกร ท่านผู้มีอายุ นี้แลธาตุ ๖ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้
ถามถึงธาตุ ๖ ไม่ต้องถามถึงญาณ ถามถึงธาตุ ๖ นี้ จะทราบได้ว่า ท่านผู้นั้นรู้จริง หรือว่ารู้ไม่จริง
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 163
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์แล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ ดังนี้ว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าครองปฐวีธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยปฐวีธาตุเลย จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยปฐวีธาตุ และ อนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยปฐวีธาตุได้
ข้าพเจ้าครองอาโปธาตุโดยความเป็นอนัตตา เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยอาโปธาตุ และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยอาโปธาตุได้
ข้าพเจ้าครองเตโชธาตุโดยความเป็นอนัตตา เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยเตโชธาตุ และอนุสัย คือ ความตั้งใจ และความปักใจมั่นอาศัยเตโชธาตุได้
ข้าพเจ้าครองวาโยธาตุโดยความเป็นอนัตตา เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวาโยธาตุ และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยวาโยธาตุได้
ข้าพเจ้าครองอากาสธาตุโดยความเป็นอนัตตา เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยอากาสธาตุ และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยอากาสธาตุได้
ข้าพเจ้าครองวิญญาณธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัย วิญญาณธาตุเลย จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวิญญาณธาตุ และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยวิญญาณธาตุได้
ดูกร ท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้า ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้
ผู้ฟัง กระผมได้มีโอกาสสนทนากับท่านผู้หนึ่งบอกว่า เจริญสติปัฏฐานได้ผล ท่านบอกว่า ท่านเจริญโดยวิธีรู้รูป รู้นามตามทวารทั้ง ๖ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง คือ ทางตา ทางหู ท่านให้กำหนดที่นาม เพราะสักกายทิฏฐิอยู่ที่นี่
ผมก็เรียนถามท่านต่อไปว่า การกำหนดกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ ในฐานะของอิริยาบถควรจะกำหนดอย่างไร ท่านบอกว่ากำหนดโดยวิธีรู้รูป เป็นรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน รูปนอน คือ สำหรับผู้มีปัญญาน้อยก็ต้องรู้อย่างนี้ไปก่อน ต้องรู้ให้ชินเสียก่อน
ถามถึงเสียงว่ารู้อย่างไร ท่านบอกว่า กำหนดที่เสียง รู้ที่เสียงเรื่อยไป รู้ว่าเป็นเสียงอย่างเดียว ไม่ต้องรู้ว่าเป็นเสียงอะไรทั้งนั้น ส่วนรูปท่านก็บอกว่า ผู้มีปัญญาอ่อนต้องรู้ทั้งแท่งก่อน
ถามถึงที่ท่านบอกว่า ท่านรู้แล้ว ท่านได้ผล ได้ผลอย่างไร ท่านก็บอกว่า ก็รู้รูปรู้นามตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และท่านก็กล่าวว่า นี่แหละเป็นญาณ
อีกคนหนึ่ง ที่เคยเล่าไปแล้ว ท่านบอกว่า รูปนาม คือ รูปยืน เดิน นั่ง นอน อะไรๆ ต่างๆ เหล่านี้ ท่านก็กำหนดไปตลอดเวลา ๖ วันนั้น ท่านบอกว่าเป็นสมาธิทั้งหมดเลย จนกระทั่งวันที่ ๗ ท่านระลึกได้ว่า ไม่ถูก ใช้ไม่ได้ ท่านก็กำหนดที่จิต แต่กำหนดที่จิตนี้กำหนดอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าอึดอัดเหลือเกิน ผมก็บอกว่าเป็นเวทนา ทำไมท่านไม่รู้ ท่านบอกว่าตอนนั้นไม่รู้ พออึดอัดๆ แล้วก็ล้มลง ตอนล้มลงดูเสมือนๅว่า จิตมิได้สั่งให้รูปทรงอยู่เสียแล้ว รูปจึงล้มลงไปเพราะมัวกำหนดที่จิตอยู่
ท่านอาจารย์ จะเห็นได้ว่า การปฏิบัตินั้น เหตุกับผลต้องตรงกัน ถ้าเหตุเป็นอย่างนี้ ผลก็คือ ไม่ได้มีความรู้อะไร เพราะว่าข้อปฏิบัติไม่ใช่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
สำหรับผู้ที่ดูรูปทั้งแท่ง เป็นท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน มีโอกาสจะรู้ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ และอากาสธาตุไหม เวลาที่ธาตุลม ที่ตึงหรือไหวไป ที่กำลังปรากฏที่ส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม เป็นทั้งแท่งหรือเปล่า เวลาที่ไหวกำลังปรากฏ ก็ปรากฏหลายๆ กลาป แต่ว่าลักษณะไหวเท่านั้น เวลาที่อ่อนกำลังปรากฏ ก็หลายๆ กลาป แต่ว่าลักษณะอ่อนเท่านั้น ผู้ที่รู้ชัดยิ่งขึ้นตามความเป็นจริงจะไม่มีความสงสัยในอรรถที่ได้ทรงแสดงไว้เลย เป็นเรื่องปกติธรรมดาจริง แต่ว่าอารมณ์นั้นลึกซึ้ง อารมณ์นั้นละเอียด ซึ่งท่านที่ประจักษ์ลักษณะของอารมณ์ถูกต้องตามความเป็นจริง ท่านก็เข้าใจได้ในความลึกซึ้งของอารมณ์นั้น
ที่บอกว่ากำลังนั่ง แต่ไม่ให้รู้อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหว ท่านก็ปฏิเสธพระไตรปิฎก จะไปรู้ทั้งแท่งรวมกัน ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้อากาสธาตุหรือความเป็นกลาป กลุ่มของรูปหลายๆ กลุ่มที่ปรากฏรวมกันอย่างละเอียด
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ก็อายตนะภายใน อายตนะภายนอก อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้ มีอย่างละ ๖ แล อย่างละ ๖ เป็นไฉน คือ จักษุและรูป โสตและเสียง ฆานและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธัมมารมณ์
ดูกร ท่านผู้มีอายุ นี้แล อายตนะภายใน อายตนะภายนอก อย่างละ ๖ อัน พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายใน ทั้งภายนอก อย่างละ ๖ เหล่านี้
ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่รู้อายตนะได้ไหม จะให้ไม่รู้นั่น จะไม่ให้รู้นี่ ให้เว้น ให้ข้าม เสียงไม่ให้รู้ สีไม่ให้รู้ ทางตาให้รู้เห็น ทางหูให้รู้ได้ยิน พอถึงทางจมูกไม่ให้รู้ได้กลิ่น แต่ให้รู้กลิ่น ไม่ให้รู้สภาพที่รู้รส แต่ให้รู้รส ทางกายก็ไม่ให้รู้สภาพที่กำลังรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว นั่นเป็นเรื่องไม่ให้รู้ ในพระไตรปิฎกไม่มีเรื่องไม่ให้รู้ มีแต่เรื่องเจริญสติ เจริญปัญญาเพื่อความรู้ชัด แล้วละความไม่รู้ให้หมด ละความสงสัย เคลือบแคลงในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะฉะนั้น ผู้ใดจะเจริญสติ ไม่ต้องกลัวที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปให้ถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ชัด ไม่ใช่ว่าข้ามไป ไม่ให้รู้นั่น ไม่ให้รู้นี่
จากธาตุมาถึงอายตนะ อายตนะเป็นธัมมานุปัสสนา ไม่ให้เจริญ ไม่ให้ระลึกรู้ ไม่ได้ เพราะการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่า มีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ ดังนี้ว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในจักษุ ในรูป ในจักษุวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัย คือ ความตั้งใจและความปักใจมั่นในโสตะ ในเสียง ในโสตวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ
ข้อความต่อไปเป็นทวารอื่น โดยนัยเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องไม่รู้ เรื่องรู้ทั้งนั้น ข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า
ก็เมื่อท่านผู้มีอายุรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงถอนอนุสัย คือ ความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหมดในภายนอกได้ด้วยดี
การที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นเรื่องของการไม่ครองเรือน เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุรูปนั้นได้รับคำถามถึงการถอนอนุสัย คือ ความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ภิกษุรูปนั้นก็กล่าวตอบว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโยชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ ดังนี้ว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นผู้ครองเรือน ยังเป็นผู้ไม่รู้ พระตถาคตบ้าง สาวกของพระตถาคตบ้าง แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าฟังธรรมนั้นแล้ว จึงได้ความเชื่อในพระตถาคต ข้าพเจ้าประกอบได้ความเชื่อโดยเฉพาะนั้น จึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง เรายังอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่เขาขัดแล้วนี้ มิใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด
นี่สำหรับผู้ที่มีอัธยาศัยสะสมอบรมบารมีที่จะเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ละอาคารบ้านเรือนเป็นเพศบรรพชิต เมื่อท่านบวชเป็นผู้ที่ทรงศีล ท่านกล่าวว่า
ข้าพเจ้าได้เป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย และบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปที่ใดๆ ย่อมถือเอาบริขารไปได้หมด เหมือนนกมีปีกจะบินไปที่ใดๆ ย่อมมีภาระคือปีกของตนเท่านั้นบินไป ซึ่งเมื่อท่านบวชแล้ว ประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้แล้ว ท่านก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อสำรวม จักขุนทรีย์ มีการเห็นรูป เป็นต้น ได้เป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ ในเวลาแลดู และเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยวและลิ้ม ในเวลาถ่ายอุจาระและปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอน หลับ ตื่น พูด และนิ่ง
เจริญสติทุกๆ ขณะที่จะเป็นไปได้ ไม่เว้น อย่างเวลาที่ประกอบกิจการงาน ในพระวินัยปิฎกจะไม่พ้นไปจากการประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะ ในขณะที่ก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู งอแขน เหยียดแขน เป็นเรื่องของการประกอบกิจการงานในชีวิตประจำวัน
เมื่อท่านบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ประกอบด้วยศีลของบรรพชิต ประกอบด้วยอินทรียสังวรแล้ว ข้อความต่อไปมีว่า
ก็ข้าพเจ้าประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้ ประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะเช่นนี้ และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึงได้พอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง
ท่านจะเห็นการเจริญขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ได้ฟังธรรม มีอัธยาศัยในการออก บรรพชา อุปสมบทเป็นบรรพชิต ประกอบด้วยศีลของบรรพชิต ประกอบอินทรียสังวร มีการเจริญสติปัฏฐาน แล้วจึงมีความยินดีในเสนาสนะที่สงัด
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 164
ข้อความต่อไปมีว่า
ข้าพเจ้ากลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า
ละอภิชฌาในโลกได้แล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา
ละความชั่ว คือ พยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่ว คือ พยาบาท
ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ
ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัยได้ ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
ต่อจากนั้นเข้าฌาน ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จนถึงจตุตถฌาน
ถ้าท่านผู้ใดพบพยัญชนะที่เกี่ยวกับเสนาสนะป่า หรือซอกเขา โคนไม้ ป่าช้า ป่าชัฏ ลอมฟาง ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่เจริญความสงบแล้วก็ได้ฌาน ไม่ใช่ว่าท่านสับสนกันในการเจริญสติปัฏฐานและในการเจริญสมถภาวนา เพราะก่อนที่ท่านจะยินดีในเสนาสนะอันสงัด ท่านเป็นผู้ที่ประกอบด้วยอินทรียสังวร คือ การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ และได้ฌานด้วย
ข้อความต่อไปมีว่า
ข้าพเจ้าเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว จึงได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ข้าพเจ้าได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะ
บางท่านยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติ เช่น บางท่านคิดว่าขณะที่กำลังเข้าใจความหมาย เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ จะต้องกั้นอยู่เพียงแค่เห็น ไม่ให้รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูก เพราะการรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการที่สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 165