อสัมปทานชาดก เมื่อมีผู้ให้ ก็ต้องมีผู้รับ


    เมื่อมีผู้ให้ ก็ต้องมีผู้รับ ถ้าขาดการให้การรับ ก็คงจะเป็นมิตรกันยาก ซึ่งการให้ก็มีหลายประการ ไม่ใช่ให้แต่วัตถุสิ่งของเท่านั้น สำหรับการรับก็เช่นเดียวกัน บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า การที่ท่านไม่รับของของใครเลยนั้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    เคยเป็นผู้คิดที่จะไม่รับของของใครเลยบ้างไหม ดูเหมือนว่าเป็นกุศล แต่ในโลกนี้จะมีการให้ได้อย่างไรถ้าไม่มีการรับ และเมื่อคนหนึ่งคิดเสียแล้วว่าจะไม่รับ คนอื่นจะให้ได้ไหม ก็ให้ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการรับ ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดคิดที่จะไม่รับของของใครเลย ในขณะนั้นขอให้พิจารณาสภาพของจิตใจว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะอะไรจึงไม่รับ มีความสำคัญตนหรือไม่ในขณะที่ไม่รับ หรือเป็นไปด้วยความเมตตากรุณาในบุคคลอื่น ไม่อยากให้เดือดร้อน ซึ่งคนที่เดือดร้อนก็คงจะไม่ให้ แต่จะเป็นฝ่ายรับ เพราะฉะนั้น คนที่จะให้ก็คงไม่เดือดร้อนจึงให้ได้ แต่ขณะที่ท่านไม่พร้อมที่จะรับอะไรของใครเลย ในขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล

    เรื่องของอกุศล ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะขัดเกลาออกได้ เพราะไม่เห็นว่าเป็นอกุศล แต่สภาพของความถือตน สำคัญตน หรือความเป็นผู้ที่มีมานะจะรู้ได้อย่างไรถ้าสติไม่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่า สภาพของจิตเป็นเพราะอะไรที่ทำให้ไม่รับ ซึ่งถ้ารับก็จะเป็นปัจจัยให้ผูกไมตรีซึ่งกัน และกันได้ เพราะฉะนั้น ควรจะรับไหม ทำให้คนอื่นสบายใจด้วยในการที่รับของๆ เขา ที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับท่าน มีความเป็นเพื่อนต่อกัน เพราะเป็นผู้ที่มีตนเสมอกัน คือ รับบ้าง ให้บ้าง ตามควรแก่โอกาส ไม่ใช่ว่าเป็นผู้สูงกว่าเสมอ โดยการเป็นเพียงแต่ผู้ให้ แต่ไม่ใช่ผู้รับ

    ใน อสัมปทานชาดก เอกนิบาต แสดงถึงเรื่องที่ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า เล็กน้อย แต่ถ้าท่านพิจารณาเนื้อความแม้ว่าเป็นธรรมเล็กน้อย ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการที่จะศึกษารู้ลักษณะของสภาพจิตของท่านเองว่า ควรที่จะขัดเกลาอย่างไร

    เรื่องมีว่า

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคเสวยพระชาติเป็นสังขเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในสมัยนั้น ท่านพระเทวทัตเกิดเป็นปิลิยเศรษฐี ในกรุงพาราณสี มีสมบัติ ๘๐ โกฏิเหมือนกัน เศรษฐีทั้งสองนั้นเป็นสหายทั้งที่ไม่เคยเห็นกันเลย ต่อมาภายหลังมีภัยใหญ่เกิดขึ้นกับปิลิยเศรษฐี ท่านเกิดยากจน ปิลิยเศรษฐีก็ได้พาภรรยาไปหาสังขเศรษฐี ซึ่งสังขเศรษฐีก็ได้ต้อนรับด้วยความยินดี ให้ที่กินที่อยู่ ที่พักอาศัยเป็นที่สบายทุกอย่าง พอล่วงไปได้ ๓ วัน ท่านสังขเศรษฐีก็ได้ถามท่าน ปิลิยเศรษฐีว่า การที่มานี้ด้วยประสงค์อะไร ปิลิยเศรษฐีก็ได้บอกว่า จะมาขอพึ่ง เพราะเหตุว่าทรัพย์สมบัติของตนพินาศหมดแล้ว สังขเศรษฐีก็เต็มใจมอบทรัพย์ให้ ๔๐ โกฏิ พร้อมทั้งสมบัติอื่นๆ และผู้คนบริวารเป็นอันมาก ปิลิยเศรษฐีก็ได้กลับไปอยู่ที่กรุงพาราณสี และก็ได้ตั้งตัวได้ เป็นมหาเศรษฐีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

    ต่อมาอีกนาน ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้สังขเศรษฐีนี้ยากจนลง ท่านก็คิดว่า ปิลิยเศรษฐีคงจะช่วยเหลือท่านบ้าง คงจะไม่ทิ้งท่าน เพราะเหตุว่าท่านได้เคยอุปการะปิลิยเศรษฐีไว้มาก ท่านก็ได้พาภรรยาไปที่กรุงพาราณสี แต่ว่าได้ให้ภรรยาพักรออยู่ที่ศาลานอกกรุงก่อน และท่านก็ได้ไปหาปิลิยเศรษฐี แต่ว่าปิลิยเศรษฐีไม่ต้อนรับปราศรัยท่าน ถามเพียงคำเดียวว่า มาเพื่อประสงค์อะไร ซึ่งสังขเศรษฐีก็ได้ตอบว่า มาเยี่ยม ปิลิยเศรษฐีก็ถามว่า พักที่ไหน สังขเศรษฐีก็ตอบว่า ยังไม่มีที่พัก ปิลิยเศรษฐีก็บอกเลยว่า ไม่มีที่จะให้พัก และได้ให้ผู้คนจัดข้าวสาร ๔ ทะนาน เป็นเสบียงให้ไปหุงต้มกินเอง และก็เชิญไปที่อื่น อย่าได้กลับมาหาอีก

    ซึ่งความจริงในวันนั้น ปิลิยเศรษฐีมีข้าวสาลีขึ้นฉางถึงพันเกวียน ไม่ควรที่จะให้ข้าวสารแก่เพื่อนเพียง ๔ ทะนานเท่านั้น เมื่อบ่าวไพร่คนนั้นได้นำข้าวสาร ๔ ทะนานไปห่อชายผ้าให้สังขเศรษฐี ก็ได้กระซิบบอกสังขเศรษฐีว่า สหายของท่านเป็นคนอกตัญญูเสียแล้ว

    ฝ่ายสังขเศรษฐีจึงคิดว่า เราควรจะรับข้าวสาร ๔ ทะนานนี้หรือไม่ ครั้งคิดอย่างนี้แล้ว ก็คิดต่อไปว่า ถ้าเราไม่รับข้าวสาร ๔ ทะนาน ก็ได้ชื่อว่า เราทำลายความเป็นมิตรก่อนเขา คนโง่เขลาทั้งหลายย่อมเสียความเป็นมิตรกัน เพราะไม่รับของเล็กน้อยที่มิตรให้ คิดแล้วก็รับข้าวสาร ๔ ทะนานไป แล้วได้กลับไปหาภรรยา

    ซึ่งภรรยาก็เสียใจร้องไห้เมื่อได้ทราบเรื่อง แล้วกล่าวว่า รับข้าวสาร ๔ ทะนานนี้มาทำไม ข้าวสาร ๔ ทะนานนี้ จะสมกับเงิน ๔๐ โกฏิของเราแล้วหรือ สังขเศรษฐีก็ได้ปลอบว่า ที่รับข้าวสาร ๔ ทะนานนี้มา ก็เพื่อที่จะรักษาความเป็นมิตรของฝ่ายเราไว้ ด้วยคิดว่า ความเป็นมิตรของคนไม่มีปัญญาย่อมเสียไป เพราะไม่รับของเล็กน้อย

    บ่าวไพร่ของสังขเศรษฐีที่สังขเศรษฐีให้กับปิลิยเศรษฐีไป ได้ทราบข่าว ก็ได้รับสังขเศรษฐีไปพักที่บ้าน ปรนนิบัติรับใช้ด้วยข้าวปลาอาหารที่ประณีต แล้วได้พากันไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสีตรัสให้เศรษฐีทั้งสองไปเฝ้า ทรงซักถาม เมื่อทรงทราบแล้ว ก็ได้ถอดปิลิยเศรษฐีออกจากตำแหน่ง ให้ริบทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่สังขเศรษฐี ซึ่งสังขเศรษฐีก็รับเฉพาะเงิน ๔๐ โกฏิ กับบ่าวไพร่ซึ่งเป็นของตนเท่านั้น นอกนั้นก็คืนให้กับปิลิยเศรษฐี แล้วท่านก็ได้กลับไปตั้งตัว เป็นเศรษฐีที่กรุงราชคฤห์จนสิ้นอายุ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ต้องมีความอดทนเพียงไรสำหรับสังขเศรษฐีที่จะรับข้าวสาร ๔ ทะนานแทนเงิน ๔๐ โกฏิ แต่เป็นกุศลจิตที่คิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะเห็นได้ว่า บางท่านมีเพื่อนน้อย บางท่านมีเพื่อนมาก เพราะอะไร เพราะ กุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าเห็นความสำคัญของเพื่อน เพราะว่าท่านมีจิตใจดี ท่านก็มีมิตรสหายมาก แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่เอาเปรียบ หรือว่ามีการถือตัว ไม่ทำตัวเสมอกับเพื่อนฝูง ขาดความเมตตา ท่านก็จะมีเพื่อนน้อย เพราะว่าท่านขาดไมตรี ขาดความอดทน และประกอบด้วยมานะที่ไม่กระทำตนเสมอกับบุคคลอื่นด้วย

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 659


    หมายเลข 12926
    15 เม.ย. 2567