อัสสกชาดก เกิดเป็นหนอน


    ทุกคนจะเกิดเป็นดิรัจฉานอีกก็ได้ ใช่ไหม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ว่าใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โอรสของพระเจ้าแผ่นดิน สมณพราหมณ์ เจ้าอาวาส ก็สามารถเกิดในอบายภูมิเมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม

    เวลาที่ผู้เป็นที่รัก ที่เคารพนับถือ เช่น มารดาบิดา หรือว่าสามีภรรยา บุตร ตายจากไป เป็นของธรรมดาที่ทุกคนย่อมเศร้าโศกเสียใจถึงผู้เป็นที่รัก ซึ่งผู้ที่จากไปนั้นอาจจะไปเกิดในกำเนิดหนึ่งกำเนิดใด ภพหนึ่งภพใด ภูมิหนึ่งภูมิใด เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใด แม้เป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ได้

    อรรถกถา ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก อัสสกชาดก ข้อ ๒๖๓ – ๒๖๔ มีข้อความว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น ทรงปรารภพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นทุกข์มากเพราะคิดถึงผู้ที่เคยเป็นภรรยาก่อนบวช พระองค์จึงได้ทรงโอวาทภิกษุนั้น โดยตรัสเล่าอดีตชาติของภิกษุรูปนั้นว่า

    ในอดีตกาล ภิกษุรูปนั้นเป็นพระราชาพระนามว่า อัสสกะ ครองราชสมบัติอยู่ในนครปาฏลิ แคว้นกาสี ทรงมีอัครมเหสีพระนามว่า อุพพรี ซึ่งมีพระรูปโฉมงดงามน่าดู มีพระฉวีเหนือมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงวรรณะทิพย์ เมื่อพระนางอุพพรีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอัสสกะทรงเป็นทุกข์โทมนัสยิ่งนัก รับสั่งให้เชิญพระศพของพระนางอุพพรีลงในราง แล้วใส่น้ำมันหล่อไว้ ยกไปตั้งไว้ใกล้พระแท่นไสยาสน์ ทรงอดพระกระยาหารกันแสงคร่ำครวญ พระราชมารดา พระราชบิดา หมู่พระญาติ มิตรอำมาตย์ พราหมณ์ คหบดี เป็นต้น พากันทูลปลอบโยนเป็นต้นว่า อย่าทรงเศร้าโศกไปเลย มหาราช สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง แต่ไม่สามารถทำให้พระองค์คลายความเศร้าโศกได้ พระองค์ทรงคร่ำครวญรำพันอยู่อย่างนั้นล่วงไป ๗ วัน

    ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ (คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้) เป็นดาบส ในครั้นนั้นพระองค์เป็นดาบสสำเร็จอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ อยู่ที่หิมพานต์ เมื่อเจริญอาโลกกสิณตรวจดูโลกด้วยทิพยจักษุ ก็เห็นพระราชาทรงเศร้าโศกอย่างยิ่ง ก็คิดอนุเคราะห์ จึงได้เหาะไปในพระราชอุทยาน และนั่งในพระราชอุทยาน

    มาณพผู้หนึ่งไปที่พระราชอุทยานนั้น เห็นพระโพธิสัตว์ ก็ขอให้พระโพธิสัตว์ช่วยพระราชาให้พ้นจากความทุกข์ด้วย

    พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า เราไม่รู้จักพระราชา แต่ถ้าพระราชาเสด็จมาถาม เรานี่แหละจะทูลบอกที่ที่พระมเหสีไปเกิด จะให้พระนางตรัสสนทนากับพระราชาทีเดียว

    มาณพนั้นก็ได้ขอให้พระโพธิสัตว์นั่งรอ และได้ไปกราบทูลพระราชา เชิญเสด็จไปที่พระราชอุทยานที่พระโพธิสัตว์ผู้มีจักขุทิพย์รออยู่

    พระราชาทรงดีพระทัยที่จะได้ทรงเห็นพระนางอุพพรี จึงได้เสด็จไปที่ พระราชอุทยาน ไหว้พระโพธิสัตว์ แล้วประทับนั่ง ณ ส่วนหนึ่งถามว่า

    ได้ยินว่าท่านรู้ที่เกิดของพระนางอุพพรีจริงหรือ

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า จริง

    พระราชาตรัสถามว่า เกิดที่ไหน

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระนางทรงมัวเมาในรูป อาศัยความเมา ไม่ทรงทำกรรมดี จึงไปเกิดในกำเนิดหนอนมูลโค

    พระราชาตรัสว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อ

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า ถ้าเช่นนั้นอาตมาจะแสดงพระนางแก่พระองค์ แล้วให้พูด

    พระโพธิสัตว์ได้ทำให้หนอนสองตัวออกจากก้อนโคมัยด้วยอานุภาพของตน โดยอธิษฐานว่า ขอให้หนอนสองตัวจงชำแรกก้อนโคมัยออกมาเบื้องพระพักตร์พระราชา หนอนสองตัวก็ออกมาตามนั้น

    พระโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงหนอนที่เคยเป็นพระนางอุพพรี จึงทูลว่า

    ข้าแต่มหาราช พระเทวีอุพพรีนี้จากพระองค์ไป แล้ว เดินตามหลังหนอนโคมัยมา ขอพระองค์จงทอดพระเนตรเถิด

    พระราชาตรัสว่า

    พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าสัตว์ที่เกิดในกำเนิดหนอนโคมัยเป็นพระนางอุพพรี

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    มหาบพิตร อาตมาภาพจะให้หนอนนั้นพูด

    พระโพธิสัตว์เมื่อจะให้หนอนพูดด้วยอานุภาพของตน จึงเรียกว่า แน่ะนางอุพพรี

    นางหนอนพูดว่า อะไรเจ้าคะ

    พระโพธิสัตว์ถามว่า ในอัตภาพที่ล่วง แล้วท่านเป็นอะไร

    นางหนอนตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นมเหสีของพระเจ้าอัสสกะ ชื่ออุพพรีเจ้าคะ

    พระโพธิสัตว์ถามว่า ก็เดี๋ยวนี้พระราชาอัสสกะยังเป็นที่รักของเจ้า หรือว่าหนอนโคมัยเป็นที่รักของเจ้า

    นางหนอนตอบว่า

    ท่านเจ้าขา พระราชาเป็นพระสวามีของข้าพเจ้าในชาติก่อน ครั้งนั้นข้าพเจ้าเที่ยวชื่นชมรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะกับพระราชานั้นในอุทยานนี้ แต่เดี๋ยวนี้ตั้งแต่ข้าพเจ้าไปต่างภพกัน แล้ว พระราชาอัสสกะจะเป็นอะไรกับข้าพเจ้าเล่า

    แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในท่ามกลางบริษัทว่า

    ประเทศนี้ เราผู้มีความจงรัก ได้เที่ยวเล่นอยู่กับพระเจ้าอัสสกะผู้เป็นพระสวามีที่รัก ความสุข และความทุกข์เก่าถูกความสุข และความทุกข์ใหม่ปกปิดไว้ เพราะฉะนั้น หนอนจึงเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าพระเจ้าอัสสกะอีก

    พระเจ้าอัสสกะได้สดับดังนั้น แล้ว ทรงแค้นพระทัย รับสั่งให้ย้ายพระศพ พระนางอุพพรีออกไป ทรงสรงสนานพระเศียร แล้วไหว้พระโพธิสัตว์ เสด็จเข้า พระนคร ทรงอภิเษกสตรีอื่นเป็นอัครมเหสี ทรงครองราชย์สมบัติโดยธรรม

    ฝ่ายพระโพธิสัตว์ถวายโอวาทพระราชาให้ทรงหายโศก แล้ว ก็ได้กลับไปยังป่าหิมพานต์

    พระผู้มีพระภาคทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ทรงประชุมชาดก เมื่อจบสัจธรรม ภิกษุผู้เป็นทุกข์เพราะคิดถึงผู้ที่เคยเป็นภรรยาได้บรรลุโสดาปัตติผล ภิกษุผู้เป็นทุกข์เพราะคิดถึงภรรยานั้นเป็นพระเจ้าอัสสกะในครั้งนั้น พระนางอุพพรี และหนอนในครั้งนั้นได้เป็นผู้ที่เป็นภรรยา (ของภิกษุนั้น) ในครั้งนี้ มาณพได้เป็นพระสารีบุตร ส่วนพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นดาบสในครั้งนั้น คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้

    ผู้ฟัง ตอนที่ประชุมชาดก พระองค์ทรงประกาศสัจธรรม ผู้ที่ฟังชาดกก็ สำเร็จมรรคผล การสำเร็จมรรคผลของผู้ที่ฟังชาดกนี้ ท่านสำเร็จด้วยเข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์ตอนไหนไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ พระภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่แม้กระนั้นก็ยังมีความทุกข์เกิดขึ้นได้ถ้ายังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เช่น พระภิกษุรูปนี้ ยังเป็นทุกข์อย่างใหญ่หลวง เมื่อคิดถึงผู้ที่เคยเป็นภรรยา

    นี่เป็นชีวิตจริงๆ เพราะว่าท่านยังมีกิเลสอยู่ แต่เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรม เจริญสติปัฏฐาน และได้ฟังเรื่องในอดีตชาติ ซึ่งเคยเป็นทุกข์มา แล้วครั้งหนึ่งจากการที่เป็นพระเจ้าอัสสกะ และมีความเศร้าโศกเมื่อคิดถึงพระนางอุพพรี ซึ่งพระนางอุพพรี ก็ไปเกิดเป็นหนอน และรักหนอนมากกว่าตนเองซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

    แสดงให้เห็นว่า การเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพียงชั่วขณะสั้นๆ จริงๆ และเมื่อบุคคลนั้นตาย แล้ว ก็จบจริงๆ จะไม่ย้อนกลับไปเป็นบุคคลนั้นอีก

    ในขณะที่ฟังพระธรรมเทศนา ได้รู้ความเป็นมาในอดีตชาติ เห็นความไม่มีสาระ และระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เมื่อปัญญาสมบูรณ์ถึง ขั้นที่จะประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรม โลกุตตรจิตก็เกิดได้ ในขณะไหนก็ได้

    ผู้ฟัง หมายความว่า พระภิกษุที่ฟังพระธรรมเทศนานั้น ท่านไม่ได้สงสัยว่า ทางตาอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม คือ ท่านไม่ได้สงสัยในสัจธรรม

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล ต้องเป็นพหุสูต คือ ฟังมาก ไม่ใช่เฉพาะชาติเดียวที่จะได้เป็นพระสาวก และต้องบำเพ็ญบารมีมา เพียงแต่ไม่เท่าการบำเพ็ญบารมีของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อได้บำเพ็ญบารมีมา และได้ฟังพระธรรม สิ่งที่ได้เคยอบรมเจริญมา แล้ว เช่น สติปัฏฐาน อย่างท่านพระสารีบุตรเป็นต้น เพียงได้ฟังพระธรรมสั้นๆ ที่ท่านพระอัสสชิกล่าว ก็สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ซึ่งใครก็ตามที่ได้ฟังคำเดียวกับที่ท่านพระอัสสชิกล่าวกับท่านพระสารีบุตร แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย ก็เพราะว่าไม่ได้อบรมเจริญปัญญา และสติปัฏฐานมาพอที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ฉะนั้น จึงต้องฟังอีกมาก และพิจารณาอีกมาก

    ผู้ที่ได้อบรมมา แล้ว และได้บวช และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่เมื่อกิเลสมีกำลังเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น ซึ่งสติสามารถระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมในขณะนั้น ไม่มีความสงสัย

    ผู้ฟัง ในขณะที่ท่านฟัง หมายความว่าท่านต้องเจริญสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังในขณะนี้กำลังฟัง สติระลึกได้ เป็นผู้ที่มีปกติที่สติจะเกิดขึ้นระลึกลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

    ทุกคนที่เป็นพุทธบริษัทที่น้อมประพฤติปฏิบัติธรรม จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าในกาลไหนๆ แต่สำหรับพระภิกษุรูปนี้ เมื่อได้ฟังเรื่องนี้ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นปกติในขณะที่กำลังฟัง ถ้าใครจะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมในขณะนี้ก็ได้ ถ้าอบรมบารมีมาพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เหมือนในครั้งที่พระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเชตวัน และทรงแสดงชาดกนี้ นี่คือชาดกที่ตรัสด้วยพระองค์เองที่พระวิหารเชตวันแก่พระภิกษุรูปนั้น

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1430

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1431


    หมายเลข 12915
    15 เม.ย. 2567